แผนยุทธการ TG ผนึกบางกอกแอร์เวย์สผลประโยชน์ที่ลงตัว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุดความอดทนมานานต่อภาวะขาดทุนเกือบ 100%ในเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนของการบินไทยมีอันต้องพักยกไป แต่จะให้ปิดฉากลาโรงคงเป็นไปไม่ได้แน่ การผลักดันให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ขึ้นมาบินแทนจึงเป็นยุทธวิธีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเส้นทางดังกล่าวไม่เคยสร้างเม็ดเงินให้เป็นกอบเป็นกำขึ้นมาเลย การจับมือร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่ธรรมดาของธุรกิจทั่วไปแต่ดูเหมือนจะไม่ธรรมดาของธุรกิจการบิน

วันนี้บางกอกแอร์เวย์กำลังคิดการใหญ่?...หรือการบินไทยกำลังหวังผลอะไรกันแน่?...

ฤดูแห่งการท่องเที่ยวมาถึงแล้ว การเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อขนส่งนักเดินทางให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและรวดเร็วจึงเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แน่นอนการบินไทยเป็นผู้ที่มีเส้นทางอยู่ในกำมือมากที่สุดย่อมได้เปรียบเสมอ แต่บางเส้นทางก็เหมือนหนามที่คอยทิ่มตำอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเส้นทางที่ขาดทุนมาโดยตลอดอย่าง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาคพื้นดินและสภาพอากาศส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการทำธุรกิจ ความพยายามต่อสู้เพื่อพยุงให้ธุรกิจดำเนินต่อไปจึงเป็นบทหนักที่การบินไทยต้องผจญมาโดยตลอด จนกระทั่งวันนี้ความอดทนแบกภาระขาดทุนก็มาถึงจุดสิ้นสุด

"เส้นทางนี้ยอมรับครับว่าขาดทุนมาโดยตลอด เราจึงต้องหาวิธีเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้และจะไม่ยกเลิกเส้นทางบินนี้เด็ดขาด"วสิงห์ กิตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวยอมรับพร้อมกับอ้างว่าจะนำเครื่องบินที่ใช้บินประจำอยู่ไปซ่อมด้วยผลประโยชน์บนความเหนื่อย

การเจรจาร่วมมือกันเพื่อให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์มาทำการบินแทนการบินไทยในเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ครั้งนี้ ยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะมีส่วนได้รับผลประโยชน์ หากมองไปถึงอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึง แม้ว่าเส้นทางดังกล่าวจะไม่สร้างรายได้เข้ามาเท่าไรนัก

รู้ทั้งรู้ว่าเส้นทางบินนี้ต้องเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่าจะสร้างรายได้เข้ามาแต่บางกอกแอร์เวย์กลับไม่มองเป็นเช่นนั้นตกลงยอมรับข้อเสนอของการบินไทยที่นับว่าหาไม่ได้อีกแล้วในช่วงเวลาแบบนี้

สิ่งที่บางกอกแอร์เวย์ได้รับนอกจาก เส้นทางบินไป-กลับ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน 25 เที่ยวบิน/สัปดาห์แล้ว คือ เส้นทางไป-กลับ เชียงใหม่-หลวงพระบาง 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์

เพื่อลดต้นทุนของการบินไทยเส้นทางทั้งสองนี้จึงใช้เครื่อง ATR 72 ของบางกอกแอร์เวย์ที่มีความจุ 70 ที่นั่ง และให้การบินไทยได้รับผลประโยชน์โดยการขายตั๋วให้

ขณะที่เส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์

บางกอกแอร์เวย์จะได้รับผลประโยชน์สุดคุ้มด้วยการขายตั๋วโดยสารให้กับการบินไทย และที่สำคัญเครื่องบินที่ใช้เป็นเครื่องจัมโบ้ 737-400 ของการบินไทยที่มีความจุถึง 149 ที่นั่งเสียด้วย

"การบินไทยก็ยังคงบินอยู่ทั้งสองเส้นทางคือ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต สัปดาห์ละ 70 เที่ยวบิน และ กรุงเทพฯ-กระบี่ สัปดาห์ละ 28 เที่ยวบินและไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนักเพราะเส้นทางดังกล่าวมีผู้โดยสารเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว"วสิงห์ กล่าว

TG เล็งผลเลิศ "สมุย"

ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณเหมือนจะบอกว่าการบินไทยกำลังจะทำลายกำแพงเพื่อเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดของ เส้นทาง สมุย ที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์หวงนักหวงหนาไม่ยอมแบ่งให้ใคร

วสิงห์ ยอมรับเหมือนกันว่ามีความเป็นไปได้ที่การบินไทยจะเจรจาร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ เพื่อขอทำการบินร่วม(Code Share)ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-สมุย โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน

"หากบางกอกแอร์ฯยอมให้การบินไทยทำการบินอย่างเต็มรูปแบบ ก็อาจจะขอเช่าใช้เครื่องบินของบางกอกแอร์ฯในการบินไปสมุย"วสิงห์กล่าว

จุดประสงค์ที่การบินไทยต้องการดูเหมือนจะสอดคล้องกับความต้องการของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ไม่น้อย

"ในอนาคตอาจเป็นไปได้ที่จะมีความร่วมมือเช่นนี้ เพราะทางเราก็เต็มใจที่จะให้การบินไทยมาลงในเส้นทางดังกล่าว แต่ทางผู้บริหารยังไม่ได้มีการเจรจากัน โดยเป็นเรื่องทางเทคนิคคงต้องมาดูข้อเสนอกันทั้งสองฝ่าย"ม.ล.นันทิกา วรวรรณ รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ กล่าวกึ่งรับกึ่งสู้ อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์น่าจะตัดสินใจรับข้อเสนอของการบินไทยได้โดยไม่ยากเย็นนักก็คือการเข้าไปรับสิทธิ การให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานประจำท่าอากาศยานเสียมราฐ-อังกอร์ของ บมจ.การบินไทย เป็นเวลาถึง 5 ปีเต็มเชกเช่นน้ำต้องพี่งเรือเสือต้องพึ่งป่า เมื่อการบินไทยได้เข้าไปให้บริการซ่อมบำรุงถึงกัมพูชา แน่นอนธุรกิจของทั้งสองเกี่ยวเนื่องกันจึงต้องมีการใช้บริการ และการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างบางกอกแอร์เวย์กับการบินไทยก็จะส่งผลดีให้ทั้งสองด้วยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.