เจาะธุรกิจบริการ "ซิลลิค ฟาร์มา" การตลาดธรรมดาที่ไม่ธรรมดา...


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจให้บริการคลีนิค และโรงพยาบาล รวมถึงร้านขายยาคือช่องทางในการทำตลาดยาและเวชภัณฑ์ที่สร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลจนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ในปีนี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ค้าคนกลาง "ซิลลิค ฟาร์มา"ได้มากถึง 17,500 ล้านบาท และดูเหมือนว่าการแข่งขันในปี 48 จะมีความเข้มข้นจนทำให้ผู้ประกอบการอย่าง "ซิลลิค ฟาร์มา"ต้องเร่งปรับขยายฐานทัพของตัวเองเพื่อรั้งตำแหน่งผู้นำจ่าฝูงให้จงได้ต่อไป

"ความไม่แน่นอนคือความไม่แน่นอน" คำนี้ยังคงใช้ได้เสมอกับการแข่งขันธุรกิจในยุคปัจจุบัน เชกเช่นเมื่อ 5 ปีก่อน ดีสแฮมท์ เคยผงาดขึ้นเป็นจ้าวแห่งผู้ค้าคนกลางตลาดยาและเวชภัณฑ์มาแล้ว แต่ในปัจจุบัน ซิลลิค ฟาร์มา กลับขึ้นมาแทนที่ผู้นำไปแล้วและสามารถผลักดันยอดขายภายในปี 47 นี้ให้มีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 20 ทีเดียว

รายได้หลักของธุรกิจจึงมาจากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและการขายสินค้าให้กับองค์กรต่างๆที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐบาลด้วย เพราะสินค้าประเภทเวชภัณฑ์นั้นต้องเป็นสินค้าที่ได้รับการอนุญาตด้วยเช่นกัน

"ในปี 48 บริษัทจึงคาดว่าจะรายได้ไว้ประมาณกว่า 20,500 ล้านบาท"มร.โรแลนด์ บรูฮิน กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด บอกและเล่าถึงเหตุผลให้ฟังว่า จากอัตราการเติบโตของตลาดในอนาคตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่จะมีเพิ่มขึ้นด้วยทำให้มั่นใจว่าในปีหน้าจะสามารถกวาดรายได้เท่าที่ตั้งเป้าเอาไว้

ขณะเดียวกันการให้บริการคือหัวใจหลักของบริษัทที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ และได้รับผลตอบแทนจากการขายคือค่าจ้างหรือค่าธรรมเนียมที่ถูกกำหนดขึ้นหลังจากที่ส่งสินค้าให้กับลูกค้าแล้วหักยอดเงินบางส่วนออกมาก่อนที่จะมอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่อไป

"ยิ่งมีผู้ผลิตมากเท่าใดเราก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องหาผู้ผลิตที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเป็นพันธมิตร"มร.โรแลนด์ กล่าว

ความแตกต่างของการทำตลาด

การดำเนินธุรกิจบริการของ ซิลลิค ฟาร์มา ที่มีมากว่า 55 ปี จนสามารถสร้างยอดลูกค้าได้มากถึง 13,000 รายตลอดจนก้าวขึ้นมาผงาดเป็นผู้นำได้นั้น กลยุทธ์ในการทำตลาดของบริษัทจึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาแน่

มร.โรแลนด์ เล่าให้ฟังว่า ลูกค้าที่เป็นพันธมิตรสามารถสั่งกับบริษัทและสามารถสั่งโดยตรงกับผู้ผลิตก็ได้ จากนั้นทางซิลลิคฯจะเป็นตัวกลางมีหน้าที่กระจายสินค้าส่งให้

"บริษัทผู้ผลิตที่ติดต่อให้เราทำหน้าที่กระจายสินค้าให้นั้น ส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือในการขนส่ง ดังนั้นซิลลิค ฟาร์มาจึงเหมือนเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ"มร.โรแลนด์ กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตจะเป็นคนทำตลาดเองโดยที่ทาง ซิลลิค ฟาร์มา มีองค์ประกอบอื่นๆในการขยายสินค้าไปยังลูกค้า ปัจจุบันมีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าขึ้นแห่งใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจด้วยเช่นกัน

มร.โรแลนด์ ยังกล่าวอีกว่าการทุ่มเม็ดเงินในการสร้างศูนย์แห่งใหม่ขึ้นมานั้น เนื่องจากมองถึงอนาคตในระยะยาวที่จะทำให้ธุรกิจให้บริการของบริษัทมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้นด้วย รวมทั้งเป้าที่ตั้งไว้ในปี 2553 ที่จะถึงมีการคาดการณ์ไว้ว่าบริษัทจะต้องทำยอดรายได้มากถึง 40,000 ล้านบาท

"นี่เป็นรายได้ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น"มร.โรแลนด์ กล่าวการตอกย้ำความเชื่อมั่นของ ซิลลิค ฟาร์มา ในการลงทุนครั้งนี้ใช่ว่าจะเป็นการพัฒนาเชิงบวกเพียงด้านเดียว ขณะที่คู่แข่งขันอย่าง ดีสแฮมท์ และ ยูเอช ซัมมิท คงจะนิ่งนอนใจไม่ได้เป็นแน่ ถึงแม้ว่าช่องว่างระหว่างรายได้ของแต่ละบริษัทจะห่างกันก็ตาม

ภาพการแข่งขันของตลาดยาและเวชภัณฑ์ จึงดูไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจทั่วไปอาจเป็นเพราะการทำตลาดที่ค่อนข้างจะมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจจะเป็นคนทำตลาดและจัดจำหน่ายเอง ขณะที่ธุรกิจประเภทเวชภัณฑ์และยาจะมีผู้ค้าคนกลางเป็นฟันเฟืองที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อเป็นปัจจัยหลัก

และด้วยเม็ดเงินหมุนเวียนที่มีมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ทำให้เป็นที่หมายปองจนนำไปสู่การพัฒนาระบบต่างๆสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดภายใต้กระแสการแข่งขันที่คาดว่าจะทำให้ดูมีสีสันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่...ไม่แน่นะอีก 5 ปีข้างหน้าเราอาจจะเห็นผู้นำตลาดหน้าเดิมหรือเปลี่ยนหน้าก็ได้ใครจะไปรู้...

ฝันให้ไกลของ"ซิลลิค ฟาร์มา"ที่ต้องไปให้ถึง...

ธุรกิจของ ซิลลิค ฟาร์มา มีศูนย์บัญชาการกลางที่ประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าปี 2548 จะมีรายได้เฉพาะในแถบเอเชียประมาณ 160,000 ล้านบาท โดยมีประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้นำด้านรายได้ รองลงมาคือประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยมีรายได้เป็นอันดับที่สาม ขณะที่อันดับสี่คือไต้หวัน และอันดับห้าคือประเทศจีน

ด้วยระยะเวลาเพียง 15 ปีในการทำตลาดของ ซิลลิค ฟาร์มา สำหรับประเทศไทย ถ้าเปรียบกับฟิลิปปินส์ที่มีอายุขัยในการทำตลาดถึง 95 ปีจึงทำให้ มร.โรแลนด์ ขุนพลประจำประเทศไทยกล่าวยอมรับถึงการผลักดันให้ประเทศไทยสร้างรายได้เป็นผู้นำในแถบเอเชียว่า เป็นเรื่องที่ยาก เพราะความแตกต่างในเรื่องขนาดของตลาด

ผิดกับประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่และเพิ่งเปิดตลาดคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ตลาดจีนน่าจะเป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและขยับขึ้นมาในอันดับต้นๆได้เช่นกัน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้จัดอยู่ในอันดับสามของเอเชียก็ตาม แต่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเช่นกัน

"การทำธุรกิจคือต้องวิ่งให้เร็วบวกความสมาท์ และฉลาด"คือกลยุทธ์ที่ มร.โรแลนด์ กล่าวถึงจุดที่ทำให้ธุรกิจ ซิลลิค ฟาร์มา ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าได้ในปัจจุบัน แต่ความฝันล่าเม็ดเงินของเขาในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นจริงหรือไม่คงต้องใช้เวลาเป็นบทพิสูจน์...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.