ศึกโปรโมชั่นสายการบินไปภูเก็ต...ใครดีใครอยู่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบัน ภูเก็ต ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 40 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 4 แสนคน ทำให้สายการบินจากต่างประเทศต้องหยุดทำการบินไปแล้วถึง 4 สายการบิน ขณะเกิดวิกฤติแต่“นกแอร์”สายการบินภายในประเทศกลับสร้างโอกาสก่อนใครเพื่อนหลังบินเดี่ยวโฉบลูกค้าด้วยโปรโมชั่นใช้รางวัลล่อใจ ปฏิเสธร่วมแคมเปญยักษ์“ลดทั้งเกาะ เที่ยวทั้งเมือง”เล่นเอาสายการบินทั้ง 4 ต้องงัดยุทธวิธีแบบฉบับของตัวเองออกมาใช้หวังกระตุ้นยอดขาย

“Save my ass…Fly my plane…Win my car”แคมเปญใหม่ของนกแอร์ที่มี พาที สารสิน ซีอีโอกระโดดมาใส่ชุดนกกางปีกทักทายแถมพ่วงท้ายด้วยรางวัลใหญ่รถยนต์มิสซูบิชิ แลนด์เซอร์ที่จะนำมาจับรางวัลหาผู้โชคดีที่เดินทางไปกับนกแอร์สร้างกระแสให้คนอยากเดินทางไปเที่ยวภูเก็ต

นัทพร ทิตติยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของนกแอร์ บอกถึงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมแพคเกจ “ลดทั้งเกาะ เที่ยวทั้งเมือง”ว่า ขณะที่สายการบินในประเทศทั้งหมดร่วมมือกันยกเว้น นกแอร์ เพราะโปรโมชั่นแจกรางวัลที่กำหนดขึ้นมาทำก่อนที่จะมีการออกแคมเปญนี้ เพื่อรองรับตลาดช่วงโลซีซั่น โดยลูกค้าจะได้รับคูปองเมื่อจองตั๋วผ่านระบบต่างๆที่มีอยู่ของนกแอร์ ซึ่งจะได้รับคูปอง 1 ใบต่อคนต่อไฟล์

“ทุกวันศุกร์ และอาทิตย์ จะมีพริตตี้บนเครื่องเปิดเพลงเต้นรำและถ้าลูกค้าที่เดินทางไปด้วยเข้าร่วมสนุกในกิจกรรมที่จัดบนเครื่องบินก็จะแจกคูปองให้อีกหนึ่งใบ”นัทพร กล่าว

แคมเปญที่จัดสามารถดันยอดขายจองตั๋วทั้งที่เป็นแบบแพ็คเกจและแบบทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นประมาณกว่า 70% ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีการวางเป้าหมายไว้เพียงแค่ร้อยละ 60 เท่านั้น ขณะที่ราคาตั๋วยังคงขายในราคาปกติไม่มีการลดแต่อย่างใด

“แพคเกจขายในราคา 3,500 บาทได้ตั๋วทั้งไปและกลับพร้อมที่พัก 3 วัน 2 คืน ขณะที่ราคาแบบทั่วไปถ้าไปกลับจะอยู่ในราคาประมาณ 2,700 บาท หรือต่อเที่ยวเริ่มต้นที่ 1,350 บาท”นัทพร กล่าว

หากเปรียบเทียบราคาระหว่างโปรโมชั่นกับแคมเปญใหญ่ ก็ไม่ต่างกันเท่าไรนักทำให้นกแอร์ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมกับกิจกรรมในแคมเปญนี้ ซึ่งนั่นอาจเป็นการทำตลาดที่ซ้ำซ้อนกันและลูกค้าอาจเกิดความสับสนในการร่วมสนุกกับโปรโมชั่นที่นกแอร์กำลังจัดอยู่

วันทูโกจีบไทยแอร์เอเชีย

อุดม ตันติประสงค์ชัย บิ๊กบอสค่าย โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด เปิดให้บริการสายการบิน วัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทย บอกว่า เนื่องจากธุรกิจการบินในปัจจุบันนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ประชาชนต้องมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดต้นทุนดำเนินการทางการบิน ล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือสายการบินไทยแอร์เอเชีย เพื่อหาความร่วมมือกันในการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ อีกทั้งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการต่อสู้กับสายการบินต้นทุนต่ำอย่างนกแอร์ที่มีการบินไทยสนับสนุนอยู่ ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองฝ่ายก็มีการร่วมมือกันมาบ้างแล้วแต่ยังไม่เต็มที่มากเท่าครั้งนี้ที่มีความชัดเจนมากขึ้น

โดยในเบื้องต้นวัน ทู โก และไทยแอร์เอเชีย ได้จัดทำตารางการบินร่วมกัน โดยเฉพาะในเส้นทางเดียวกันให้มีระยะเวลาการบินที่ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง จากเดิมที่ระยะเวลาการบินในเส้นทางเดียวกันจะห่างกันแค่ 30 นาที-1 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังได้เตรียมที่จะแบ่งเบาภาระด้วยการแชร์ผู้โดยสารร่วมกัน ในกรณีที่บินเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เต็มลำของทั้งสองฝ่าย เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการลดเที่ยวบินไปบ้างแล้วในแต่ละเส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-ภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม วัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทยและแอร์เอเชียยังมีความแตกต่างกันอยู่ในส่วนการดำเนินธุรกิจเรื่องราคาขายตั๋วโดยสาร ซึ่งในส่วนของแอร์เอเชียจะใช้กลยุทธ์ราคาถูกในการทำการตลาดเพื่อล่อใจลูกค้า เช่น ราคาเริ่มต้น 999 บาท หรือการที่ลูกค้าโทรมาจองก่อนจะได้ตั๋วราคาถูกกว่า เป็นต้น ขณะที่โอเรียนท์ไทยมีนโยบายที่ชัดเจน คือราคาเดียวทุกที่นั่ง โดยราคาเริ่มต้นที่ 1,500 บาท (ยังไม่รวมค่าภาษีและธรรมเนียมภาษีสนามบิน)

อุดม กล่าวถึงการกระตุ้นสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง และผลจากแคมเปญดังกล่าวล่าสุดพบว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ภูเก็ตและกระบี่เริ่มดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวคนไทยให้การตอบรับแพกเกจทัวร์ โดยมียอดจองผ่านบริษัทนำเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่งผลให้ยอดจองที่นั่งของสายการบินโอเรียนท์ไทยเฉลี่ยทั้งเดือนนี้ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต สูงขึ้นมาอยู่ที่ 70% เพราะหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยไม่ถึง 40% ต่อเดือน

ในส่วนของสถานการณ์การเดินทางโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ ปัจจุบันผู้โดยสารเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการเกือบเป็นปกติ หลังจากที่ทุกสายการได้ปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีใครกล้าที่จะปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่กลับใช้วิธีที่ตรงกันข้าม คือการลดราคาตั๋วสำหรับเส้นทางในประเทศ เพื่อต้องการดึงผู้โดยสารให้เข้ามาเลือกใช้บริการสายการบินของตัวเองให้มากที่สุด และหากสถานการณ์ของธุรกิจสายการบินยังเป็นเช่นนี้ ในระยะยาวเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินในประเทศของไทยจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม วัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทยและแอร์เอเชียยังมีความแตกต่างกันอยู่ในส่วนการดำเนินธุรกิจเรื่องราคาขายตั๋วโดยสาร ซึ่งในส่วนของแอร์เอเชียจะใช้กลยุทธ์ราคาถูกในการทำการตลาดเพื่อล่อใจลูกค้า เช่น ราคาเริ่มต้น 999 บาท หรือการที่ลูกค้าโทรมาจองก่อนจะได้ตั๋วราคาถูกกว่า เป็นต้น ขณะที่โอเรียนท์ไทยมีนโยบายที่ชัดเจน คือราคาเดียวทุกที่นั่ง โดยราคาเริ่มต้นที่ 1,500 บาท (ยังไม่รวมค่าภาษีและธรรมเนียมภาษีสนามบิน)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.