|

ศึกษา 4 SMEs นำร่อง สร้างเกณฑ์รับรางวัล TQA
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการ TQA for SMEs สถาบันเพิ่มผลผลิตไม่กล้าใช้กติกาเดียวกับเกณฑ์วัดองค์กรทั่วไป หวั่นมาตรฐานสูงเกิน ผู้ประกอบการไปไม่ถึงดวงดาว กำลังศึกษา 4 ธุรกิจ ก่อนยื่นคณะกรรมการสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้
ธวัชชัย ตั้งสง่า รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เผยถึงความคืบหน้าโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ TQA for SMEs ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อยกระดับศักยภาพ จุดแข็ง และโอกาสในการปรับปรุงขององค์กร SMEs โดยใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในการตรวจประเมินว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา 4 องค์กรนำร่อง
แบ่งเป็นภาคการผลิต 2 องค์กร ได้แก่ 1. บริษัท เอ็มบีพี เลเธอร์ อินดัสทรีย์ จำกัด โรงงานผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำนักงาน ภาชนะ และเครื่องประดับของเล่น ที่ทำจากหนังสัตว์แท้ หนังเทียม พลาสติก และพีวีซีทุกชนิด เคยได้รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการบริการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2546 และ 2. บริษัท วาย เอส เอส (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตโช๊คอัพรถมอเตอร์ไซค์
และ 2 องค์กรภาคบริการ ได้แก่ 1. บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด ผู้ให้บริการประกันอัคคีภัย รถยนต์ (ภาคบังคับ) ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และเบ็ดเตล็ด 2. บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ บริการ จำกัด ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์
ทั้งนี้ กระบวนการศึกษาดังกล่าว เริ่มจากการจัดฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์รับรางวัล TQA แก่ทีมผู้บริหาร พร้อมกับศึกษาระบบบริหารจัดการ เพื่อจัดทำรายงานวิธีการ และผลการดำเนินงานของ SMEs นำร่องตามรูปแบบที่ใช้ในการสมัครขอรับรางวัล TQA ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาปลายเดือนมิถุนายนนี้
จากนั้นจะเข้าตรวจประเมินด้วยกระบวนการเทียบเคียงกับรางวัล TQA โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจประเมิน จำนวน 3 ท่านต่อ 1 องค์กร และจะประเมินให้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. Independent Review 40-60 ชั่วโมง ที่ผู้ตรวจประเมินแยกตรวจ และรายงานผล 2. Consensus Review 1-2 วัน ที่ผู้ตรวจประเมินจะต้องหาข้อสรุปเพื่อให้คะแนนแก่ SMEs นำร่องร่วมกัน และ 3. Site Visit Assessment 1-2 วัน ที่ผู้ตรวจประเมิน ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการ และจะสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่ SMEs จะดำเนินการเพื่อตอบข้อกำหนดต่างๆ ของเกณฑ์รางวัล TQA ด้วย
หลังจากนั้นจึงเสนอผลการตรวจประเมินต่อคณะกรรมการรางวัล TQA ต่อไป เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายในการจัดทำเกณฑ์รับรางวัล TQA for SMEs ต่อไป คาดว่าการตรวจประเมินจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคมนี้ จึงยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ารางวัล TQA for SMEs จะดำเนินการทันในช่วงปี 2549 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของสถาบันเพิ่มฯ ในการจัดตั้งรางวัล TQA ขณะนี้ ขยายไปยังกลุ่มภาคราชการโดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งได้จัดทำเกณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเกณฑ์รางวัล TQA มาพิจารณาร่วมกัน
ธวัชชัยให้ความเห็นว่า ที่เกณฑ์รางวัล TQA ของราชการเสร็จก่อน เพราะมีพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นระบบปฏิบัติที่สอดคล้องกันอยู่ ในขณะที่ SMEs ต้องศึกษาลงลึก เพื่อดูความพร้อม เพราะมีความเป็นไปได้ว่าบางเกณฑ์ของรางวัล TQA อาจไม่สอดคล้องการการดำเนินธุรกิจของ SMEs เลย
“เกณฑ์รางวัล TQA วางมาตรฐานไว้สูงมาก แต่เชื่อว่า SMEs สามารถรับรางวัลได้ เพียงแต่เกณฑ์บางอย่างอาจใช้ไม่เหมือนกัน เพราะองค์กรขนาดใหญ่กับธุรกิจ SMEs มีลักษณะการดำเนินงานแตกต่างกัน การเข้าไปศึกษาก่อน โดยเลือกจากระดับท็อปของ SMEs เพื่อให้แน่ใจว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ SMEs จะมีความรู้ ความเข้าใจสามารถปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจเพื่อขอรับรางวัลได้ จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อการพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|