|

ซีเองัดกลยุทธ์แบบบูรณาการสร้างเกราะป้องกันภัยจากเน็ต
ผู้จัดการรายวัน(26 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีเอเปิดยุทธศาสตร์ต้านภัยจากไซเบอร์ ด้วยรูปแบบของการบูรณาการสร้างกำแพงสกัดเว็บไซต์ ที่เนื้อหาไม่เหมาะสม เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยจากเน็ต หลังมีการสำรวจพบว่า 75% ที่มีเน็ตเป็นสื่อนำไปสู่อาชญากรรมกับเด็กอายุ 13-15 ปี
นายปิติ ประโมทย์ธรรม กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียใต้ บริษัท คอมพิวเตอร์ แอสโซซิเอทส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ให้บริการด้านโซลูชันบริหารจัดการระบบรักษาความ ปลอดภัยแบบบูรณาการ กล่าวว่า ซีเอได้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้ อินเทอร์เน็ตของเยาวชน พบว่ามีการเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยเป็นการใช้งานในบ้านถึง 67% และมีเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต หรือเสิร์ชเอนจิน เป็นตัวกลางในการเข้าถึงกลุ่มเว็บไซต์ดังกล่าว ถึง 71% นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นโดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 13-15 ปี ถึง 75%
จากสิ่งที่ซีเอพบจึงได้มีการผสานความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบเข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผู้ใช้จากภัยอินเทอร์เน็ต ได้แก่ โซลูชันอีทรัสต์ แอนติไวรัส (eTrust Anti-virus) ที่ป้องกันไวรัสอย่างมั่นใจด้วย 2 สแกนเอนจิน และอัปเดตซิกเนเจอร์ ในลักษณะเรียลไทม์ และโซลูชัน อีทรัสต์ เพสพาโทรล (eTrust Pest Patrol)
ซึ่งเป็นโซลูชันป้องกันสปายแวร์ รวมทั้งโซลูชันอีทรัสต์ ซีเคียว คอนเทนต์ แมเนเจอร์ (eTrust Secure Content Manager) โซลูชันรักษาความปลอดภัยที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ โดยรวมความสามารถด้านการป้องกันไวรัส และสแปมเมล หรือเมลขยะเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบเนื้อหา (Content Inspection) ของเว็บไซต์ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงบล็อกเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงได้อีกต่อไป โดยโปรแกรมป้องกันภัยเหล่านี้ของซีเอสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีตลอด
"ภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่ง ที่ไม่อาจจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เราอาจจะคิดว่าลูกๆ ใช้โปรแกรมแชตคุยกับเพื่อน แต่ในความจริงแล้ว พวกเขาอาจจะกำลังคุยกับคน แปลกหน้าที่พยายามล่อลวงให้เด็กๆ ออกไปพบและนำไปสู่อาชญากรรมรูปแบบต่างๆ เช่น การพนัน และการข่มขืนดังนั้น สิ่งแรกที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรทำก็คือ ศึกษารูปแบบอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตามด้วยการป้องกันเครื่องคอมพิวเตอร์ของบุตรหลานไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์พวกนี้ได้"
นอกจากโปรแกรมการป้องกันของซีเอแล้ว ผู้บริหารของซีเอเห็นว่า ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจถึงภัยร้าย จากโลกไซเบอร์โดยทำความเข้าใจในเทคโนโลยี ต้องปกป้องพีซีให้รอดพ้นจากภัยร้ายทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ ต่างๆ และเปิดใจคุยกับเด็กอย่างจริงจัง ที่สำคัญสุดคือ การมีส่วนร่วมในการท่องอินเทอร์เน็ตกับลูกๆ และคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังมีอีก 10 วิธีที่จะช่วยให้การใช้เน็ตอย่างปลอดภัยคือ 1. ไม่ควรคุยกับคนที่ไม่รู้จักในเน็ต ควรระวังตัวเช่นเดียวกับการระวังคนแปลกหน้าในชีวิตจริง 2. หลีกเลี่ยงจาก คนที่ใช้คำหยาบคายหรือไม่สุภาพ รวมทั้งคนที่พยายามถามชื่อจริง หรือขอให้ส่งรูปให้ คนที่ต้องการคุยโทรศัพท์ ด้วย หรือนัดให้ไปพบ 3. อย่าให้ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หรือชื่อโรงเรียนกับบุคคลที่คุยด้วย และ ไม่ควรให้ข้อมูลจริงกับเว็บไซต์ใดๆ 4. ห้ามให้รหัสผ่านแก่ผู้ใด ยกเว้นพ่อแม่และผู้ปกครอง 5. อย่าออกไปพบหน้ากับคน ที่คุยด้วยทางเน็ตไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม 6. อย่าส่งรูปหรือโพสต์รูปของตัวเองหรือของใครก็ตามทางเน็ต 7. อย่าใช้กล้องถ่ายหรือไมโครโฟนเพื่อแชตกับคนที่ไม่รู้จัก 8. อย่าเปิดหรือเซฟไฟล์ หรือเกมใดๆ ที่ส่งมาจาก คนที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะเป็นไวรัสหรือโปรแกรมที่ทำลายคอมพิวเตอร์ได้ 9. อย่าตอบข้อความในกระดานข่าว แชต หรือเว็บไซต์ที่ใช้ถ้อยคำ หยาบคาย 10. อย่าเชื่อทุกสิ่งที่อ่านพบในอินเทอร์เน็ต
"โครงการนี้เราต้องการสร้าง คอมมูนิตี้เซอร์วิส หรือทำประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งเราต้องการสร้างอะแวร์เนส หรือการเผยแพร่ความรู้ไปยังผู้บริโภคผ่านพาร์ตเนอร์ในไทย ซึ่งอาจจะมีการคุยกับกระทรวงไอซีทีก็ได้ เพราะอย่างมาเลเซียหรืออินเดียก็มีการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|