"ประภัสร์"ไม่สนเศรษฐกิจพัง ยันเดินหน้าถลุงงบ5แสนล้าน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 7 สาย ที่เพิ่งได้ไฟเขียวจากรัฐบาลให้เร่งดำเนินการ

และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้นจากวงเงินที่เคยกำหนดไว้ จากประมาณ 5.6 แสนล้านบาท พุ่งทะลุถึง 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับแผนของรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายรวมถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาประเมินภาพรวมโดยเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเดินเข้าสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ โดยเฉพาะปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และได้เสนอมาตรการเร่งด่วนแก่รัฐบาล 2 มาตรการ

ประกอบด้วย การลอยตัวราคาน้ำมันทันทีในเดือนก.ค.นี้ และลดขนาดเมกะโปรเจ็กต์ลง เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ สร้างความเสียหายได้ง่าย ถ้าทำโดยไม่รอบคอบ และไม่มีการถ่วงดุลกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นปัญหาได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ยิ่งต้องระมัดระวังในการผูกมัดประเทศกับแผนการลงทุนระยะยาว ถ้าผูกมัดในโครงการเหล่านี้ไปแล้ว และสถานการณ์ทางด้านดุลต่างประเทศแย่ลง จะทำให้ปรับตัวเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่สนใจคำทัดทานจากนักวิชาการ ยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการระบบรางอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่ามีหน้าที่ทำตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ที่สำคัญรฟม.ไม่ได้มีหน้าที่หาเงิน แต่มีหน้าที่ใช้เงิน เรื่องการเงินให้ไปถามสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง เพราะคลังมีหน้าที่หาเงินมาให้รฟม.ใช้

ประภัสร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทีดีอาร์ไอออกความเห็นนั้น อยู่ที่วิธีการคิดของทีดีอาร์ไอว่ามองในระยะสั้น หรือระยะยาว คิดถึงความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด และกล้าที่จะลงทุนหรือเปล่า แม้จะตัดงบเมกะโปรเจ็กต์ในวันนี้ แต่ในอนาคตก็ต้องสร้างรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า 1.จะสร้างเมื่อไร 2.เมื่อสร้างแล้ว ราคาน้ำมันที่สูงอยู่แล้ว และจะสูงขึ้นอีกในวันข้างหน้าจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ และ3.ค่าก่อสร้างในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน

ดังนั้น สิ่งที่รฟม.ดำเนินการอยู่ในวันนี้ คือการทำเพื่ออนาคต และเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในทางอ้อม ตัดการเสียโอกาสในอนาคต เช่น โปรเจ็กต์หนองงูเห่า ที่มีการคิดไว้ตั้งแต่ในอดีต แต่มองว่าเป็นการลงทุนที่สูง ทำให้วันนี้สูญเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว และเสียความเป็นฮับหรือการเป็นศูนย์กลางทางการบิน

"สิ่งที่นักวิชาการพูดคงบอกไม่ได้ว่าถูกหรือไม่ถูก ขึ้นอยู่กับว่านักวิชาการมองในระดับใด มองกว้างแค่ไหน นักวิชาการพูดแต่ทฤษฎี แต่ไม่ได้ดูว่าสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร"

ส่วนเรื่องการบริหารงบการดำเนินงานเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดการ หน้าที่ของรฟม. คือ เบิก-จ่ายงบประมาณและดำเนินงานให้ได้ตามแผน โดยให้เงินกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจ และได้สิ่งปลูกสร้างที่อำนวยความสะดวกกลับคืนมา

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 7 สาย แบ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4.25 แสนล้านบาท โดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง ส่วนระบบรถไฟฟ้า 1.37 แสนล้านบาท รัฐจะร่วมกับเอกชนเป็นผู้ลงทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.