ถึงเวลาของ "eMaketing" ท่องเที่ยวออนไลน์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่โลกไซเบอร์เนทกำลังฮอต...ธุรกิจท่องเที่ยวคือขุมทรัพย์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในโลกของอินเตอร์เนท ซึ่งอนาคตถ้าผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังคงยึดถือแนวยุทธวิธีการตลาดแบบเดิมๆ ในที่สุดอาจทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยถูกกลืนโดยชาวต่างชาติ จนอาจไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว

3 ใน 4 ของมูลค่าตลาดโดยรวมของโลกธุรกิจออนไลน์ทั่วโลกมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 4 หมื่นล้านล้านบาท ขณะที่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ที่เกิดขึ้นมาและแตกดับไปก็ไม่น้อย แต่นั่นก็อาจไม่ทำให้ตลาดของโลกอินเตอร์เนทถึงกาลปาวสาน

การปรับตัวให้ร่วมสมัยทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่กำลังจะถูกพัฒนาเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะด้านท่องเที่ยวสามารถต่อกรแข่งขันกับต่างชาติได้

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าตัวเลขการสำรวจของผู้ใช้อินเตอร์เนทร้อยละ 70 เป็นการหาข้อมูลการท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นหาข้อมูลการเดินทางถึง 51% และใช้เดินทางกันจริงๆประมาณ 40%ทีเดียว

และกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเวปไซดชื่อดังโดยเฉพาะด้านท่องเที่ยวของเมืองไทยกลับเป็นชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ดอทคอม หรือ แพลนเนต ฮอลิเดย์ แต่ก็มีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำขึ้นมาเหมือนกัน อย่างเช่น เพลสชั่น เอเชีย ดอทคอม ซึ่งนับว่ายังน้อยเกินไป

และเพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสอดคล้องกับความต้องการและสามารถเทียบเคียงกับธุรกิจออนไลน์ในระดับสากลได้ พร้อมกับผลักดันสานต่อให้ eTourism นโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ประสบความสำเร็จ จึงเกิดแนวคิดหลักสูตรระยะสั้นเพื่ออบรมผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ภายใต้โครงการ eTravel Entrepreneur Intensive program ขึ้นมา โดยมีมหาวิทยลัยรังสิตเป็นผู้ดำเนินการจัดการอบรม

เกี่ยวกับโครงการนี้ จิดาภา จุลกศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้า บริษัท แบรนด์ ออฟ มาสเตอร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เรียกว่า eMarketing น่าจะถูกหยิบนำมาใช้ให้มากที่สุด

"เดิมผู้ประกอบการท่องเที่ยวของคนไทยไม่ค่อยสนใจกับโลกอินเตอร์เนท มากนัก เพราะคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวจึงไม่ต้องพึ่งโลกอินเตอร์เนท ขณะที่ต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียกลับใช้อินเตอร์เนทเข้ามาเป็นสื่อกลางและนับว่าค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จไม่น้อย"จิดาภา กล่าว

ด้วยศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วของเมืองไทย บวกกับแนวทางการตลาดที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิผลที่ค่อนข้างสูง สามารถให้บุคคลสัมผัสได้ จึงเป็นธุรกิจในรูปแบบใหม่ และน่าจะเป็นวิสัยทัศน์ของธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด

"การที่ต่างประเทศใช้ธุรกิจออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากนั้น เพราะแหล่งท่องเที่ยวของเขามีน้อย กลยุทธ์การตลาดจึงต้องเล่นกันแบบนั้น สำหรับประเทศไทยเรายังคงได้เปรียบด้านแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังประมาทเรื่องของการทำตลาดบนโลกยุคไฮเทค ดังนั้นเมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมาจึงนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ"จิดาภา กล่าวพร้อมกับเสริมว่า

ปัจจุบันจำนวนผู้เข้าอบรมเต็ม 100% แล้วโดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวร้อยละ 50 และอีก 50%เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่สนใจ และคาดว่าอย่างน้อยผู้ที่เข้าอบรม 50 คนรุ่นแรกกว่า 70% จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ออกไปประกอบธุรกิจทางออนไลน์ได้

ความพยายามของหลายกลุ่มที่ออกมาจัดทำโครงการอบรมนี้ต่างต้องการให้ ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดออกสู่ระดับโลกได้ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆแต่สิ่งที่จะได้รับไม่เล็กตามไปด้วย

อนาคตกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าแบบออฟไลน์ และแบบออนไลน์ จึงน่าจะเกิดปรากฎการแนวใหม่โดยเฉพาะแบบออนไลน์ที่นับวันจะมีคนเข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปัจจุบันตัวเลขคนไทยที่เข้าไปเปิดดูเวปไซด์เฉลี่ยอายุตั้งแต่ 15-25 ปี มีประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.