|

Teen age เริ่มเมินอีเมล มองเป็นช่องทางสื่อสารของคนแก่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นักการตลาดที่จับกระแสการเคลื่อนไหวของตลาดกลุ่มวัยรุ่นหรือทีนเอจ หาพันหงายหลังไปตามๆ กัน เมื่อผลการสำรวจล่าสุดทางการตลาด พบว่าทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง แถมยังระบุชัดว่าการรับส่งข้อมูลทางอีเมล เป็นสังคมสำหรับผู้ใหญ่และคนแก่
เมื่อไม่นานมานี้ โครงการ พิว อินเทอร์เน็ต แอนด์ อเมริกัน ไลฟ์ ได้เปิดเผยรายงานผลการสำรวจของตนว่า ประการแรก 3 ใน 4 ของกลุ่มวัยรุ่นหรือทีนเอจ ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการสื่อสารในกลุ่มของตนไปจากที่เคยใช้อีเมล ด้วยการหันไปใช้อินสแตนท์ แมสเซสหรือข้อความมาตรฐานแทน
ประการที่สอง ระยะเวลาในการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน ของกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย จากการใช้ข้อความส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าอีเมล
รายงานการสำรวจดังกล่าวชี้ว่า กลุ่มวัยรุ่นมีความเห็นว่าการส่งข้อมูลทางอีเมลมีความเหมาะสมกับการสื่อสารของตนเฉพาะในกรณีต่าง ๆ เช่น 1.การส่งข้อมูลการสื่อสารกับครู อาจารย์ หรือคนที่ทำงานในสถาบัน องค์กร และบริษัทห้างร้าน ที่ต้องการรายละเอียดมาก เกินกว่าความจำเป็นที่กลุ่มวัยรุ่นเห็นว่าต้องการส่งและรับตามปกติประจำวันของตน
2.อีเมลเหมาะกับการส่งข่าวสารเพื่อติดต่อกับคนหมู่มากนับร้อยนับพันราย เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่อง ที่ทำเป็นครั้งเป็นคราวไป 3.อี-เมล เป็นวิธีการของการสื่อสารสำหรับกรณีที่ต้องการความเป็นทางการมาก และไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการติดต่อแบบไม่เป็นทางการหรือแบบสนิทชิดเชื้อ แถมยังนับอีเมลว่าเป็นการส่งอี-เลตเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
ทั้งนี้ แตกต่างจากพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นตามปกติประจำวันของตน ที่มีลักษณะเด่น คือ ประการแรก เป็นการสื่อสารในลักษณะพูดคุยประจำวัน ที่เป็นตัวอักษร ทำให้ข้อความที่กลุ่มวัยรุ่นต้องการส่ง จะเป็นข้อความพื้นๆ สั้นๆ กระชับ และส่งได้พร้อมกันให้กับเพื่อนหลายคนด้วยข้อความเดียวกัน
ประการที่สอง สาระของข้อความมีตั้งแต่ไร้สาระ การทักทายสนทนาแบบสบายๆ บอกเล่ากิจกรรมประจำวัน ไปจนถึงเรื่องสำคัญและคอขาดบาดตาย และเรื่องลับเฉพาะส่วนตัว
ประการที่สาม ข้อความอัตโนมัติแบบใช้คำสำเร็จรูป มีประสิทธิภาพดีกว่าอีเมล เพราะใช้คำที่กลุ่มวัยรุ่นทุกคนมีความคุ้นเคยและเข้าใจทันที ไม่ต้องตีความมาก
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญขบคิดกันในขณะนี้ จากพฤติกรรมใหม่ที่เปลี่ยนไปของกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว คือ พฤติกรรมแบบนี้จะนำไปสู่รูปแบบของพฤติกรรมอย่างไร เมื่อกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่และเริ่มวัยทำงานในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างมืดมน และสับสนไม่น้อย
ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ยากต่อการคาดเดาว่า ในอนาคตอีกสัก 10 ปีข้างหน้า เด็กที่เติบโตเต็มที่จะมีวิถีการดำเนินชีวิตกันอย่างไร หากต้องการสื่อสารกันในกลุ่มที่เป็นสังคมของตน
อย่างไรก็ตาม การสำรวจยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่นหรือทีนเอจ 9 ใน 10 คน ยังมีการใช้อินเทอร์เน็ตควบคู่อยู่ทุก ๆ วัน ไม่ได้ใช้เฉพาะอินสแตนท์ เมสเซสส่งทางมือถือกันอย่างเดียว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการใช้อินเทอร์เนตในหมู่ผู้ใหญ่ ที่มีสัดส่วนเพียง 66% เท่านั้น
โดย 8 ใน 10 คนของกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้อินเทอร์เน็ต ก็เพื่อการเล่นเกมออนไลน์ หรือแสวงหาข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ราว 4 ใน 10 คนของกลุ่มวัยรุ่น เริ่มมีพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต และราว 3 ใน 10 คน สนใจแสวงหาข้อมูลด้านสุขภาพและอนามัยทางออนไลน์ ซึ่งสัดส่วนของการดำเนินพฤติกรรมที่ว่ามานี้ เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้วในทุก ๆ ด้าน
ในการติดต่อเข้าไปบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พบว่ากลุ่มวัยรุ่นราว 45% ผ่านอุปกรณ์ในโทรศัพท์มือถือ ที่ติดค่าใช้จ่ายเป็นรายนาที ส่วนที่เหลือใช้อุปกรณ์อื่นๆ จากที่บ้าน หรือจากโรงเรียน หรือบ้านเพื่อนและบ้านญาติ รวมทั้งผ่านทางห้องสมุด
แนวโน้มดังกล่าว ทำให้สรุปสัจธรรมได้อย่างหนึ่งว่า สัดส่วนของการใช้อีเมลสำหรับการติดต่อส่อสารกับคนอื่นๆ ของกลุ่มวัยรุ่นน่าจะลดลงไปตามลำดับ ซึ่งถ้านักการตลาดต้องการเข้าให้ถึงกลุ่มวัยรุ่น ก็คงต้องพัฒนาเครื่องมือการส่งเสริมการตลาดผ่าน เอสเอ็มเอสแทน จึงจะทำให้กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้สนใจเปิดดู แทนที่จะกดลบออกจากหน่วยความจำในอุปกรณ์การสื่อสารของตน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|