|
ฟันธงแลนด์ฯไม่เชี่ยวธุรกิจธนาคาร นายแบงก์ชี้ต้องปรับตัวอย่างน้อย1ปี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์แลนด์ฯ เปิดช่อง "กสิกรไทย" ฉวยโอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อบ้านจากคู่แข่ง คาดกระทบฐานสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท ระบุ "แลนด์ฯ"เป็นมืออาชีพในธุรกิจอสังหาฯ ต้องใช้เวลาปรับตัวลุยธุรกิจแบงก์อย่างน้อย 1 ปี ชี้แนวโน้มตลาดสินเชื่อบ้านแข่งเดือด ชูกลยุทธ์ดึงพันธมิตรจัดแคมเปญเจาะลูกค้าระดับบนก่อนขยายตลาดสู่ระดับกลาง
จากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หันมารุกตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดรวมมีการแข่งขันสูง และคาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อ ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มี บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านในกลุ่มของ แลนด์ฯ และบริษัทในเครือได้รับผลกระทบด้านฐานลูกค้าและยอดการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะลดลง เพราะหันไปใช้บริการสินเชื่อกับแบงก์ของแลนด์ฯ
ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากการรุกธุรกิจการเงินของ แลนด์ฯ ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารต้องสูญเสียรายได้ในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่ซื้อบ้านจากแลนด์ฯ และบริษัทในเครือ ที่มีสัดส่วนการปล่อยกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่มีอยู่กว่า 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 12-13% ของพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 500,000 ล้านบาท
ในขณะที่ธนาคารไทยพาณิย์ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าของแลนด์ฯ และบริษัทในเครือ 28% นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราการแข่งขันรุนแรงขึ้น เนื่องจากคาดว่าคู่แข่งรายใหญ่จะต้องหาฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยการดึงลูกค้าของธนาคารพาณิชย์รายอื่นเข้ามาทดแทนฐานลูกค้าที่สูญเสียไป ภายหลังจากแบงก์แลนด์ฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการในธุรกิจแบงก์ของกลุ่มแลนด์ฯ เป็นการเปิดช่องว่างให้ธนาคารได้มีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดโดยการแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่งรายอื่นๆ มากขึ้น เพราะเชื่อว่าแลนด์ฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีพื้นฐานและความชำนาญในธุรกิจแบงก์จะต้องใช้เวลาในการปรับตัวและจัดโครงสร้างการดำเนินงานอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งอาจจะเหลือฐานสินเชื่ออีกประมาณ 15,000 ล้านบาทให้ธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ได้ช่วงชิงกัน และถือว่าเป็นการเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์รายอื่นมีโอกาสขยายฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น โดยการแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่ง
ชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารกำหนดให้ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไปเป็นเดือนแห่งการส่งเสริมสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 1,000 ราย คิดเป็นวงเงินปล่อยสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท และจะนำกลยุทธ์ผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจมาใช้จัดแคมเปญ โดยเน้นการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า นำร่องด้วยการเจาะฐานลูกค้าระดับบนในกลุ่มพลาตินั่มก่อนที่จะขยายสู่ฐานลูกค้าในระดับกลางต่อไป
ปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาด 6% ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เป็นผู้นำตลาด ในขณะที่ไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งการตลาด 7% โดยธนาคารตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ในสิ้นปีนี้ และคาดว่าภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่า 7% โดยมียอดสินเชื่อกว่า 80,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 21,000 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 47 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อ 8,800 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามียอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว 11,748 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|