แข่งขันเดือดโรงแรมย่านรัชดา ปรับเปลี่ยนเชนบริหารท้าชน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดเส้นทางบนถนนรัชดา ณ วันนี้ที่คราคร่ำไปด้วยแหล่งธุรกิจและบันเทิงมากมาย ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายเริ่มส่อเค้าที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะธุรกิจด้านโรงแรมที่กำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทุกรูปแบบหยิบเอาการตลาดแบบถึงลูกถึงคนเข้ามาหวังชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด ชื่อนี้คงไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไรนักเพราะเป็นเชนใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่การเปิดตัวแบบไม่ธรรมดาของกลุ่มโรงแรมนี้ดูจะสร้างสีสันความเพิ่มร้อนแรงต่อธุรกิจโรงแรมไม่น้อย ด้วยการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รีแบรนดิ้งใหม่ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้นบาททีเดียว

การสร้างภาพลักษณ์ถือเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่กลุ่มผู้บริหารโรงแรมสวิทโฮเต็ล พยามนักหนาที่จะปูพรมทำให้คนรู้จักชื่อภายใต้โลโก้ใหม่ที่ถูกเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มจากกิจกรรม Goes to the top ที่ถูกจัดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มๆมีทั้งวงดนตรีและการแสดงโดยเฉพาะทอล์คโชว์จากบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน

จากนั้นจึงดำเนินต่อด้วยกิจกรรม Hello Bangkok ใช้เหล่าศิลปินดาราที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมทำการโปรโมตแจกของตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงเส้นทางย่านธุรกิจอื่นๆอีกด้วย

ขณะเดียวกันกิจกรรมต่อเนื่องแบบ Mobile Suite ถูกจัดให้มีขึ้นด้วยการนำรถบรรทุกมาจัดสร้างและตกแต่งให้เป็นห้องพักจำลอง โดยเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางต่างๆในย่านธุรกิจเช่นกัน

ปิดท้ายด้วยกิจกรรม Grand Opening ที่ถูกจัดขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่กิจกรรมทั้งสามได้แล้วเสร็จ

"กิจกรรมดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับวงการธุรกิจโรงแรมไทย ดังนั้นการที่สวิสโฮเต็ล นำมาเสนอครั้งนี้จึงนับว่าได้สร้างกระแสการแข่งขันที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและตรงที่สุด"จันทิชา มหาดำรงค์กุล กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ โรงแรม สวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ กล่าวพร้อมกับเสริมอีกว่า

โรงแรมได้ทำการเปลี่ยนชื่อโรงแรมเมอร์ชั่น คอร์ท ณ อาคาร เลอคองคอร์ด กรุงเทพฯ เป็น โรงแรมสวิสโอเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารให้เป็นระบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นโรงแรมแรกในโลกของเครือสวิสโฮเต็ลที่ปรับเปลี่ยน ซึ่งจะใช้การบริหารที่คล่องตัวในแบบฉบับของไทยมากขึ้น โดยมีระยะเวลาบริหาร 10 ปี

"ที่ผ่านมาโรงแรมได้มอบให้บริษัท ราฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ทเข้ามาบริหาร ในชื่อโรงแรมเมอร์ชั่น คอร์ท ณ อาคาร เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ แต่ต่อมานโยบายการบริหารของราฟเฟิลส์ ที่ต้องการให้การบริหารโรงแรมในเครือมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น จึงได้ตกลงที่จะยกระดับโรงแรมเมอร์ชั่นคอร์ทในเครือทั้งหมด เป็นกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทในเครือสวิสโฮเต็ล ตามนโยบายทางการตลาดของกลุ่ม" จันทิชา กล่าวและมั่นใจว่า

หลังการรีแบรนด์คาดว่าจะช่วยเพิ่มตลาดนักธุรกิจจาก 60% เป็น 70% ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกเรือของสายการบินจะลดจาก 20% เป็น 10% และมีอีก 20% เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยคาดว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้น หลังการยกระดับโรงแรม จะทำให้สามารถเพิ่มค่าห้องพักด้วยเช่นกัน และทำให้กำไรเพิ่มจากปี 2547 ที่มีราว 140 ล้านบาท เป็น 180-200 ล้านบาทในปี 2548

ทั้งหมดน่าจะมาจากความอิสระในการบริหารการจัดการที่เป็นระบบแฟรนไชน์รวมถึงความสะดวกสบายในด้านการคมนาคมและใกล้กับแหล่งบันเทิงต่างๆอีกด้วย

"ฟอร์จูน"คลื่นใต้น้ำ

การโหมทำโปรโมชั่นของธุรกิจโรงแรมในช่วงนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการเปิดตัวและทำกิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มสวิสโฮเต็ล กำลังสร้างกระแสการแข่งขันให้มีความรุนแรงมากขึ้นย่านถนนรัชดาโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในระดับเดียวกันอย่าง "ฟอร์จูน"คงจะนิ่งเฉยไม่ได้แน่ กลยุทธ์ทุกอย่างจึงถูกก่อตัวขึ้นมาภายใต้กระแสของการแข่งขันที่รุนแรง การทุ่มทุนกว่า 75 ล้านบาทของกลุ่มฟอร์จูนเพื่อรีแบรนดิ้งใหม่ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ขณะที่การแข่งขันด้านการตลาดเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น

ฟอร์จูน กำลังติดต่อดึงกลุ่มมืออาชีพอย่างแอคคอร์ กรุ๊ป เข้ามาบริหารจัดการ แต่คาดว่าน่าจะใช้ชื่อแบรนด์เมอร์เคียว โดยจะเปลี่ยนชื่อเป็น แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ในปลายปี48 นี้

การชิงเปลี่ยนชื่อใหม่และสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองของเชน สวิสโฮเต็ล จึงนับว่าเดินนำไปเพียงก้าวหนึ่งในโรงแรมระดับเดียวกัน เพราะการดึงเชนแอค์คอร์ ให้เข้ามาบริหารจัดการโรงแรมฟอร์จูนครั้งนี้นอกจากจะเป็นการท้าชนอย่างชัดเจนแล้ว แอคคอร์ยังเป็นเชนบริหารที่มีประสบการณ์รวมถึงเครือข่ายฐานลูกค้าทั่วโลกที่มีอยู่ในมือเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

นอกจากนี้การเข้าบริหารโรงแรมฟอร์จูน ของแอคคอร์ ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการรุกขยายเครือข่ายโรงแรมเมอร์เคียวในภูมิภาคเอเชียด้วย หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ แอคคอร์ได้ดำเนินการบริหารโรงแรมในเครือ 2 แห่งในภูมิภาคนี้ ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ร็อกซี่ ปาร์ค ประเทศสิงคโปร์ และโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟีนิกซ์ ย็อกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

แม้ว่าทั้งสองกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะมีฐานลูกค้าอยู่ในมือส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าประชุมสัมนาที่เป็นคนไทยก็มีความหมายไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองกลุ่มธุรกิจโรงแรมกำลังเร่งปรับปรุงห้องประชุมให้มีขนาดความจุได้ปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ธุรกิจโรงแรมคือสินค้าประเภทหนึ่งเป็นโจทย์ที่หาคำตอบได้ยากมากเนื่องจากเป็นการให้บริการ ไม่ว่าการต่อสู้ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจจะมีความเข้มข้นมากเท่าใด แต่ที่แน่นอนที่สุดผลที่ออกมาจะตกไปอยู่กับผู้บริโภคเสมอ

5 ปีกับเมอร์ชั่นคอร์ทถึงสวิสโฮเต็ล

2 ธันวาคม 2542 ตระกูลมหาดำรงค์กุล ที่มี ดิลก มหาดำรงค์กุล เป็นแกนนำริเริ่มก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นย่านถนนรัชดาภายใต้ชื่อ เมอร์ชั่นคอร์ด โฮเต็ล แอท เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ด้วยความที่ไม่ชำนาญพอกับธุรกิจด้านโรงแรมที่ต้องทำตลาดและเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ จึงต้องจ้างเชน ราฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เข้ามาบริหารจัดการ

ปัจจุบันเชน ราฟเฟิลส์ อินเตอร์ฯได้ซื้อกิจการโรงแรมและรีสอร์ทภายใต้ชื่อสวิสโฮเต็ล เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเชนราฟเฟิลส์ อินเตอร์ฯ มีผลทำให้โรงแรมในกลุ่มราฟเฟิลส์ อินเตอร์ทั้งหมดต้องเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมสวิสโฮเต็ล ทันที ขณะเดียวกันเชนราฟเฟิลส์ อินเตอร์ฯยังคงให้ความเชื่อมั่นเจ้าของโรงแรมและผู้บริหารของบริษัทเลอ คองคอร์ด โฮเต็ล จำกัด ดำเนินการบริหารงานในระบบเฟรนส์ไชน์เป็นแห่งแรกในโลก ภายใต้ชื่อ สิวสโฮเต็ล และเป็นที่มาของโรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ซึ่งนับจากเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบันนับได้ว่ากลุ่มมหาดำรงค์กุลใช้เวลานานกว่า 5 ปีที่ประกอบธุรกิจโรงแรมจนถึงขั้นได้เป็นเฟรนไชส์ "สวิสโฮเต็ล"และเป็นแห่งแรกของโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.