|

"วงศ์สวัสดิ์"ผงาดธุรกิจรับเหมาจ้องฮุบงานสาธารณูปโภค/ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่ม "วงศ์สวัสดิ์" ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจรับเหมาเต็มตัว จับมือกลุ่ม "วิไลลักษณ์" ซื้อหุ้น 50% บมจ. แอสคอน ส่ง"ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์" ลูกสาว เจ้แดง กุมอำนาจร่วมเจ้าของเดิม เผยแต่ละงานที่จ้องประมูล ล้วนเป็นงานที่ต้องอาศัยบารมีนักการเมืองทั้งสิ้น ประเดิมงานแรก ประมูลศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตามด้วยรับเหมางานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จากซิโน-ไทย
เกมขยายอาณาจักร ตระกูล วงศ์สวัสดิ์ ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดแตกไลน์สู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ด้วยการจับมือกับกลุ่ม" วิไลลักษณ์" ซื้อหุ้นในบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถึง 50% และส่ง ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาวคนโปรด ของ "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และน้องสาวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการในกลุ่มวิไลลักษณ์
การเข้าถือหุ้นครั้งนี้ ทำให้บมจ.แอสคอนฯ มีผู้ถือหุ้นหลัก 2 กลุ่มคือ กลุ่มเดิมของตระกูล"ตนุมัธยา " และกลุ่มวิไลลักษณ์ ในสัดส่วนเท่ากันคือ 50%
ทั้งนี้ กลุ่มวิไลลักษณ์นั้น มอบหมายให้ศิริชัย รัศมีจันทร์ เป็นตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ ส่วนชินณิชา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแต่ไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนได้
สำหรับบมจ.แอสคอนฯ ดำเนินธุรกิจด้านงานวิศวกรรมก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 ชื่อเดิม คือ บริษัท เอเอสซี เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจนำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม ต่อมาปี 2547 มีผู้ร่วมทุนใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "แอสคอน คอนสตรัคชั่น"ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ภายหลังมีผู้ร่วมทุนใหม่แล้วบริษัทได้ขยายงานครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงหันมารับเหมาก่อสร้างด้วย
พัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอสคอนฯ กล่าวว่า หลังจากที่จัดโครงสร้างบริษัทแล้วเสร็จ บริษัทมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท ขณะนี้ได้แต่งตั้ง บล. บัวหลวง จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และจะยื่นแบบรายงานแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ในเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะกระจายหุ้นประมาณไตรมาสสามปีเดียวกัน
ปัจจุบันบริษัทรับงานเอกชนเป็นหลัก มีงานในมือมูลค่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มเป็น 30 : 70 จากโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐมูลค่า 5 แสนล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟฟ้าและโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มูลค่าโครงการ 24,000 ล้านบาทของกรมธนารักษ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับคัดเลือก โดยขณะนี้กำลังหาพันธมิตรร่วมทุนที่เป็นบริษัทรับเหมารายใหญ่ของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอยู่ 2 ราย
นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจที่จะเข้ารับช่วงงานโครงการรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) มูลค่า 12,000 ล้านบาท ต่อจากบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีแผนลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กลุ่มวงสวัสดิ์ ดำเนินงานโดยวิธีซื้อกิจการบริษัทในตลาดหุ้นโดยผ่านคนในตระกูลอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรายนามผู้ถือหุ้นของ MLINK และ CAPE โดยมีฐานใหญ่อยู่ในหุ้นบริษัทเอ็มลิ้งค์ เอเซีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) พอ กับที่ "ชินคอร์ป" เป็นฐานธุรกิจหลักของอาณาจักรชินวัตร
ปัจจุบันเอ็ม ลิ้งค์ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่าย (Distributor) โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Motorola Alcatel Mitsubishi Nokia Lg Handspring เป็นต้น โดยใช้ช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนที่มีอยู่ทั่วประเทศและผ่านบริษัทในเครือ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทเทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น บริษัท เอ็ม ช็อปโมบาย บริษัทเอ็มโซลูชั่น และบริษัท พอร์ทัลเน็ท ซึ่งบริษัทนี้ประกอบธุรกิจประมูลงานโครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชน
ส่วนบริษัท เคพโทรนิคอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ "CAPE" ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย รวมทั้งให้บริการหลังการขายสินค้าจอภาพคอมพิวเตอร์ จอภาพแอลซีดี ทีวี ตามคำสั่งและภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า โดยใช้ฐานการผลิตในไทย แต่เนื่องจากบริษัทปัญหาทางการเงินเมื่อปี 2545 หลังจากที่บริษัทโซนี่ คอร์ปอเรชั่น ลูกค้ารายใหญ่ยกเลิกคำสั่งการผลิต จึงทำให้หุ้นของบริษัทอยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ (TRAF) ในนามกลุ่มชยาภา วงศ์สวัสดิ์ โดยทราฟฟิก คอร์นเนอร์ฯ รายงานการขายหุ้นว่าเป็น Strategic Partner ที่มีธุรกิจหลากหลายทั้งในด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยครั้งนั้นทราฟฟิก คอร์นเนอร์ฯ ออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 140 ล้านหุ้น เสนอราคาขายให้แก่กลุ่มวงศ์สวัสดิ์ทั้งหมดในราคาหุ้นละ 3 บาท หรือคิดเป็นเงินลงทุน 420 ล้านบาท กลุ่มวงศ์สวัสดิ์ จึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 39% และส่งผลให้ราคาหุ้นทราฟฟิก คอร์นเนอร์ฯ ทะยานขึ้นทันที
การเพิ่มทุนครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจไปเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ จากการประมูลเวลาสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ของรัฐ เช่นเดียวกับเอ็มลิ้งค์ และโยงไปถึงการลงทุนใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากมีการมองว่าในปีนี้หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะทะยานขึ้นตามนโยบายบายเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ
ที่สำคัญที่สุด บริษัทรับเหมาก่อสร้างล่าสุดที่กลุ่มวงศ์สวัสด์เข้าไปถือหุ้นนี้ประกาศแผนดำเนินงานอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งประมูลโครงการของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการเข้าไปลงทุนภายใต้ธุรกิจที่ล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองอำนวยความสะดวก และด้วยการมองเห็นศักยภาพของบริษัทในกลุ่มฟื้นฟูกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษี เมื่อเป็นเช่นนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจบนเส้นทางการเมืองกำลังเกื้อหนุนกลุ่มทุนบางกลุ่ม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|