พัฒนาการบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ลูกค้าสถาบันของซิตี้แบงก์ ก็ไม่แตกต่างไปจากลูกค้าส่วนบุคคลมากนัก
ระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง สำหรับลูกค้าสถาบัน หรือ ที่เรียกว่า ซิตี้ไดเรคเกิดจากฝ่ายพัฒนาที่นิวยอร์ก
และกลายเป็น platform มาตรฐานที่ถูกส่งไปติดตั้งยังสำนักงานทั่วโลกเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า
จากนั้นจะถูกพัฒนาให้ใช้กับภาษาท้องถิ่นได้อีก 18 ภาษา
เมืองไทยก็เช่นกัน พัฒนาการของอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งลูกค้าสถาบัน เริ่มต้นด้วยบริการเรียกดูบัญชี
โอนเงิน ชำระค่าสินค้าผ่านระบบออนไลน์จากหน้าจอพีซี เรียกว่า window base
จนกระทั่งในปี 2541 การระดมสมองหาข้อมูลความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ
เพื่อสร้างระบบบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งให้กับลูกค้าสถาบัน ที่จะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกก็เริ่มขึ้น
"วิธีการของซิตี้แบงก์ คือ ทำทีละ module เช่น ระบบชำระเงินภายในประเทศ
ระบบชำระเงินระหว่างประเทศ เปิด L/C จากนั้นติดตั้งให้บริการทั่วโลก" บุษกร
เปาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินสด ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ
แต่จุดเปลี่ยนที่ลูกค้าจะได้รับจากการขยับจาก window base มาสู่การให้บริการบนอินเทอร์เน็ต
ที่นอกเหนือจากความสะดวกในการใช้งานแล้ว ก็คือการ update ข้อมูลแบบเรียลไทม์
"แทนที่ลูกค้าจะต้องรอไปถึงตอนเย็นกว่าจะได้รับข้อมูล สิ่งที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตคือ
ลูกค้าจะได้รับข้อมูลทันที"
ซิตี้แบงก์ใช้เงินไปไม่น้อยเพื่อปรับระบบหลังบ้าน ในส่วนที่เป็น core banking
เพื่อรองรับการออนไลน์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ แต่การใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
ไม่ใช่เรื่องยาก นอกเหนือจากการเปลี่ยนมาใช้ฮาร์ดแวร์ ของซัน ไมโครซิสเต็มส์
ซอฟต์แวร์ของที่นี่จะพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อให้รองรับกับความต้องการต่างๆ ของลูกค้า
บริการหลักที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ให้บริการแก่ลูกค้าสถาบัน นอกจากบริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว บริการ CityDirect ที่ให้กับลูกค้าติดตามธุรกรรม
ตรวจดูรายการในบัญชีเริ่มมาในเวลาใกล้กัน
ตามมาด้วยบริการ CitiConnect รับชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต ให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสามารถชำระเงินซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต
ปัจจุบันซิตี้แบงก์มีลูกค้าสถาบันใช้บริการนี้อยู่ประมาณ 300 ราย มีการทำ
transaction ชำระเงินประมาณ 200 ล้านบาท
เพื่อให้สอดคล้องกับการมาของ e-commerce ซิตี้แบงก์เริ่มให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่
ที่ต้องการระบบการชำระเงิน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการภายในองค์กรที่แตกต่างกัน
และนั่นคือบริการ e-trade
นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของซิตี้แบงก์ ในโลกการค้าบนอินเทอร์เน็ตระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ
ที่มีการใช้งานจริงและมูลค่ามหาศาล เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารต่างก็พยายามอยู่ในเวลานี้
ในขณะที่ธนาคารท้องถิ่น ยังคงมุ่งแสวงหารายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเล็กๆ
น้อย แต่ธนาคารข้ามชาติแห่งนี้ กลับมองเห็นโอกาส และสร้างความสำเร็จจากการให้บริการ
cash management แก่ลูกค้าองค์กรมาตลอด 10 ปีเต็ม นั่นหมายถึงการเข้าถึงลูกค้าตัวจริงเสียงจริง
และการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เป็นความพยายามของทุกธนาคาร
และนี่เองทำให้ซิตี้แบงก์เชื่อว่า คือจุดแข็งที่ทำให้บริการบนอินเทอร์เน็ตของซิตี้แบงก์
สามารถรองรับกับความต้องการของลูกค้าสถาบันที่มีความซับซ้อนได้ไม่แตกต่างกัน