แพนเอเชียโอดต้นทุนพุ่ง หันใช้วัตถุดิบในประเทศ


ผู้จัดการรายวัน(25 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แพนเอเชีย เปเปอร์โอดต้นทุนผลิตกระดาษพุ่ง เจอพิษน้ำมัน หวั่นตลาดรวมโตแค่ 2% เร่งจัดระบบลดต้นทุนการผลิต ตั้งเป้า 5 ปีใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% จากเดิม 30% เดินหน้าหาแหล่งซื้อกระดาษเก่าเพิ่มขึ้น

นายต่อพงศ์ ทองเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและฝ่ายจัดหา บริษัท แพน เอเชีย เปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า จากปัจจัยลบต่างๆในปีนี้ทั้งภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดและเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตรวมไปถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดรวมของกระดาษเติบโตแค่ 2% เท่านั้นในปีนี้ จากมูลค่าตลาดรวม 6,000 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วเติบโตมากถึง 5%

ขณะที่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งเรื่องค่าขนส่ง ค่าการผลิต ค่าน้ำมัน โดยในส่วนของบริษัทฯเองต้องแบกภาระต้นทุนกว่า 30% และราคากระดาษเองก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 10% โดยราคากระดาษในประเทศเวลานี้อยู่ในระดับ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนราคาในต่างประเทศอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน

อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังไม่มีแผนปรับราคากระดาษเพิ่มขึ้น เพราะว่าอัตราการใช้ในตลาดรวมไม่ได้เพิ่มตาม จึงทำให้บริษัทฯต้องปรับแผนการดำเนินงานจากนี้จนถึงสิ้นปีนี้ด้วยการเน้นการลดต้นทุนดำเนินงานหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้นโดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% จากปัจจุบันที่ใช้กระดาษรีไซเคิลอยู่แล้วเป็นกระดาษในประเทศเพียง 30% ส่วนอีก 70% มาจากต่างประเทศ โดยมีกำลังการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ 450 ตันต่อวัน หรือประมาณ 135,000 ตันต่อปี

โครงการที่ทำเช่นการรับซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าจากผู้ประกอบการร้านค้ารับซื้อของเก่ารวมประมาณ 8 แห่ง หรือโครงการที่บริษัทฯลงทุน 10 ล้านบาทและร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม "แปลงกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นทุน" ที่ร่วมมือกับโรงเรียนจำนวน 30 แห่งในกรุงเทพฯเพื่อรับบริจาคกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าโดยบริษัทฯจะมอบทุนการศึกษาให้เป็นการทดแทน และได้ดึง เติ้ล-ตะวัน จารุจินดา มาเป็นทูตของโครงการนี้

"จากแผนงานเหล่านี้มั่นใจว่าจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 5% และมั่นใจว่าจะสามารถทำรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ 2,500 ล้านบาทในปีนี้ แต่เติบโตเพียง 2-3% เช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดรวม โดยบริษัทฯมีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของตลาดรวมทั้งระบบมูลค่า 6,000 ล้านบาท"นายต่อพงศ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.