|
ไทยต้องคว่ำอินโดฯสู่ฮับสปา
ผู้จัดการรายวัน(24 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมผู้ประกอบการสปาไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หวังผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางสปาเอเชีย ล่าสุดเตรียมเข้าร่วมงานที่สิงคโปร์ “แอมเบียซ์ เอเชีย 2005” หวังใช้เป็นเวทีประตูการค้าธุรกิจสปาไทยไปยังนานาชาติ พร้อมเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์โอทอป “สปา เดคคอร์” คาดช่วยกระตุ้นรายได้เพิ่ม 20-30% ชี้สปาไทยเป็นรองเพียงอินโดฯในแง่ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรม ส่วนจุดแข็งของไทยอยู่ที่บริการและโนว์ฮาว ด้านธุรกิจสปาในไทยปีนี้คาดว่ายังโต 10% ขณะที่ปีแล้วโตสูงถึง 30%
นางสาวกรณ์สรวง ภิรมย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางสปาของเอเชีย (The Capital Spa of Asia) ดังนั้นทางสมาคมฯจึงต้องมีการวางแผนทางธุรกิจ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสปาไทยให้ดีขึ้นและเป็นผู้นำในตลาดเอเชียได้ อาทิ ได้มีการรวมองค์ประกอบของธุรกิจสปาเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสปา เซอร์วิส, สปาโปรดักส์ ,สปา เดคคอร์เรชั่น และสปา แอสเซสซอรี่ เป็นต้น จากนั้นเตรียมประสานงานไปยังภาครัฐและเอกชนในการร่วมผลักดันธุรกิจสปา
“ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้นเราจึงต้องทำให้คนต่างชาติสนใจและอยากมาใช้บริการสปาในไทย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เงินไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมทั้งในส่วนของรายได้ที่มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์สปา เช่น ของตกแต่ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการส่งออกของไทยยังไม่เป็นแบบแพคเกจ ที่ผ่านมาเราจะขายโนว์ฮาวและเทรด ดังนั้นทางสมาคมฯจึงต้องวางแผนในการเจาะตลาดด้วยการรวมธุรกิจสปาเข้าด้วยกันและนำเสนอออกเป็นในรูปแบบแพคเกจ”
ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ด้วยการเข้าร่วมงาน “แอมเบียนซ์ เอเชีย 2005” ที่สิงคโปร์ ซึ่งเวทีดังกล่าวนี้จะเป็นการเปิดตลาดธุรกิจสปาไทยไปยังตลาดต่างประเทศ โดยในงานดังกล่าวจะมีโซนไทยพาวิลเลียน มีเนื้อที่ประมาณ 216 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยสนใจเข้าร่วมงาน 17 ราย จากเป้าที่วางไว้ 20 ราย พร้อมกันนี้ในงานทางสมาคมฯเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “สปา เดคคอร์” ซี่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากภูมิปัญญาไทยหรือโอทอป อาทิ หม้อดิน,พาน ,กระบุง และตุ๊กตาเด็กไทย เป็นต้น เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดและยังช่วยสร้างรายได้ในระดับรากหญ้าของไทย
“การทำตลาดสปา เดคคอร์เราจะเน้นการประชาสัมพันธ์ก่อนในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเรายังมีผลิตภัณฑ์อีกมากที่จะเข้าร่วมสปา เดคคอร์ มองว่าตรงนี้ผู้ประกอบการและภาครัฐควรจะช่วยกันยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยคาดว่าสปา เดคคอร์จะช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 20-30%”
ทั้งนี้งานแอมเบียนซ์ เอเชีย 2005 ซึ่งเป็นงานนิทรรศการนานาชาติที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการด้านท่องเที่ยว โรงแรม สปา และสถานบันเทิงต่างๆ จัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก โดยงานนี้จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 30 ก.ย. -2 ต.ค. 48 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการซันเทค ประเทศสิงคโปร์ บนพื้นที่ขนาด 4,000 ตารางเมตร โดยมีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วม 200 แห่ง จาก 15 ประเทศ
ภายในงานยังประกอบไปด้วย 4 งานใหญ่ อาทิ 1. งานบริวเวอรี่ เอเชีย 2005 งานแสดงสินค้าและบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , 2.งานเอ็กเซกไลฟ์ เอเชีย 2005 งานแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ และอุปกรณ์กีฬาและสันทนาการ , 3.Indulge Asia 2005 งานแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อการสวมใส่และตกแต่งร่างกาย และ4. งานสปา เอเชีย 2005 งานที่รวมธุรกิจสปาทุกอย่าง คาดว่างานนี้จะมีผู้เข้าชมงานทั้งผู้ผลิตและซับพลายเออร์กว่า 10,000 ราย ในระยะเวลา 3 วัน
ชี้ผลิตภัณฑ์สปาไทยเป็นรองอินโดฯ
นายกสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย กล่าวด้วยว่า ภาพรวมตลาดสปาในเอเชียขณะนี้อินโดนีเซียถือเป็นผู้นำตลาดในแง่ความพร้อมทางด้านต่างๆ อาทิ วัฒนธรรมและบรรยากาศที่มีความเป็นธรรมชาติ รวมถึงผลิตภัณฑ์สปาของอินโดนีเซียถือว่าได้เปรียบไทยอยู่ แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องภายในประเทศของอินโดนีเซียทำให้ธุรกิจสปาไม่บูมเท่าที่ควร
ขณะที่ตลาดไทยในปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดสปาในแง่การบริการและโนว์ฮาวแล้ว ส่วนเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปายังสู้อินโดนีเซียไม่ได้ เนื่องจากผู้ผลิตและสปา โอเปอเรเตอร์หรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีความเข้าใจไม่ตรงกันและมีกรรมวิธีในการใช้ที่ผิด เป็นต้น อย่างไรก็ตามธุรกิจสปายังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงอยู่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขณะนี้มีหลายประเทศสนใจธุรกิจนี้ อาทิ สิงคโปร์, เวียดนาม, ฮ่องกง ,ไต้หวัน และญี่ปุ่น
“กลยุทธ์ที่จะทำให้ไทยแซงหน้าอินโดนีเซียได้ เราต้องมีการระดมในส่วนของการเรียนรู้ถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมสปา การศึกษาธุรกิจ และการเข้าถึงจุดเด่นของคนไทยที่ชอบความเป็นโฮสพิทอลลิตี้ เป็นต้น รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสปาของเอเชียอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับธุรกิจสปาในไทยปีที่แล้วมีมูลค่ากว่า 7,000 -8,000 ล้านบาทและมีอัตราการเติบโต 30% โดยปีนี้คาดการณ์ว่าธุรกิจสปาโตน้อยลงกว่าเดิมหรือประมาณ 10% เนื่องจากโดนผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ โรคซาร์ส และคลื่นสึนามิถล่มภาคใต้ ทำให้ธุรกิจสปาบางแห่งต้องซ่อมแซมและปรับปรุงส่วนที่เสียหาย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|