|
“N-PARK”ดิ้นหาพันธมิตรการเงิน ยืนยันโมเดลธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด(มหาชน) หรือ N-PARK หวนกลับสู่วงโคจรของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง พร้อมกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการลงทุนจากธุรกิจต้นน้ำสู่ธุรกิจปลายน้ำ ตีความหมายได้ว่านับจากนี้เป็นต้นไป N-PARK จะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งตามคำนิยามของ N-PARK หมายถึงการลงทุนในธุรกิจการเงิน เพื่อสร้างแหล่งระดมทุนทางการเงินรองรับการลงทุนในอนาคตที่เปรียบเสมือน ธุรกิจปลายน้ำ
เสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด(มหาชน) หรือ N-PARK กล่าวว่า ปัจจุบันโมเดลในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงยึดมั่นในหลักการของธุรกิจต้นน้ำสู่ปลายน้ำเหมือนเช่นเดิม แม้ว่าระยะหลังๆ จะมีกระแสข่าวด้านลบเกี่ยวกับฐานะทางด้านการเงินของบริษัท ซึ่งกระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ปัญหาทางด้านการเงินของ N-PARK เกิดขึ้นจากการทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจัดสรรที่ลงทุนร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ธุรกิจให้บริการด้านการขนส่งหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง N-PARK เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ บีเอ็มซีแอล ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้ระยะยาวอย่างธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ รวมทั้งธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทที่ลงทุนร่วมกับกลุ่มบริษัทอมันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด ผู้บริหารโรมแรมและรีสอร์ทหรูระดับโลก เพื่อพัฒนาโรงแรมและรีสอร์ทระดับหรูทั้งในและต่างประเทศ อันจะสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับ N-PARK ในอนาคต
N-PARK ใช้เงินไปกับการลงทุนเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามาเพียงไม่ถึงครึ่งของเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่ N-PARK ต้องเร่งดำเนินการคือสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน โดยเริ่มจากการทยอยขายหุ้นบางส่วนที่มีอยู่ใน บีเอ็มซีแอล ออกไปให้กับกลุ่ม ช.การช่าง ตามด้วยการตามจีบกลุ่มซิตี้ เรียลตี้ของ ชาลี โสภณพนิช เข้าร่วมทุน โดยหวังที่จะให้กลุ่มโสภณพนิชเข้ามาช่วยหนุนด้านการเงิน แต่แล้วดีลแลกหุ้นระหว่างกลุ่มซิตี้ เรียลตี้ และN-PARK ก็ล่ม แต่แผนสร้างศักยภาพทางด้านการเงินซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำยังต้องดำเนินต่อไป การตัดสินใจขายหุ้นที่ถือครองอยู่ใน ฟินันซ่า จึงเกิดขึ้นท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เห็นว่าไม่สมควรที่จะขาย เพราะต้องขาดทุนจากการขายกว่า 400 ล้านบาท
เสริมสิน ยืนยันว่า ปัจจุบันฐานะทางด้านการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพทัดเทียมกับคู่แข่ง แม้จะมีการตัดขายหุ้นบางส่วนใน บีเอ็มซีแอล และมีแผนที่จะขายหุ้นในฟินันซ่า ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำทิ้งไป แต่บริษัทก็ยังคงศักยภาพความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพราะนโยบายหลักของ N-PARK คือขายเงินลงทุนบางส่วนออกไป และนำพันธมิตรรายใหม่เข้ามา
โดยปัจจุบันความคืบหน้าของ บีเอ็มซีแอล และ ฟินันซ่า ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องรอจนกว่าจะปิดงบการเงินในวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ในเบื้องต้น เสริมสิน กล่าวว่า บอร์ดมีข้ออนุมัติเกี่ยวกับกรณีหุ้นฟินันซ่าแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะขายออกไปหรือไม่ และหากขายจะขายในสัดส่วนหรือราคาเท่าใด เช่นเดียวกับ บีเอ็มซีแอล ที่ยังต้องรอให้ปิดงบทางการเงินเสียก่อนจึงจะเปิดเผยในรายละเอียดได้ว่าจะขายหรือไม่และขายเท่าใด โดยในขณะนี้บริษัทยอมรับว่าได้มีการเจรจาร่วมกับพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจหลายราย แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้
“ทั้งบีเอ็มซีแอล และ ฟินันซ่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะขายหรือไม่ ที่ผ่านมาเป็นแค่เพียงการขออนุมัติจากบอร์ดเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงยังบอกไม่ได้ว่าถ้าบอร์ดอนุมัติให้ขายฟินันซ่าจะเป็นการขายแบบขาดทุนหรือไม่ แต่เชื่อแน่ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นต้องมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยยืนยันเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทว่ายังมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ซึ่งในปีนี้บริษัทจะเร่งเคลียร์ปัญหาด้านการบริหารจัดการเงินให้มีเสถียรภาพขึ้น และจะทยอยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกราย”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|