|

ได้เวลา "ไทเกอร์ แอร์"ตะปบโลว์คอสแอร์ไลน์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แค่เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้นในการเปิดเส้นทางบินแถบภาคใต้ประเทศไทยของ สายการบิน "ไทเกอร์ แอร์"ก็ผงาดขึ้นมาประกาศกลยุทธ์บินตรงจากประเทศสิงคโปร์มุ่งสู่ดินแดนล้านนาอย่างเชียงใหม่ในราคาที่แสนจะถูกแบบสุดๆ หวังชิมรางเป็นเส้นทางแรกในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันเตรียมขยายเปิดเส้นทางบินไปยังประเทศในแถบบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
ความต้องการเป็นผู้นำด้านสายการบินต้นทุนต่ำของ ไทเกอร์ แอร์ เริ่มมีมากขึ้นหลังจากที่สามสายการบินโลว์คอสของไทยอย่างเช่น นกแอร์,แอร์เอเชีย และโอเรียนท์ไทย ต่างโดนมรสุมจากโฆษณาเกินจริงทำให้ต้องถูกสั่งเชือดจากสำนักคณะกรรมารคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ปรับเป็นเงินนับแสนบาทนั้น แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนระหว่างการยื่นอุทรณ์ก็ตาม แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นยังคงสร้างความสับสนในเรื่อง "ราคา"ค่าโดยสารต่อผู้บริโภคไม่น้อย
กอปรสนธิสัญญาการเปิดเสรีทางการบินในวันนี้ทำให้ความฝันของสายการบินต้นทุนต่ำแห่งเมืองลอดช่องกลายจะ เป็นจริงขึ้นมาทุกที
"ราคาตั๋วโดยสารครั้งนี้นับว่าถูกที่สุดของการเดินทางไปต่างประเทศ และถ้ารวมรายการทั้งหมดของการเดินทางไปสิงคโปร์จะมีราคาเพียง 1,800 บาทบวกๆเท่านั้น" โทนี่ เดวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทเกอร์ แอร์เวย์ส พร้อมกับเสริมอีกว่า ไทเกอร์ แอร์จะไม่ประสบปัญหาเหมือนกับสายการบินอื่นด้านการโฆษณาเกินจริง เพราะได้ใช้ประสบการณ์จากการเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปมาใช้ดำเนินการบริหารจัดการโดยได้ศึกษาเกณฑ์ของ สคบ.แล้ว
"ผมมั่นใจว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน"โทนี่ ยังคงยืนยันเช่นนั้น
ดันจุดเด่นเป็นจุดขาย
ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ของสายการบินต้นทุนต่ำภายในประเทศเริ่มเข้มข้นข้นเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันการต่อสู้กับต้องพบอุปสรรคปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคจนทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมาในที่สุด ขณะเดียวกันการเปิดเสรีทางการบินทำให้สายการบินต้นทุนต่ำจากต่างประเทศสบช่องเตรียมขยายเส้นทางบินเข้ามาเจาะตลาดโดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆของประเทศ
ไทเกอร์ แอร์ แม้ว่าจะเป็นสายการบินที่เพิ่งเข้ามาดำเนินการไม่ถึงปี สำหรับประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่สายการบินแห่งนี้กำลังคืบคลานเข้ามาคือการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีราคาถูกที่สุดกว่าสายการบินอื่น สงครามธุรกิจโลว์คอสแอร์ไลน์ในประเทศจึงไม่ใช่แค่การแข่งขันเพียงสามสายการบินต่อไปอีกแล้วอย่างน้อยก็มีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสายการบิน และอนาคตอันใกล้คาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกหลายสายการบินอย่างแน่นอน
นอกจากการทำโปรโมชั่นด้วยราคาตั๋วที่ต่ำมากของ ไทเกอร์ แอร์ ยังคงมีเรื่องของจุดขายที่นำมาเสริมทัพจนกล้าพอที่จะทำให้กลุ่มลูกค้าเชื่อมั่นถึงการให้บริการนั่นก็คือ การใช้เครื่องบินแอร์บัสรุ่นใหม่ล่าสุด ผนวกกับการการันตีเวลาออกเดินทางที่ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเครื่องบินก็จะต้องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า อีกทั้งยังมีแหล่งเงินทุนหนาพร้อมกล้าที่จะลงทุนซื้อเครื่องบินโดยมาจากกลุ่มนายทุนชาวสิงคโปร์ถึง 49% และส่วนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ
"เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถต่อสู้กับธุรกิจโลว์คอสแอร์ไลน์ได้อย่างเต็มตัว"โทนี่กล่าว พร้อมกับเสริมอีกว่า ปัจจุบันสายการบินมีแผนการเพิ่มเส้นทางบินไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยบินตรงจากสิงคโปร์ไปยัง โฮจิมินน์ ,ฮานอย ,มะนิลา,คลากส์ และ มาเก๊า โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้คือครบ 12 เดือนจะต้องมีลูกค้าเดินทางกว่า 1 ล้านคน
ฟาดฟันกันสุดฤทธิ์
ตัวเลขที่ตั้งเป้าหมายของ ไทเกอร์ แอร์ ถูกใช้มาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจการบินโลว์คอสแอร์ไลน์ของไทยไม่น้อย เพราะนั่นอาจหมายถึงตัวเลขของกลุ่มลูกค้าแต่ละสายการบินที่จะถูกแย่งชิงไปนั่นเอง การต่อกรเพื่อแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสายการบินจึงมีออกมาให้เห็นกันเป็นระยะๆ
เริ่มกันที่ สายการบินโอเรียนท์ ไทย ที่มี อุดม ตันติประสงค์ชัย นำทัพออกมาเผยว่า ปีนี้วันทูโกมีแผนรองรับการแข่งขันโดยจะมีให้ความสำคัญกับการรุกตลาดในประเทศให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินเดิมให้มากขึ้นอีกด้วย
"ปัจจุบันเราเดินหน้าหาพันธมิตรเข้ามาร่วมมือทางธุรกิจเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้บริโภคตลอดและจะดำเนินต่อไป"อุดม กล่าว
ขณะเดียวกันสายการบิน แอร์ เอเชีย ยังคงหยิบกลยุทธ์เรื่องของราคามาเป็นจุดขาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่เปิดให้บริการและประสบความสำเร็จในการดึงลูกค้าได้ดี พร้อมกันนี้ได้มีการเปิดจุดบินใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
ทัศพล แบเลเว็ลด์ ซีอีโอของ แอร์เอเชีย บอกถึงกลยุทธ์ในปีนี้อีกด้วยว่ามีแผนที่จะเช่าเครื่องบินแอร์บัส เอ320 มาเพิ่มอีกประมาณ 5-6 ลำ และคาดว่าน่าจะมาให้บริการได้พร้อมกับการเปิดจุดบินใหม่ในปลายปี 48 นี้
ด้าน พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กลับมองว่า กลยุทธ์ในปีนี้น่าจะมาเน้นเรื่องราคาโปรโมชั่นออกเป็นช่วงๆ เนื่องจากลูกค้ายังคงยึดติดกับจุดขายตรงนั้นไปแล้ว ขณะเดียวกันก็หาช่องทางการทำตลาดใหม่ๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขายเพิ่มขึ้น
"เราร่วมมือกับอิออนจัดทำแพคเกจราคาประหยัดขึ้นมา โดยลูกค้าจะชำระเงินในระบบเงินผ่อนนานสูงสุดถึง 12 เดือนเลย"พาที กล่าว
การเปิดเสรีทางการบินได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างสายการบินต้นทุนต่ำไม่น้อย เพราะสิ่งหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นด้วย "ราคา"ตั๋วเครื่องบินที่ถูกสุดกลับถูกปิดกั้นไม่ให้ลงโฆษณาอีกต่อไป ขณะที่คู่แข่งขันจากต่างประเทศเริ่มมีบทบาทเข้ามาแย่งตลาดด้วยการเปิดเส้นทางบินตรงเช่นนี้ เราอาจจะเห็นภาพการแข่งขันของธุรกิจการบินประเภทโลว์คอสภายใและรอบๆประเทศไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงและชัดเจนมากขึ้นก็ได้
ต้นเหตุการถูกปรับของสามสายการบินต้นทุนต่ำไทย
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2547 การโฆษณาเพื่อสร้างกระแสให้คนเข้าไปใช้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง แน่นอนสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาคือ "ราคา"เรียกว่าราคาตั๋วใครถูกกว่าย่อมได้เปรียบ และนั่นคือที่มาของคำโฆษณาและสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคไม่น้อย "ผู้จัดการรายสัปดาห์"จึงรวบรวมข้อความในโฆษณาที่สร้างปัญหาให้กับสามสายการบินต้นทุนต่ำจนก่อให้เกิดการสั่งปรับเป็นเงินนับแสนบาทในปัจจุบัน
สายการบินโอเรียนท์ไทยมีผู้ร้องเรียนว่า บริษัทได้มีข้อความโฆษณาว่า กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ 880 บาททุกที่นั่ง ทุกเที่ยว ราคาเดียว ไม่ต้องจอง ซึ่งผู้ร้องเข้าใจว่าเมื่อรวมค่าภาษีสนามบิน ค่าประกันภัย และค่าธรรมเนียม รวมกันเป็นเงิน 1,035 บาท แต่เมื่อจองตั๋วพนักงานคิดราคา 1,454 บาท โดยบริษัทให้เหตุผลว่าต้องเก็บในรอบเย็นเท่านั้น และทำให้คณะอนุกรรมการติดตามสอดส่องเห็นว่าเป็นข้อความเท็จและทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ขณะที่สายการบินแอร์ เอเชีย นั้นมีผู้บริโภค ได้จองตั๋วเครื่องบินจากนครราชสีมา-กรุงเทพ(ปัจจุบันเลิกทำการบินแล้ว)ในราคา 170 บาท เมื่อเดือนก.ค.47 และได้รับการยืนยันเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นบริษัทได้โทรศัพท์แจ้งว่าต้องยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว เพราะไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากต้นทุนค่าน้ำมันสูง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ลูกค้ารายหนึ่งได้นำสัมภาระและอุปกรณ์กอล์ฟที่มีน้ำหนักรวม 14.2 กิโลกรัม ติดตัวไป ซึ่งตามโฆษณาไม่ต้องจ่ายค่าระวางเพิ่ม เพราะน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม แต่เมื่อขึ้นเครื่องถูกพนักงานจุดตรวจให้ชำระค่าระวางเพิ่มอีก 500 บาท
เรื่องนี้แอร์เอเชียได้ชี้แจงว่า เกิดจากความเข้าใจผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบที่ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ใหม่ และได้คืนเงินให้กับลูกค้าแล้ว อย่างไรก็ตามคณะกรรมการติดตามสอดส่องเห็นว่าราคาตั๋วที่โฆษณามิใช่ราคาตามที่จ่ายจริง แม้ว่าบริษัทได้หมายเหตุ เงื่อนไขรายละเอียดไว้แล้ว แต่เป็นตัวอักษรที่เล็กจึงทำให้เข้าใจผิด
สำหรับกรณีของสายการบินนกแอร์นั้น บริษัทได้ใช้ข้อความโฆษณาว่า กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ราคาเที่ยวละ 598 บาท แต่เมื่อจองจริงพนักงานแจ้งว่ามีราคา 1,300 กว่าบาท หรือกรณีที่ได้จองตั๋วผ่านเว็บไซด์ด้วยการจองในครั้งแรกที่ชำระผ่านบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่า และระบบข้อมูลแจ้งว่าไม่สามารถจองได้ จึงได้จองอีกครั้ง แต่ต่อมาธนาคารซิตี้แบงก์เรียกเก็บเงินค่าตั๋ว 2 ครั้ง และที่สำคัญบริษัทสกาย เอเชีย แจ้งว่าไม่มีนโยบายยกเลิกการจองหรือคืนเงินให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามในที่สุดบริษัทก็ได้คืนเงินเพราะยอมรับในความผิดพลาด
ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือการโฆษณาราคาต่ำและปัญหาบริการไม่ดี การลงโทษของสามสายการบินต้นทุนต่ำครั้งนี้ของสำนักคณะกรรมารคุ้มครองผู้บริโค(สคบ.)จึงน่าจะทำให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงไปในแนวทางที่ดีขึ้น และหากบริษัทใดยังไม่ยอมปฏิบัติตามครั้งต่อไปเชื่อว่าบทลงโทษน่าจะหนักขึ้นอีก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|