เทคโนโลยีธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจทุกแขนง

โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้แข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อการส่งเสริมศักยภาพตลาดธุรกิจท่องเที่ยวอย่างได้ผลจึงต้องอาศัยพลังความคิดและการประสานการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางและทิศทางร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์(องค์การมหาชน)หรือ SIPA ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะทำงาน TTE Working Group (TurismTechnology Exchange)ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำการตลาดทาง Internet ของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จึงได้ริเริ่มสร้างโครงการ Turism C-Commerce ขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้แข็งแกร่ง

Turism C-Commerce เป็นชุมชนที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยชุมชนนี้รวมกันด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือต้องการเสนอสินค้าและบริการให้กับลูกค้าครอบคลุมไปทั่วโลก ชุมชนนี้จะร่วมกิจกรรมผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เนตและทำรายการด้วยวิธีดั้งเดิม หรือด้วยคอมพิวเตอร์

องค์ประกอบหลักมีสองประการคือ ประการแรกมีระบบการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ขณะที่ประการที่สองคือมีระบบติดต่อเพื่อเจรจาทางธุรกรรมและทำรายการได้

C-Commerce เป็นคำที่ต้องเน้นว่าสมาชิกในชุมชนธุรกิจท่องเที่ยวนี้ จะเป็น Travel agent หรือธุรกิจท่องเที่ยวเอง ต้องการร่วมมือกันช่วยกันขยายสินค้าและบริการให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายให้มากที่สุด ด้วยวิธีขายต่อเนื่องหรือด้วยการทำ Packaging

โดยนักท่องเที่ยวจะสามารถหาข้อมูล จองที่พัก ร้าน อาหาร สปา บริการสุขภาพได้โดยผ่านทางอินเตอร์เนตที่จัดทำขึ้นสำหรับโครงการนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ที่จะมีรายชื่อในการค้นหา Search Engine ของ Website นี้

“C-Commerce”กับประโยชน์ที่ได้รับ

กลุ่ม Travel Agent ตัวแทนขายจะมีสินค้าและบริการให้ลูกค้าเลือกมากขึ้นสามารถทำ Packaging ที่เหมาะสมกับลูกค้าเป้าหมายสามารถเปลี่ยนแปลงแพ็คเกจได้บ่อยครั้งขึ้น และมีความหลากหลายทางเลือก สามารถสรรหาสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับราคาเป้าหมายได้

กลุ่มผู้ประกอบการ มีช่องทางการขายมากขึ้น ทั้งขายตรง ขายผ่านตัวแทน และผ่านผู้ร่วมค้า คือระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกันในรูปแบบ ของ Barter นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนราคาได้เหมาะสมทันท่วงที สามารถบริหาร Last Minutes Sales ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มนักท่องเที่ยว มีความสะดวกในการสรรหาสินค้าและบริการ รวมทั้งการจัดทำแพ็คเกจที่ตรงตามเงื่อนไขของตนเอง มีสินค้าและบริการให้เลือกมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.