|
ขึ้นดบ.กู้กระทบกำลังซื้อบ้าน
ผู้จัดการรายวัน(29 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการแบงก์แจงหลากหลายปัจจัยกดดันสภาพคล่องในระบบลด บวก กับมาตรการกระตุ้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธปท. ผลักดันให้แบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ยออมทรัพย์และดอกเบี้ยเงินกู้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ยืนยันไม่กระทบลูกค้ารายย่อยมากนัก รวมถึงการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านภายใน 1-2 ปีนี้ แต่อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อลง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังแบ่งรับแบ่งสู้
จากการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเงินออมภาคประชาชน โดยจะนำเสนอ 2 มาตรการให้กระทรวงการคลังพิจารณาในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดแรกวันนี้ (29 ส.ค.) ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยมาตรการที่ผู้ว่าการ ธปท. จะนำเสนอเพื่อกระตุ้นเงินออมประกอบด้วย การออกพันธบัตรออมทรัพย์ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทางการต้องการดูดซับสภาพคล่องให้หายไปจากระบบ เพื่อให้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ขยับขึ้น หลังจากที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้นและระยะยาวเริ่มขยับขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบขยับตามไปด้วย
นายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเริ่ม จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ระยะยาวก่อน เพื่อระดมเงินฝากและเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน ในการบริหารต้นทุน และทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นๆ มากขึ้น ทั้งดอกเบี้ย เงินฝาก 3 และ 6 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เริ่มเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ จะเห็น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรืออัตราดอกเบี้ย เงินฝากประเภทออมทรัพย์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าฐานที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารพาณิชย์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะข้าง หน้านี้ เพื่อบริหารต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น อาจจะกระทบกับลูกค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านที่อาจจะต้องรับผลกระทบ จากการปรับดอกเบี้ยขึ้น โดยค่างวดของ การผ่อน ชำระในระยะ 1-2 ปียังคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จะกระทบในเรื่องของกำลังซื้อที่ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบ หรืออาจจะต้องลด ขนาดของการ ซื้อบ้านหรือวงเงินสินเชื่อที่จะขอกู้จากธนาคารพาณิชย์
ส่วนกลุ่มลูกค้าอื่นๆ เช่น ลูกค้าเอสเอ็มอี ยังไม่ถึงกับกระทบมากนัก เพราะโดยปกติการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25-1 % ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ต้นทุนเรื่องของดอกเบี้ยเป็นส่วนน้อย ดังนั้น ถึงดอกเบี้ยจะปรับขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าช่วยก่องวิกฤตเศรษฐกิจ และเชื่อราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นน่าจะเป็นผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า
ต้นทุนขยับแบงก์ต้องปรับเงินกู้
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาด ใหญ่น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หนึ่งรอบ หลังจากที่ต้นทุนสูงขึ้นจากการทยอยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารต่างประเมินว่าสภาพ คล่องในระบบจะถูกดูดซับออกไปจาก 2 ปัจจัย คือ 1. การขาดดุลการค้าต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 มีเงินทยอยไหลออกอย่างต่อเนื่อง ทำ ให้สภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ในระบบประมาณ 300,000-350,000 ล้านบาท
ปัจจัยที่ 2 การลงทุนของเอกชน และ รัฐบาล มีความต้องการเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลมีแผนที่จะออกพันธบัตรชดเชยกองทุนน้ำมัน รวมถึงพันธบัตรออมทรัพย์ต่างๆ ที่สามารถออกมาดูดสภาพคล่องได้ตลอดเวลา หากต้องการที่จะดึงอัตราดอกเบี้ยขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องหาเงินฝากและฟิกอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนที่สภาพคล่องจะหายไป
ยันผ่อนบ้านค่างวดยังคงเดิม
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่าย อาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกค้าสินเชื่อบุคคลคง จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะลูกค้า ของนอนแบงก์ที่ธปท.มีมาตรการจำกัดเพดานดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 28% ทำให้นอนแบงก์ไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยไปได้มากกว่าอัตรา ดังกล่าว ขณะที่ลูกค้าสินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์ อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อบุคคลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 24-25%
สำหรับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็น กลุ่มใหญ่ที่สินของสินเชื่อรายย่อย คือ มีฐานสินเชื่อปรมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ขณะที่กลุ่มสินเชื่อบุคคลมีประมาณ 140,000 ล้านบาทนั้น การผ่อนชำระค่างวดของลูกค้าสินเชื่อบ้านเดิมไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะลูกค้ามีการรับรู้ภาระในแต่ละเดือนอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารเองได้มีการคำนวณเผื่อไว้แล้วด้วย "
ลูกค้าที่ผ่อนค่าบ้านจะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเกินกว่าที่ค่างวดคำนวณไว้ หรือประมาณ 10-11% แต่คงเป็นไปได้ยากเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังต้องการแรงผลักจากภาครัฐและเอกชนในการ กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง"
ส่วนในปี 2549 ธนาคารคาดว่าจะมีบ้าน สร้างใหม่ประมาณ 60,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นไม่เกิน 1% ซึ่งตามปกติการคำนวณค่างวดจะเผื่อไว้อยู่แล้ว 1-2% แต่จะมีผลกระทบถึงการพิจารณาของการ ซื้อบ้าน อาจจะต้องชะลอการซื้อบ้านหรือลดขนาด ของราคาบ้านลง เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ ปรับสูงขึ้น โดยปกติหากดอกเบี้ยปรับขึ้น 1% รายได้ ก็จะต้องเพิ่มขึ้นตาม 6% ด้วย หากรายได้ ไม่ปรับขึ้นตามดอกเบี้ย ก็จะมาลดในส่วนของราคาบ้านลง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินถึงอัตราดอกเบี้ยว่า จะปรับขึ้นเฉลี่ย ระดับ 6.5% หรือจะสูงสุดหรือต่ำกว่าจะไม่เกิน บวกลบ 1.75% ดังนั้นในระยะ 5 ปีข้างหน้าหากอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ หรือ เอ็มโออาร์ ปรับเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดไม่น่าที่จะเกิน 8.25-8.50% ซึ่งยังไม่ถึงระดับ 10-11% ที่จะกระทบค่างวดของลูกค้าที่ผ่อนค่างวดในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าในระยะ 5 ปีนี้อัตราดอกเบี้ยไม่น่าที่จะสูงถึงระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจได้
เจรจา AIA ปล่อยกู้ลูกค้าคงที่ 25 ปี
นายวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเท่ากับช่วงแรกที่มีข่าวการ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมั่นใจว่าตลอดทั้งปีดอกเบี้ยจะขึ้นไม่สูงเกินว่า 1% มีผลต่อกำลังซื้อของ ลูกค้าในตลาดไม่เกิน 10% ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ เข้ามากระทบกลับเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัว สูงขึ้น และทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นตามไปด้วย
"บริษัทเชื่อว่าตลาดจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะผู้บริโภคเริ่มชินกับภาวะตลาด ทำให้กล้าที่จะตัดสินใจมากขึ้น และมั่นใจว่าช่วงปลายปีนี้ ยอดขายของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยสินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับกลุ่มเป้า หมายระดับ 3 ล้านบาทขึ้นไป ทำเลที่มีศักยภาพ บวกกับขณะนี้บริษัทยังอยู่ในระหว่างเจรจากับ AIA เพื่อปล่อยกู้ซื้อบ้านคงที่ระยะยาว 20-25 ปี ใน อัตราดอกเบี้ยระหว่างช่วง 5-6%" นายวิศิษฎ์ กล่าว
นายอธิป พีชานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มหรือลดจะมีผลต่อภาระของลูกค้า เช่น ถ้าซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท เฉลี่ยการผ่อนจะอยู่ที่ 6,000 บาทต่องวด หากดอกเบี้ยขึ้น 1% การผ่อนของลูกค้าจะเพิ่มขึ้นอีก 700 บาทเป็น 6,700 บาทต่องวด, หากดอกเบี้ยขยับเพิ่ม 2% ภาระการผ่อนของลูกค้าจะเพิ่มเป็น 7,400 บาทต่องวด
"ภาระเพิ่มขึ้นจ่ายเงินซื้อบ้านแพงขึ้นแต่ได้บ้านเท่าเดิมแล้วชีวิตจะดีได้อย่างไร ทำให้คนเริ่ม หันมาดูกำลังซื้อในการซื้อบ้านไม่ให้เกินความสามารถ ของตนเอง แม้จะเป็นบ้านที่เล็กลง แต่ยังดีกว่ามีภาระที่สูงจนไม่ไหวกับกำลัง" นายอธิปกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|