|

ตะลึง! วิศวกร (เทียม) เต็มเมือง เร่งยกเครื่องก่อนอาคารพัง....!!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
*วงการวิชาชีพวิศวกร 1.3 แสนคนกำลังเผชิญปัญหา
*คนในวงการผวามีมาก แต่หวั่นไร้คุณภาพ
*ถึงคิววงการวิชาชีพวิศวกรจัดระเบียบ ยกมาตรฐานเข้มกว่าเดิม
*ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยเจอทางตัน ต้องเร่หางานนอกประเทศ
*เหตุงานตกอยู่ในมือรายใหญ่ ส่วนรายกลาง รายย่อยสาหัส
*จี้รัฐเร่งตั้งกระทรวงการก่อสร้าง
คนในวิชาชีพวิศวกรรมกำลังผจญมรสุมไม่น้อย มีทั้งปัญหาภายในและภายนอก โดยที่คนนอกวงการไม่รู้เรื่อง
แต่ถ้าถามคนในวงการต่างยอมรับว่า
มันเกิดวิกฤตภาพลักษณ์จริงๆ
เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม ถนนทรุด สะพานพัง รวมไปถึงงานก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ๆที่มีข่าวใหญ่โต ต่างก็พุ่งเป้าความผิดไปที่บรรดาวิศวกร
จนมีการเรียกร้องให้ยกมาตรฐาน จัดระเบียบวิชาชีพวิศวกรขึ้นมาใหม่ เพราะเกรงว่า อนาคตวิศวกรไทยจะตกต่ำ !?!?
ต้นเหตุมาจาก คุณภาพของวิศวกรไทยไร้คุณภาพอย่างนั้นหรือ...?
วิศวกรเยอะ แต่...
“ตอนนี้วิศวะมีเยอะมาก เพราะมีการเปิดสอนกันมากขึ้น จึงเกรงกันว่า ปัญหาด้านคุณภาพจะตามมา หากไม่มีการควบคุมคุณภาพการศึกษา เพราะวิศวะสามารถสร้างชาติและทำลายชาติได้”รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.)ให้ความเห็น
เขาจะพูดเสมอบนเวทีสัมมนาในเรื่องวิศวกรรม เพราะต้องการยกระดับคนประกอบวิชาชีพนี้ให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศ
“คุณลองไปดูสิงคโปร์มีวิศวกรร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆออกมา มากกว่าคนไทยสิบเท่าตัว ทั้งที่เรามีคนมากกว่า วิศวะต่อไปต้องเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยเหลือเศรษฐกิจในภาพรวมได้”เขาระบุ
หลายคนบอกว่า หากคุณไปเดินบนห้างสรรพสินค้าสักแห่ง คุณจะเจอคนมีอาชีพเป็นวิศวกร คละไปกับคนอื่น ขณะที่นักศึกษาด้านวิศวะก็จะพบเห็นได้ง่ายๆ ตามท้องถนน แตกต่างจากอดีตที่ ใครเรียนวิศวะ จนได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจะถูกยกย่องว่า เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ และแถบจะเจอได้น้อยมาก
นักศึกษาวิศวะพุ่งพรวด
ขณะที่ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานปริมาณการผลิตวิศวกรของประเทศ โดยสำรวจทั้งทางตรงและข้อมูลที่เผยแพร่จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน 75 แห่ง เป้นมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง และเอกชน 51 แห่ง พบว่า ขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวน 43 แห่ง ในช่วงปี 2541-2545 การผลิตวิศวกรค่อนข้างจะทรงตัวอยู่ที่ 13,500-14,000 คนต่อปี แต่พอถึงปี 2546 –2550 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณการที่ 14,596 คนในปี 2546 เป็นจำนวน 20,360 คนในปี 2550 (ดูตาราง)
สำหรับสาขาที่เพิ่มระหว่างปี 2546-2550 มากที่สุดได้แก่ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 124% รองลงมาเป็น สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและสาขาวิศวกรรมเครื่องกล 60%
นั่นเป็นการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยที่พุ่งเป้าสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยตรงทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะมหาสิทยาลัยเอกชน ต่างก็เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์กันมากขึ้น จึงทำให้ตัวเลขปริมาณการผลิตออกมาพุ่งทะยานสูงกว่าอดีตเมื่อ 5 ปีก่อน
จบคบช่างก็เป็นวิศวกรได้
ไม่เพียงแต่วิศวกรที่จบจากการศึกษามาโดยตรงเท่านั้น แต่คุณสามารถจะพบเห็นคนที่ได้เป็นวิศวกร โดยที่ไม่ต้องเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์เช่นกัน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ
ว่ากันว่า ขณะนี้มีวิศวกรไทยกว่า 1.3 แสนคน ในจำนวนนี้มีผู้จบคบ.หรือคุรุศาสตร์บัณฑิต ด้านช่างก็เป็นวิศวกรได้ นับหมื่นคนตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย สมัยพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นมท.1 ซึ่งช่วงนั้นเป็นเพราะวิศวกรไทยขาดแคลน จึงได้อนุญาตให้ผู้ที่จบด้านคุรุศาสตร์บัณฑิตด้านช่างต่างๆสามารถที่จะเป็นวิศวกรได้
แต่พอสภาวิศวกรเกิดขึ้นปี 2542 จึงได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ที่ต้องการได้ภาคีวิศวกรจะต้องสอบมาตรฐานจนเกิดปัญหาฟ้องร้องกันขึ้น
โดยกลุ่มคนจำนวนกว่า 800 คนได้ร้องศาลปกครอง หลังจากที่สภาวิศวกรออกกฏระเบียบการให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับภาคีวิศวกร ต้องสอบขอใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งไปกระทบกับผู้สำเร็จการศึกษาด้านช่างที่ได้วุฒิคบ.แต่ไม่สามารถควบคุมงานได้ ทั้งที่ก่อนหน้าสามารถทำได้ เพราะได้สิทธิเทียบเท่าวิศวกรที่เรียนจบ วศ.บ.หรือวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต
ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะผู้ที่จบคบ.ได้แค่ภาคีพิเศษเท่านั้น หมายถึงเป็นวิศวกรได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถควบคุมงานทั้งระบบได้ จะทำได้ก็เฉพาะงานที่ตนเองถนัดและมีความชำนาญเท่านั้น อาทิ หากใครได้ภาคีพิเศษด้านก่อสร้างบ้านก็ได้คุมงานเฉพาะก่อสร้างบ้านเท่านั้น ไม่สามารถจะไปคุมก่อสร้างอาคารสูงได้ เรียกว่าทำได้จำกัด หากต้องการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมก็ต้องไปสอบให้ได้ภาคีวิศวกร
เมื่อสภาวิศวกรออกกฎระเบียบดังกล่าว โดยอ้างว่า เป็นไปตามพ.ร.บ.สภาวิศวกร ปี 2542 แต่ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.48 ศาลปกครองได้วินิจฉัยแล้วว่า การออกกฎของสภาวิศวกรไม่ถูกต้อง จึงทำให้สภาวิศวกรยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
ว่ากันว่า การประกาศของกระทรวงมหาดไทยสมัยเสธ.หนั่นยังไม่ได้ยกเลิกจึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สภาวิศวกรแพ้ก็เป็นได้ และการที่อยู่ๆก็ให้มีการสอบอาจจะถูกมองว่าเป้นการเลือกปฎิบัติ เพราะรุ่นก่อนๆไม่ต้องสอบ แต่ก็สามารถได้รับอนุญาต
จากการสอบถามไปยัง ประสงค์ ธาราไชย เลขาธิการ สภาวิศวกร ในเรื่องดังกล่าว เขาระบุว่า เป็นเรื่องจริงที่สภาวิศวกรออกมาตรฐานการสอบเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับ ภาคีวิศวกร โดยเขาให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการควบคุมคุณภาพวิศวกรและยกมาตรฐานวิชาชีพวิศวกร เพราะต้องรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภค อันเป็นไปตามกฎหมายในพ.ร.บ.สภาวิศวกร ปี 2542
“การอุทธรณ์ของสภาวิศวกร เราได้ประกาศไว้แล้วว่า เป็นการยื่นตามปกติ หลังจากที่อัยการสูงสุดให้คำแนะนำมา คณะกรรมการสภาวิศวกรได้ประชุมวิสามัญ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ยุติธรรม โดยไม่มีการกีดกั้น หรือหวังผลแพ้ชนะแต่อย่างใด”
เขายังอธิบายอีกว่า การยกมาตรฐานวิศวกรเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ เป็นหน้าที่ของสภาวิศวกร
“ทำยังไงเวลาไปทำงานให้ได้มาตรฐานไม่ให้เกิดผลเสียต่อสาธารณะ ซึ่งปกติผู้ที่จบช่างมาก็สามารถทำงานวิศวกรรมได้ ทำได้ทุกอย่าง ใครก็ทำได้ ช่างเทคนิคก็ทำได้ หากมีประสบการณ์ เพราะไม่ต้องควบคุม แต่ถ้าต้องการควบคุมก็ต้องไปสอบ”
นอกจากนี้แล้วแนวทางของสภาวิศวกรก็คือ เน้นเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งมี 15 ข้อ มีข้อหนึ่งที่ระบุว่า วิศวกรจะไม่ทำงานในด้านที่ตนเองไม่ชำนาญ
ผู้ที่ไม่ได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ต้น หรือเรียนมาแต่ไม่ใช่ด้านวิศวกรรมแต่มีประสบการมีความชำนาญ จะได้ ภาคีพิเศษ หมายถึง มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง ขณะที่ภาคีวิศวกรจะเน้นการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ครบสมบูรณ์ ซึ่งจะมีหลักวิชาการ ประสบการณ์และศาสตร์แขนงต่างๆที่สะสมมาตลอด 4-5 ปี
“แต่ทุกคนที่ต้องการภาคีวิศวกรจะต้องมาสอบ โดยไม่มียกเว้น”
แต่เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาก็คงต้องรอดูต่อไปว่า การอุทธรณ์จะฟังขึ้นหรือไม่
สำหรับคอนเซ็ปท์ของสภาวิศวกร เลขาธิการฯบอกว่า มี 4 ข้อคือ คุ้มครอง ควบคุม ส่งเสริมและบริการ ซึ่งในมาตรา 7 ระบุวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการคือ
1.ส่งเสริมการศึกษา-ประกอบอาชีพ
2.ความเจริญก้าวหน้าทางวิศวกรรม
3.ช่วยเหลือสังคม
ทำโครงการ CPD สร้างมาตรฐาน
ขณะเดียวกันสภาวิศวกรก็ได้ ผุดโครงการโครงการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่องหรือ CPD ย่อมาจาก Continuing Professional Development หรือ การพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์ของ CPD ก็คือ 1.เพื่อให้วิศวกรมีการปรับปรุงทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพในการทำงานให้อยู่ในระดับสูง 2.เพื่อรักษามาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ 3.เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสากลและการแข่งขันของตลาดงานในอนาคต
สำหรับการทำกิจกรรม CPD ของประเทศโดยรวมคือ ทำกิจกรรมเพื่อมุ่งปรับปรุงหรือเพิ่มคุณภาพในสิ่งที่วิศวกรโดยรวมทั้งประเทศมีจุดอ่อน และทิศทางดังกล่าวอาจจะต้องมีการกำหนดเป็นระยะเวลาและเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ถ้าวิศวกรในประเทศโดยเฉลี่ยมีปัญหาเรื่องภาษาก็ต้องกำหนดให้ภาษาเป็นหนึ่งในทิศทางที่ต้องสนับสนุนให้มี หรือทำกิจกรรม CPD เป็นต้น
ทั้งนี้สภาวิศวกรจะประเมินทิศทางของกิจกรรมที่ควรสนับสนุนระยะเวลา 2 ปี เริ่มช่วงแรก ปี พ.ศ. 2549 - 2550 ทั้งหมด 5 รายการดังนี้ 1.ความปลอดภัย 2.มาตรฐาน 3.พื้นฐานและการพัฒนาวิศวกรรม 4.คอมพิวเตอร์ 5.ภาษา
ปัญหาภายนอกรุมเร้า มหา’ลัยแย่งงาน
ไม่เพียงแต่ปัญหาภายในแวดวงวิศวกรปะทุขึ้นมาเท่านั้น แต่ปัญหาภายนอก็รุมเราไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การแข่งขันชิงงานกันระหว่างสถาบันการศึกษากับคนในวงการวิชาชีพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ รัฐบาลมีนโยบายมหาวิทยาลัยออกจากนอกระบบ ทำให้ต้องหาเลี้ยงตนเอง ซึ่งปรากฏว่า งานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมมักจะถูกองค์กรมหาวิทยาลัยคว้างานไปเกือบหมด โดยที่บริษัทเอกชนหมดสิทธิ์แข่งขัน
ว่ากันว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากภาครัฐและรัฐบาลเองที่ต้องการเอาชื่อมหาวิทยาลัยไปการันตี จึงพบเห็นบ่อยครั้งที่รัฐมนตรีมักจะเรียกให้สถาบันการศึกษาไปรับงาน ไม่ว่าจะเป็นงานที่ปรึกษาก่อสร้าง งานสำรวจพื้นที่ งานทดสอบระบบ ต่างๆเป็นต้น
“ตอนนี้วิชาการกับวิชาชีพกำลังทับซ้อนกันอย่างมาก ไม่มีใครห้ามไม่ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไปทำงานวิจัย ไปทำกับองค์กรเอกชน เพราะการไปทำจะได้นำข้อมูล องค์ความรู้ใหม่ๆมาสอนนักศึกษา ทุกคนสนับสนุน แต่ไม่ควรที่จะเอาสถาบันไปรับงาน เนื่องจากคนอื่นแข่งขันไม่ได้ อีกทั้งสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”แหล่งข่าว ในวงการ เล่าถึงปัญหารุมเร้าวิศวกร
e-Auction ทำลายรับเหมา
นอกจากนี้ยังมีกรณีล่าสุดที่คนในวงการวิศวกรเห็นว่า เป็นตัวทำลายระบบประมูลโดยเฉพาะวงการรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลกระทบมากสุด หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสั่งให้การประมูลงานตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องประมูลด้วยวิธี e-Auction ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายกฯว.ส.ท.ให้ความเห็นว่า การประมูลที่รัฐเรียกว่าระบบ Reverse Auction คือประมูลราคาต่ำสุดจะได้งานก่อสร้าง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการฮั้วประมูลได้ เพราะจะล็อกคนเข้าประมูลได้ รวมทั้งราคาที่ต่ำนั้นก็ไม่ได้วัดว่าจะได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าราคากลาง ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาการทิ้งงานได้เช่นกัน
“การประมูลก่อสร้างแตกต่างจากประมูลรถยนต์ แอร์ ที่มองเห็นได้ แต่การก่อสร้างมีความซับซ้อนมากกว่า มีรายละเอียดที่เป็นเทคนิค การใช้e-Auction จะไม่ช่วยแก้การคอร์รัปชั่นได้ แต่อาจจะทำให้การคอร์รัปชั่นแนบเนียนกว่าด้วย”
นอกจากนี้แล้ว เขายังกังวลการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท ว่าอาจจะอยู่ในมือยักษ์ใหญ่รับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ไม่ได้กระจายไปยังผู้รับเหมารายกลาง รายเล็ก ซึ่งทำให้ต้องดิ้นรนไปหางานในต่างประเทศ อาทิ การ์ต้า ปากีสถาน ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม
“รายใหญ่มีโอกาสได้มากกว่า เพราะมีผลงานก่อสร้างมาแล้ว รายกลาง รายเล็กหมดโอกาส และยิ่งจะให้ไปซับคอนแทกซ์ ก็ไม่มีใครต้องการ เพราะจะถูกตัดราคาจากบริษัทที่ได้งานประมูลลงไปอีก จนเหลือแต่กระดูก จึงไม่มีใครเอา ตอนนี้วงการรับเหมาไทยมีปัญหามาก”นายกฯว.ส.ท.กล่าว
เขายังมองว่า การเกิดขึ้นของเมกะโปรเจกต์ควรที่จะให้เกิดประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ต้องการแค่เกิดการจ้างงานอย่างเดียว ควรจะเอาข้อมูลมาดูกันว่า ได้ประโยชน์อย่างไร เมื่อโครงการเริ่มแล้วก็คงจะไม่มีใครต่อต้านได้ แต่ต้องรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แฉการเมือง-การศึกษา
ต้นเหตุวิศวกรด้อยคุณภาพ!
ถึงจุดเสื่อมหนักวงการวิศวกรรม แจงการเมือง-การศึกษาผิดพลาด ทำมาตรฐานคุณภาพวิศวกรตกต่ำ แม้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นต้นก็ไม่อาจการันตี เตือนผู้จ้างระวังจ้างวิศวกรสร้างบ้าน-อาคารสูง และงานทาง มือไม่ถึง เสี่ยงพัง อันตรายถึงชีวิต
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนที่คิดจะสร้างสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ระดับเล็กอย่างบ้านเรือนไปจนถึงอาคารสูงเทียมฟ้าพร้อมจ่ายในราคาสูงกว่าเพื่อจ้างวิศวกรมาควบคุมการก่อสร้าง เพราะต้องการทั้งความทันสมัย และความปลอดภัย และยังมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาในการจ้างวิศวกรนั้นเราอาศัยใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมมาเป็นตัวการันตีคุณภาพของวิศวกรนั้น ๆ แต่วันนี้จะคิดแค่นั้นไม่ได้แล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดที่เรามิอาจมองข้ามได้คือเรื่องของความผิดพลาดในนโยบายการเมืองและระบบการศึกษา ที่ส่งผลโดยตรงกับการฉุดมาตรฐานคุณภาพวิศวกรลง!?
แหล่งข่าวในแวดวงวิศวกรรมกล่าวว่า การเรียนการสอนวิศวกรมี 2 ระดับด้วยกัน คือเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มุ่งมาเป็นวิศวกรโดยตรง จบแล้วได้วุฒิ วศ.บ.(วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต)กับการเรียนในระดับวิทยาลัย ที่จบแล้วจะได้วุฒิ คอ.บ. (ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต) และอศ.บ.(อุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต)ที่จบมาเป็นครูช่าง แต่เดิมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมนั้นคนที่มีสิทธิ์ได้มีเพียงผู้ที่จบได้วุฒิ วศ.บ.เท่านั้น
แต่ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคฟองสบู่โต ธุรกิจก่อสร้างบูม ประเทศไทยประสบปัญหาวิศวกรขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจเปิดช่องให้ผู้ที่จบ คอ.บ. และอศ.บ.สามารถได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ต้องสอบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสำคัญ
“การประกอบวิชาชีพวิศวกรรม มันคนละเรื่องกับการเรียนวิชาชีพ มันต้องอาศัยความชำนาญ และการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แต่คนที่เรียนจบครูช่างมาจะเรียนวิชาวิศวกรรมแค่ 7 ตัว ใช้เวลาเรียนเพียง 1 เทอม แต่ก็ไปประกอบอาชีพวิศวกรรม ขณะที่คนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยเขาต้องเรียนถึง 4 ปี คุณภาพของเด็กจึงไม่เท่ากัน”
ม.เอกชนให้เด็กสอบได้ 20% ผ่านฉลุย
นอกจากนี้ในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยก็ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของเด็กเช่นเดียวกัน โดยปัญหาเกิดจากมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งและสถาบันการศึกษาของรัฐบางที่ เลือกที่จะทำการตลาดกับหลักสูตรวิชาให้เรียนจบง่ายยิ่งขึ้น
“มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้สอนวิชาวิศวกรรมศาสตร์และอธิการบดีทะเลาะกันเนื่องจาก นักศึกษาวิชาวิศวกรรมทำคะแนนสอบได้แค่ 20% และอาจารย์ผู้สอนตัดสินว่าไม่ผ่าน ขณะที่ ทางอธิการบดีต้องการให้นักศึกษาที่มาเรียนสามารถจบได้ สามารถรับปริญญาสาขาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต แม้บางรายวิชาจะไม่สามารถทำคะแนนได้มากกว่า 20%”
ปัญหาสำคัญที่ตรวจสอบพบคือ อธิการบดีสถาบันนั้น เกรงว่าเด็กนักเรียนจะพากันลาออกไปเรียนสถาบันอื่น ที่มีหลักสูตรที่ทำให้จบง่ายกว่า และอาจส่งผลให้ในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป มีนักศึกษาที่เลือกเข้ามาเรียนในสถาบันนี้น้อยลง ทำให้ชื่อวิชาในสถาบันนี้มีชื่อวิชาเดียวกันกับมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง แต่เนื้อหาการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน และมาตรฐานการวัดความสามารถก็ไม่เท่ากัน
“คุณจะคิดยังไง ถ้าวิศวกรที่จะมาสร้างบ้านให้คุณคำนวณแม้กระทั่งเรขาคณิตเบื้องต้นก็ยังไม่ได้ บ้านคุณจะออกมาเป็นแบบไหน นี่ยังไม่คิดถ้าเขาได้ไปสร้างตึก 100 ชั้น”
ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเด็กที่มีวิชาความรู้และประสบการณ์ไม่มากพอ แต่ได้ใบประกอบอาชีพวิศวกรรมอย่างง่าย ๆ ทำให้วงการวิศวกรรมในเวลานี้ต้องสั่นสะเทือนอย่างหนัก เพราะชัดเจนว่ามาตรฐานคุณภาพของวิศวกรอาชีพตกต่ำลง
สภาวิศวกรบังคับเด็กสอบ-หวังดึงมาตรฐานขึ้น
สาเหตุนี้ทำให้องค์กรที่ควบคุมคุณภาพวิศวกร อย่าง สภาวิศวกรต้องรีบแก้ไขโดยด่วน มิฉะนั้นอาชีพวิศวกรจะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป รวมทั้งผลงานที่ก่อสร้างไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตกับคนจำนวนมากด้วย ในปี 2545 สภาวิศวกรจึงมีมติออกมาว่าใครต้องการจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไปนี้จำเป็นต้องผ่านการทดสอบ
โดยใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมนั้น มี 4 ระดับด้วยกัน คือ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ภาคีวิศวกร สามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกร
โดยระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ผู้ที่ขอใบอนุญาตระดับนี้ เป็นผู้ที่อาจเรียนมาน้อยแต่ประสบการณ์สูงมีความถนัดงานก่อสร้างด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งใบอนุญาตระดับภาคีวิศกรพิเศษนี้จะอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตทำการก่อสร้างได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งที่ขอไปเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นงานในระดับเล็ก ๆ เช่น สร้างสะพาน ถนน หรืออาคารขนาดเล็ก
ส่วนระดับภาคีวิศวกร เป็นระดับที่ผู้ที่ผ่านการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วศ.บ. คอ.บ. และ อศ.บ. (อุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต) สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ หากสถาบันการศึกษานั้น ๆ ได้รับการรับรองของสภาวิศวกร โดยปัจจุบันต้องทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ ยื่นขอใบอนุญาต รอผลการพิจารณา สอบ อบรม จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับภาคีวิศวกร ซึ่งระดับภาคีวิศวกรนี้มีอำนาจในการเซ็นต์แบบได้ทุกแบบ ต่างกับภาคีวิศวกรพิเศษที่จะก่อสร้างได้เฉพาะงานที่ถนัดเท่านั้น
จากนั้นหลังจากมีประสบการณ์ 3 ปี สามารถนำผลงานทั้งหมดในขณะที่ถือใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพควบคุมระดับภาคีวิศวกรรม สามารถมายื่นขอเลื่อนระดับเป็นสามัญวิศวกร และเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น สามารถขอเลื่อนระดับเป็นวุฒิวิศวกร โดยทุกขั้นตอนต้องทำการสอบเลื่อนระดับด้วย
อย่างไรก็ดี ในมติของสภาวิศวกรที่ระบุให้มีการสอบเพื่อได้ใบอนุญาตโดยเฉพาะในระดับภาคี แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรกระทำที่สุดเพราะสังคมให้การยอมรับ แต่ก็ประสบปัญหาในจุดของนักเรียนส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการสอบ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันในศาลปกครอง และศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินให้ฝ่ายโจทย์คือนักเรียนที่ไม่ต้องการทำการสอบชนะคดีไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทรณ์ของสภาวิศวกร ซึ่งต้องการให้มีการสอบในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรเพื่อให้มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากสังคม และกู้วิกฤตศรัทธาในวงการวิศวกรรมด้วย
“ตอนนี้วิศวกรที่ได้รับการรับรองทั้งหมดมีประมาณ 130,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่มาจากครูช่างที่ไม่ผ่านระบบการสอบขอใบอนุญาตแทบทั้งนั้น รู้ไหมว่าที่อาคารที่โคราชถล่มก็เป็นวิศวกรที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนพวกที่ขึ้นชื่อตามป้ายมีหลายครั้งก็ตรวจสอบพบว่าเป็นวิศวกรที่ไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยซ้ำ”
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลปกครองจะออกมาในทิศทางใด การที่ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้จ้าง จะใช้วิศวกรคนใดมาสร้างสิ่งก่อสร้างจึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าวิศวกรนั้น ๆ มีความชำนาญแค่ไหน เพราะ เพียงอาศัยแค่ใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมในระดับต้นๆ วันนี้คงใช้อ้างอิงไม่ได้ จนกว่าวงการวิศวกรรมจะปรับมาตรฐานตนเองกู้วิกฤตศรัทธาคืน!?
สุวรรณภูมิ ผลงานชิ้นเอก
ฤากระจกสะท้อนวงการวิศวะไทย!
วงการวิชาชีพวิศวกรรม ทุกคนคงปฏิเสธว่า สนามบินสุวรรณภูมิ คือแหล่งรวมของศาสตร์แห่งวิศวกรรมหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโยธา ไฟฟ้า การบิน เรียกได้ว่า สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นหน้าตาที่สำคัญของประเทศไทย!
หวั่นไม่ผ่านคุณสมบัติไอเอทีเอ
วงการวิชาชีพวิศวกรรม ได้มีการพูดคุยกันและหลายต่อหลายท่านได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการก่อสร้างและการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะก่อนที่จะเปิดทำการบินจริงจะต้องได้รับการตรวจสอบจากสถาบันจราจรทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไอเอทีเอ ซึ่งแหล่งข่าวเกรงว่าการเร่งสร้างสนามบินเพื่อเปิดใช้สนามบินให้ทันตามบัญชาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้น จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้
“มีการคุยกันและเกรงกันว่า ไอเอทีเอ จะไม่ผ่านในรอบแรกเพราะมาตรฐานของเราอาจไม่ตรงกับของเขา ถ้าเป็นอย่างนี้จะขายหน้าไปทั้งประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเห็นว่ายังไม่ควรรีบเปิดเพราะจะทำให้การแก้ปัญหาแย่ลงไปอีก แต่ไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้าน เพราะถ้าค้าน หรือเสร็จไม่ทันนายกฯสั่งก็ตาย เหมือนกัน ”
อย่างไรก็ดีประเด็นปัญหาที่ฝ่ายวิศวกรรม เป็นห่วงคือเรื่องการทรุดตัวของรันเวย์ เพราะหากรันเวย์ทรุดตัวลงอย่างเท่ากัน จะไม่เกิดปัญหา แต่ปัจจุบันเกรงกันว่าจะเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน เพราะที่มีการพูดถึงการทรุดตัวโดยอ้างทฤษฎีว่าการปรับปรุงดิน โดยใช้ระบบ PVD นั้นจะมีการทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณ 90% ในช่วง 1-2 ปีแรก ส่วนอีก 10% จะใช้เวลานับสิบปี
“ไม่มีใครรู้ว่า การทรุดตัวของรันเวย์ ที่ 1และ 2 เป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นไปตามทฤษฎีจะเกิดอะไรขึ้นกับสนามบิน ขณะที่พวกเราเชื่อกันว่าการทรุดตัวที่เกิดขึ้นขณะนี้น่าจะอยู่ระหว่าง 50-60 % เพราะระยะเวลาในการปรับปรุงดิน 2 รันเวย์ผ่านมา 9 ปีแล้ว”
แหล่งข่าว ระบุว่า หากการทรุดตัวไม่เป็นไปตามทฤษฎี จะเกิดปัญหาขึ้นและต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสนามบินในต่างประเทศ ก็มีปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่ เซียงไฮ้ ของจีน สนามบินที่ ญี่ปุ่น หรือที่ เนเธอร์แลนด์ เพียงแต่ว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
“เราเชื่อในเทคนิค PVD หากย้อนดูวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ เป็นไปตามที่แบบกำหนดหรือไม่ เช่นทรายที่ ก่อนหน้านี้มีข่าวเรื่องการทุจริตถมทราย นอกจากไม่ได้สเปกแล้ว ราคายังแพงกว่าราคาตลาด นี่ก็อาจเป็นสาเหตุให้การทรุดตัวไม่ได้ตามทฤษฎี ”
ดังนั้น บรรดาวิศวกรต่างพากันจับตาดูและอวยพรให้การทดลองใช้สนามบินสุวรรณภูมิโดยเที่ยวบินแอร์บัส 380 ที่มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารบทม. ร่วมด้วยในวันที่ 29 กันยายนนี้ ประสบความสำเร็จและอย่าได้มีปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน เพราะวันนี้ถือเป็นหน้าตาของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากจะมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศมารอทำข่าวกันเนื่องแน่นซึ่งจะแพร่ภาพไปทั่วโลก
“สุวรรณภูมิ” ห้องรับแขกหรูของประเทศ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชาชูปถัมภ์ ระบุว่า สนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นเครื่องสะท้อนความก้าวหน้าของวงการวิศวกรรมศาสตร์แลละสถาปัตยกรรมของเมืองไทย เพราะ เป็นโครงการที่คิดและวางไว้ในช่วงที่ประเทศไทยเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด ดังนั้นห้องรับแขกอย่างสนามบินเมื่อเวลาแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนสนามบิน จึงต้องโก้หรู ทันสมัย จึงให้สถาปนิกออกแบบสนามบินให้เหมือนเป็นเมืองในโดมแก้ว
เมื่อเข้าไปภายในอาคารแล้วจะมีแสงสวางจากธรรมชาติสาดส่องเข้ามา ในอาคารก็แทบจะมองไม่เห็นเสาออกมาให้รกหูรกตา เพราะเสาแต่ละต้นห่างกัน 200 เมตร ถือเป็นความท้าทายทางด้านวิศวกรรมอย่างยิ่ง ส่วนระบบความปลอดภัยก็ใช้ระบบ CTX ถือเป็นระบบตรวจเช็คที่ปลอดภัยที่สุดในเอเชีย ชนะแม้กระทั่งญี่ปุ่น หรือรันวย์ ก็ออกแบบไว้ถึง 4 รันเวย์ เรียกได้ว่าผู้โดยสารมา 100 ล้านคน ก็สามารถรับได้ อีกทั้งตั้งอยู่บนทำเลที่ดีที่สุด
นอกจากนั้นเทคโนโลยีต่างๆที่อยู่ในสนามบินกว่า 90% ถือได้ว่าเกิดขึ้นด้วยน้ำมือคนไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันน้ำท่วม แผ่นดินทรุด เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับเทคโนโลยีระดับโลก เพราะวิศวกรไทยที่เกี่ยวข้องได้ไปเรียนรู้งานจากต่างประเทศมาด้วย
หาความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัย
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ต่อตระกูล มีความเห็นว่าก่อนที่จะทดลองวิ่งในวันที่ 29 กันยายนนี้ ควรมีการทำ Risk management หรือการบริหารความเสี่ยงของสนามบินเสียก่อน ควรมีการระดมความคิดกันว่า จะมี อันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้นอะไรบ้าง และจะมีการควบคุมและจัดการกับปัญหาอย่างไร เพราะระบบความปลอดภัย การตรวจสอบภายในอาคาร ความปลอดภัยบนรันเวย์เหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่นำสมัยรูปแบบใหม่ที่พนักงานๆยังไม่คุ้นเคย
“ ยกตัวอย่างเช่นระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อควบคุมทั้งระบบตารางการบินและสายพาน ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน เมื่อเกิดติดขัดจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร เราควรจะเตรียมตัวไว้ เหมือนกับเราซื้อคอมพิวเตอร์มา แรกๆก็ต้องศึกษาและดูวิธีการใช้งานก่อน สนามบินก็เหมือนกันก็ต้องศึกษาก่อนเช่นกัน”
เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อม การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ !
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|