|

อิมเมจิน แบรนด์วิชั่นซัมซุง อัพทูพรีเมี่ยม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ซัมซุงต่อยอดแบรนด์วิชั่นจากซัมซุงดิจิตอลไปสู่ซัมซุงอิมเมจิน จินตนากรไร้ขีดจำกัด โดยผสมผสานเทคโนโลยี และ ดีไซน์ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นแบรนด์พรีเมี่ยม 3 อันดับแรกของโลก
ซัมซุงประกาศพัฒนาแบรนด์วิชั่นไปสู่การเป็น Imagine โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นแบรนด์สัญลักษณ์ (Icon Brand) ของเทคโนโลยีที่มีสไตล์ในยุคของการควบรวมเทคโนโลยี หรือ Digital Convergence เช่นโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลงได้ในเครื่องเดียวกัน โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซัมซุงวางตำแหน่งแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ระดับโลกภายใต้แบรนด์วิชั่นที่ว่า Samsung Digital Everyone Invited เป็นการแนะนำผู้บริโภคให้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งดิจิตอล ซึ่งในยุคนั้นดิจิตอลยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค สินค้าดิจิตอลมีราคาแพง ผู้บริโภคจับต้องได้ยาก รวมถึงการควบรวมของเทคโนโลยีก็มีน้อย ซัมซุงจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักของตลาดก่อน โดยซัมซุงโฟกัสตลาดไปที่กลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า Sensible Brand Buyer ซึ่งจะตัดสินใจซื้อโดยพิจารณาจากความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปกับสินค้าที่ได้มา รวมถึงคุณค่าของตราสินค้า
ซัมซุงพยายามพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่าจากการซื้อสินค้าของซัมซุง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจนทำให้มูลค่าของแบรนด์ซัมซุงขยับจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2543 มาอยู่ที่ 14.9 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จัดเป็นแบรนด์อันดับที่ 20 ของโลก โดยซัมซุงตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าแบรนด์เพิ่มเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ซัมซุงเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกของโลก
อย่างไรก็ดีเนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น ละเอียดขึ้น ซึ่งเดิมทีแต่ละบริษัทจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อมาก็สร้างจุดต่างด้วยการออกแบบหรือดีไซน์สินค้าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าเทคโนโลยีตามกันได้ ขณะที่ดีไซน์เป็นเหมือนลิขสิทธิ์ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ มาในยุคนี้ เทคโนโลยีบวกกับการออกแบบดูจะไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ยังมีเรื่องของไลฟ์สไตล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ซัมซุงจึงมีการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคโดยพิจารณาจากไลฟ์สไตล์ซึ่งพบว่าตลาดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักได้แก่ High-Life Seeker เป็นผู้ที่ไวต่อเทคโนโลยี มีรายได้ระดับกลางแต่พร้อมที่จะจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มที่ 2 คือ Sensory เป็นผู้ที่มีเหตุผลในการตัดสินใจซื้อ ไวต่อเทคโนโลยีน้อยกว่ากลุ่มแรก กลุ่มที่ 3 คือ Rational เป็นผู้ที่เลือกซื้อแต่เทคโนโลยีที่คิดว่าจำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น
ส่วนกลุ่มที่ 4 แม้จะเป็นผู้ที่ยอมรับในเทคโนโลยีแต่กว่าจะซื้อสินค้านั้นก็ตกรุ่นไปแล้ว ในขณะที่กลุ่มที่ 5 เป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเฉพาะฟังก์ชั่นหลัก เช่น โทรศัพท์มือถือก็ใช้แค่การสื่อสารทางเสียง ไม่ใช้ทำอย่างอื่น หรือบางทีก็อาจไม่ยอมรับเทคโนโลยี เช่น คนที่มีกำลังซื้อพอแต่ก็ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้จากการศึกษาของซัมซุงพบว่า ตลาด 3 กลุ่มแรกรวมกันมีมากถึง 60% ของตลาดทั้งหมด โดยแต่ละเซกเมนต์มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซัมซุงจึงเลือกที่จะรุกตลาดทั้ง 3 เซกเมนต์ เนื่องจากมีการตัดสินใจซื้อที่ง่ายกว่า 2 กลุ่มหลัง แต่จะโฟกัสไปที่กลุ่มแรก คือ High-Life Seeker เนื่องจากมีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องกับแบรนด์วิชั่นใหม่ของซัมซุงที่ว่า Imagine
"จากการสำรวจเราพบว่ากลุ่ม High-Life Seeker เป็นผู้ที่ชอบสินค้าที่มีความเป็นเลิศทั้งการออกแบบและเทคโนโลยี รวมถึงตรายี่ห้อ สินค้าอะไรที่บ่งบอกถึงรสนิยมจะเป็นที่ชื่นชอบของคนกลุ่มนี้" อาณัติ จ่างตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว
อิมเมจิน เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ดีไซน์ และไลฟ์สไตล์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ซัมซุงอิมเมจินเป็นแบรนด์สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นผู้นำทั้งทางเทคโนโลยีและดีไซน์
แบรนด์วิชั่นใหม่ของซัมซุงจะถูกใช้ในสินค้าหมวดภาพและเสียงก่อน จากนั้นจะทยอยปรับใช้กับสินค้าหมวดอื่นต่อไป ภายใต้งบประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการทำโฆษณาและโรดโชว์เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้และสัมผัสถึงความเป็นสินค้าพรีเมี่ยม
สำหรับสินค้าที่จะลอนช์ออกมาภายใต้แบรนด์วิชั่น "อิมเมจิน" นั้นในเบื้องต้นจะมี 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ในสินค้าหมวดเอวี ได้แก่ สลิมฟิตทีวี ซึ่งเป็นทีวีจอแก้วที่มีการออกแบบให้มีความหนาลดลง 33% พลาสม่าทีวีที่ให้ความละเอียดของสี 549 พันล้านสี ในขณะที่ท้องตลาดมีเพียง 68.7 พันล้านสี และจะมีการทำตลาดพลาสม่าทีวีขนาด 80 นิ้วในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมี เอ็มพี 3 ชุดโฮมเธียเตอร์ และมินิเก็ตแฮนด์ฟรี ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันโดยสามารถใช้งานได้ 6 อย่างคือเป็นทั้งกล้องวิดีโอ กล้องถ่ายรูป ที่เก็บข้อมูล กล้องติดคอมพิวเตอร์ เอ็มพี 3 และเป็นเครื่องบันทึกเสียง
ทั้งนี้ซัมซุงยังคงนโยบายด้านราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า พร้อมกับการเพิ่มช่องทางที่จะสื่อถึงความเป็นอิมเมจินด้วยการเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อว่า "ซัมซุง พลาซ่า" หรือซัมซุงแบรนด์ชอป ซึ่งเปิดแห่งแรกที่เดอะมอลล์บางกะปิ และในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งที่สยามพารากอน
รูปแบบของซัมซุงพลาซ่าจะแตกต่างจากซัมซุงแกลเลอรี่ชอป ตรงที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า และมีการจัดดิสเพลย์ ตกแต่งร้านสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าตั้งแต่ระดับ Rational ไปถึง ระดับ Hi-Life Seeker ในขณะที่ซัมซุงแกลเลอรี่ชอปเป็นเพียงการวางสินค้าให้ครบหมวดหมู่เท่านั้น ไม่ได้มีการจัดดิสเพลย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ ซัมซุง อิมเมจิน
อิมเมจิน แบรนด์วิชั่นใหม่ของซัมซุงจะเป็นตัวสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและเมื่อไรที่คำว่าซัมซุงอิมเมจินสามารถสื่อถึงความเป็นไฮเทคโนโลยีได้แล้วก็จะทำให้ซัมซุงทำการตลาดได้ง่ายขึ้น คล้ายๆกับการทำตลาดของโซนี่ที่ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพอยู่แล้ว โซนี่จึงข้ามไปเล่นในเรื่องของ Emotional Marketing เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การขายสินค้าอื่นได้อย่างง่ายดาย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|