Tourism Radioท่องเที่ยวเทรนใหม่บนคลื่นหน้าปัดวิทยุ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือสบช่องยื่นขอกรมประชาสัมพันธ์จัด “Turism Radio”สร้างความแตกต่างบนคลื่นหน้าปัดวิทยุ ประเดิมยึดเชียงใหม่เป็นสถานีนำร่อง “ดินแดนในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก” วาดฝันอนาคตเป็นสถานีเอนเตอร์เทรนสองภาษาแบบครบวงจร

ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการเป็นสินค้าที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องได้เป็นกอบเป็นกำทั้งในรูปแบบที่สัมผัสได้ อาทิโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และบริการอื่นๆ ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่หยิบใช้สินค้าประเภทนี้มาจัดทำรายการวิทยุ หวังสร้างความแตกต่างจากรายการวิทยุทั่วไปเพื่อใช้เป็นสถานีต้นแบบในการนำเสนอข้อมูลด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่างจริงจัง

จักรกฤษณ์ หาญวิชัย ผู้จุดประกายวิทยุท่องเที่ยวและการจราจรภายใต้คลื่นสถานี 102.75 เมกกะเฮิร์ต เล่าให้ฟังว่า จากการศึกษาพบว่าตลาดมีความต้องการอะไรและจุดอ่อนจุดแข็งของคลื่นวิทยุนั้นอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกันทิศทางของนโยบายภาครัฐที่ให้การสนับสนุนเรื่องของท่องเที่ยวและสุขภาพมีบทบาทมากขึ้น การใช้ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่แล้วพร้อมกับดึงมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพเพื่อทำการตลาดจึงมีบทสรุปของการจัดทำรายการวิทยุประเภทท่องเที่ยวออกมา

“ปัจจุบันรายการวิทยุทั่วไปจะเปิดเพลงให้ความบันเทิงพร้อมกับมีสาระแทรกเข้ามาโดยดีเจจะเป็นคนหามาเล่าไม่มีการกำหนดเป็นภาพรวมของสถานีที่ชัดเจน ขณะเดียวกันรูปแบบที่ถูกกำหนดรายการขึ้นมาจึงต้องมีภาพลักษณ์และจุดยืนที่แน่นอน การนำเสนอรายการท่องเที่ยวและจราจรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้”จักรกฤษณ์ กล่าว

ปักธงรบหาแนวร่วม

การเปิดคลื่นวิทยุใหม่บวกกับภาวะของการแข่งขันสูงทั้งจังหวัดเชียงใหม่กว่า 177 คลื่นสถานี และด้วยข้อจำกัดของแรงส่งคลื่นที่มีไม่เกิน 20 กิโลเมตร ทำให้การปั้นรายการใหม่โดยเฉพาะเรื่องของท่องเที่ยวบนหน้าปัดของสถานีจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ

ทอจันทร์ นเรศจักรพันธ์ ขุนกระบี่ที่ถูกวางตัวในการวางแผนการตลาดของคลื่น 102.75 เม็กกะเฮิร์ต เล่าถึงกลยุทธ์ที่วางไว้ว่า ปัจจุบันข้อมูลที่มีอยู่ในมือส่วนใหญ่จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำให้มีข้อมูลเชิงลึก และนั่นคือจุดเด่นที่ถูกนำมาใช้ในรายการวิทยุ

“ตัวอย่างเช่น ประเพณีพิงไฟพระเจ้า ในอำเภอแม่แจ่ม ที่บางคนอาจไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อน เราก็มีข้อมูลส่วนนี้เก็บไว้และพร้อมที่จะเผยแพร่ให้คนได้รับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีนี้ เพื่อสืบสานให้คนรู้จักรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้”ทอจันทร์ กล่าวพร้อมกับเสริมว่า

ปัจจุบันมีการประสานงานจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแลกเปลี่ยนพร้อมส่งและรับข้อมูลข่าวสารท่องเที่ยวรวมทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณีให้กันและกัน โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดล้านนาในภาคเหนือตอนบนที่มีอยู่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ,เชียงราย แม่ฮ่องสอน, แพร่ ,น่าน, ลำปาง, ลำพูนและ พะเยา ที่ทำยุทธศาสตร์ขึ้นมารวมกันสร้างฐานตัวเองให้แข็งแรงจากนั้นจึงจะขยายไปยังแถบภูมิภาคอื่น

นอกจากนี้การใช้ดีเจหน้าใหม่เข้ามาจัดรายการคือแผนการตลาดที่ถูกกำหนดไว้เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างจากสถานีวิทยุทั่วไป โดยเซ็ตให้ดีเจแต่ละคนอยู่ในกรอบและสร้างความโดดเด่นด้านความถนัดที่ไม่เหมือนกัน อาทิ ความถนัดด้านแหล่งท่องเที่ยว หรือความถนัดด้านร้านอาหารและบริการ เป็นต้น

ทอจันทร์ เล่าต่ออีกว่า การนำเสนอจึงต้องใช้ดีเจเป็นคู่เพื่อให้ข้อมูลที่ลึกและสามารถจัดรายการได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะการทำรายการแต่ละครั้งดีเจต้องทำการบ้านหนักซึ่งต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลในแต่ละวันพร้อมกับเตรียมวางแผนงานในการนำเสนอไปพรีเซ้นท์ให้ที่ประชุมบอร์ดฟัง ซึ่งกว่าจะได้ออกอากาศต้องใช้เวลานานนับเดือน

รุกการตลาด

ด้วยศักยภาพของอุปกรณ์สถานีที่ทุ่มทุนกว่า 5 ล้านบาทนับว่าเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง กอปรลูกค้าที่จะมาเป็นพันธมิตรร่วมเพื่อลงโฆษณา ทอจันทร์ กล่าวว่าต้องศึกษาข้อมูลการตลาดถึงจุดดีจุดด้อยอย่างชัดเจนพร้อมดูถึงความต้องการของลูกค้า เพราะการลงโฆษณาในสถานีวิทยุคลื่นท่องเที่ยวต้องมีอะไรที่ให้ได้มากกว่าแค่ลงโฆษณาในแต่ละครั้ง

“เหมือนกับเราเป็นเอเย่นต์ซี่กลุ่มหนึ่งที่ทำแผนการตลาดให้กับลูกค้าแบบครบวงจร ซึ่งบางครั้งอาจแนะนำให้ลูกค้าไปลงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกันเพื่อให้ลูกค้าทำการประชาสัมพันธ์แบบทั่วถึง และนี่คือยุทธวิธีที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเร็วขึ้นที่จะลงโฆษณากับเรา”ทอจันทร์ กล่าว

ขณะเดียวกันการให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาเองคงเป็นไปได้ยาก จุดนี้เองที่ ทอจันทร์ บอกว่ากลยุทธ์การชิงความเป็นหนึ่งและต้องพัฒนาตัวเองให้อยู่ในใจลูกค้าตลอดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำ ปัจจุบันดีเจทุกคนต้องออกทำตลาดพบลูกค้าเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่พักโรงแรม ร้านอาหาร หรือสุขภาพเกี่ยวกับสปา โดยนำแนะนำตัวพร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ฟรีในรายการแต่ละช่วงเพื่อสร้างคอนเนกชั่นที่ดีสำหรับลูกค้าในอนาตค

“ปัจจุบันลูกค้าก็แฮปปี้และเปิดคลื่นรับฟังกันพอสมควร ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายไปในตัว เรียกว่าการทำตลาดแนวนี้ทำให้เราได้ทั้งข้อมูลที่ต้องการและกลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมายไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญกิจกรรมเพื่อสังคมเราประชาสัมพันธ์ให้ฟรีตลอด”ทอจันทร์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.