|

แบงก์แย่งปล่อยสินเชื่อบ้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์ และนอนแบงก์ ปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ เบนเข็มปล่อยสินเชื่อบ้าน เหตุเสี่ยงต่ำ ตลาดใหญ่มูลค่าแสนล้าน และโดดแรงบีบจากธปท.เรื่องกำหนดเพดานดอกเบี้ย ธอส.ผู้นำตลาดปล่อยไม้เด็ดเป็นระลอก หวังขยายฐานลูกค้าใหม่ และตีกันลูกค่าเก่าเปลี่ยนใจรีไฟแนนซ์
เมื่อการซื้อ-ขายในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวขึ้น การแข่งขันด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non bank) ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยแล้ว ยังมีฐานลูกค้าจำนวนมากอีกด้วย รวมถึงจากมาตรการการควบคุมและกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ หันมาเพิ่มรายได้ด้วยการรุกธุรกิจสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อเคหะ เป็นตัวชูโรง
อย่างไรก็ตาม การหันมาแย่งกันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่าง ๆ คงไม่เรื่องง่ายนัก เพราะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผู้นำตลาดสินเชื่อบ้าน คงไม่ปล่อยให้ยอดปล่อยสินเชื่อลดลง หรือถูกแย่งไปง่าย ๆ ธอส.จำต้องงัดไม้เด็ดต่าง ๆ ออกมาเป็นระลอก เพื่อเพิ่มยอดสินเชื่อ รวมถึงรักษาฐานลูกค้าเก่าไม่ให้ไปรีไฟแนนซ์ที่อื่น ขณะที่สถาบันการเงินอื่น ๆ ก็ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสเสียไป ต่างก็เร่งจัดแคมเปญเด็ด ๆ ออกจูงใจลูกค้ากันอย่างชนิด ไม่มีใครยอมใคร (ดูตารางประกอบ)
หั่นดอกเบี้ยเพิ่มฐานลูกค้า
โดย ธอส.ปล่อยกู้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาด มีส่วนต่าง 0.25-0.75% ต่อปีเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR 5.75% ในขณะที่ ธอส.เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้MRRที่ 6.25% ภายใต้โครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3-5% แบบขั้นบันได และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.50% ระยะเวลากู้ 5 ปี
แม้ว่าภาวะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ธอส.น้อยมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 53% ของฐานลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ธอส.ยังมีแผนที่จะออกแคมเปญสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75-7.00% ระยะเวลากู้ 10 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของระบบสถาบันการเงินที่มีการออกแคมเปญสินเชื่อคงที่ระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี เพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้กับผู้ซื้อบ้านที่ต้องการขอสินเชื่อระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการรักษาฐานลูกค้าเงินกู้ระยะยาวแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งอายุสัญญาใกล้สิ้นสุดลงไม่ให้ไปทำการรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่นอีกด้วย
แบงก์รวงข้าวปรับโครงสร้างเงินกู้
ขณะที่ธ.กสิกรไทยประกาศรุกสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยการปรับโครงสร้างและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ลงอีก 0.25% และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยMLRขึ้นอีก 0.25% จากปัจจุบันที่มีอัตราดอกเบี้ยMLR 5.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธ.กสิกรไทยเป็นแคมเปญที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อเทียบกับแคมเปญสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินอื่นๆ นอกจากนี้ ธ.กสิกรไทยยังคงทางเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2 ปีไว้เช่นเดิม พร้อมทั้งแบ่งทางเลือกใหม่สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยไว้ถึง 6 แบบ
ส่วนธ.กรุงไทยได้ยกเลิกสินเชื่อกรุงไทยเคหะ สุขทวี แล้วหันมาออกสินเชื่อกรุงไทยเคหะ ทรัพย์ทวีแทน โดยเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในปีแรก และให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือกกู้ 2 แนวทาง คือ ดอกเบี้ยปีแรก 3% หรือดอกเบี้ยปีแรกในอัตราMLR อยู่ที่ 5.75%-3.00% หรือเท่ากับ 2.75% หลังจากนั้นจึงคิดอัตราดอกเบี้ยMLR -0.75% ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ นอกเหนือจากโครงการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ปลูกสร้างบ้าน ต่อเติมและซ่อมแซมโดยให้กู้สูงสุดถึง 90% ของราคาประเมิน
ด้านธนาคารนครหลวงไทยที่เพิ่งหันมารุกขยายพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ประกาศออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ 3 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.-30มิ.ย.นี้ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อเคหะคงที่ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.75% 2.สินเชื่อเคหะคงที่ 2 ปีอัตราดอกเบี้ย 4.50% และ3.สินเชื่อเคหะคงที่ 3 ปี ดอกเบี้ย 5.25% พร้อมทั้งยังคงทางเลือกเดิม 3 แนวทางอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงเป็นของผู้บริโภค แม้ว่าจะมีปัจจัยลบด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาก่อการร้าย หรือปัจจัยลบอื่นๆ ก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|