“บางกอกแอร์ เวย์”รุกแพ็กเกจสะสมไมล์เอาใจแฟนพันธุ์แท้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หมอกควันการแข่งขันของธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ(โลว์แฟร์)ที่ขับเคลื่อนออกมาเป็นระลอกจนฝุ่นตลบอยู่ขณะนี้ ส่งผลให้ บางกอกแอร์เวย์ ที่ขยับหนีไปเป็นบูทิคแอร์ไลน์ ไม่สามารถหยุดนิ่งเฉยต่อไปได้ ความพยายามที่จะสร้างความแตกต่างเพื่อฉีกหนีคู่แข่งขันจึงมักเริ่มมีให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

อาริญา ปราสาททองโอสถ คือตัวเลือกที่ถูกส่งมาดูแลด้านการตลาดและการขาย เล่าให้ฟังว่า แม้ว่าความชัดเจนของคำว่าบูทิคแอร์ไลน์จะสร้างภาพได้ไม่มากนักก็ตาม แต่สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือการให้บริการทั้งบนเครื่องและภาคพื้นดินก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าสร้างความแตกต่างจากสายการบินโลว์แฟร์ทั่วไป

“รูปแบบการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้สายการบิน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ราคา และ ความสะดวกสบายในการเดินทาง”อาริญา กล่าว

ปัจจุบันการขยายเส้นทางที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์เปิดให้บริการนอกจากในประเทศแล้วต่างประเทศยังคงมีเพิ่มขึ้นเป็นระยะโดยเฉพาะประเทศจีน ขณะเดียวกันได้เตรียมรวบรวมสถิติข้อมูลของลูกค้าไว้แล้ว โดยมีแผนที่จะนำเสนอโปรแกรมสะสมไมล์สำหรับผู้ที่ใช้บริการบ่อย คาดว่าจะทำสามารถดำเนินการได้ในต้นปี 2549

“ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจเริ่มเดินทางกันบ่อย ทั้งเส้นทางภายในประเทศและต่างประเทศจุดนี้เองที่ทำให้เราต้องสร้างโปรแกรมสะสมไมล์ขึ้นมาเพื่อมารองรับตลาดตรงนี้และคาดว่าน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการประจำ”อาริญา กล่าว

กลยุทธ์สะสมไมล์ถึงแม้จะมีลักษณะบริการคล้ายกับรูปแบบของการบินไทยตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายคือนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่เดินทางประจำ แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ราคาและด้วยเส้นทางที่มีการบุกเบิกเปิดตลาดใหม่จึงน่าจะเป็นจุดขายที่ทำให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามา

อาริญา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าจุดยืนของธุรกิจการบินต้องขึ้นอยู่กับ ราคา และความถี่ของเส้นทางบิน ซึ่งแต่ละสายการบินจะมีลักษณะรูปแบบกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน การหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องของการแข่งขันด้านราคาจึงต้องเกิดขึ้น

“ทุกสายการบินคือคู่แข่งขัน แล้วแต่ว่าผู้โดยสารจะเลือกใช้บริการสายการบินของใคร แต่บางครั้งผู้โดยสารต้องการบินไปกับสายการบินอื่นเราก็ต้องให้บริการเช่นกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนลูกค้าเมื่อถึงคราวจำเป็น”อาริญา เล่าถึงการผูกมิตรสานสัมพันธ์กับคู่แข่งเมื่อต้องแลกเปลี่ยนลูกค้า

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีผลกระทบบ้างหลังจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มแถบทะเลอันดามัน แต่เส้นทางหลักที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำคือเส้นทาง...สมุย ส่วนเส้นทางที่หยุดบินอย่างไม่มีกำหนดคือเส้นทางไป หมู่เกาะมัลดิฟส์ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยเดินทางไปท่องเที่ยวทำให้ต้องหยุดบิน กอปรราคาน้ำมันที่พุ่งถีบตัวสูงขึ้นอีกด้วย

“การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจการบินจึงต้องหายุทธวิธีแก้ไขปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไป ตัวอย่างที่เห็นคือหยุดบินในบางเส้นทาง ซึ่งมีเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในแต่ละปี”อาริญา เผยถึงการปรับยุทธวิธีทางตลาดเมื่อจำเป็นต้องทำ

ภาพการเคลื่อนไหวธุรกิจการบินที่เกิดขึ้นแม้ว่าทุกสายการบินจะมีการปรับตัวกันฟาดฟันด้วยกลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาถึงวัตถุประสงค์เดียวกันคือขายจำนวนที่นั่งให้ได้มากที่สุด ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเพียงแต่ว่าลูกค้าจะพอใจใช้บริการของใครเท่านั้น แน่นอนการสปีดหนีคู่แข่งขันไปหนึ่งก้าวคือหนทางเพื่อความอยู่รอดและบางกอกแอร์เวย์คือสายการบินหนึ่งที่กำลังทำเช่นนั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.