ต่างชาติยึดบริหารโรงแรมไทย หวั่นเชนไทยสูญพันธ์ได้เวลา “เอไพมส์” คิดการใหญ่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันเชนโรงแรมจากต่างประเทศได้ให้ความสนใจเข้ามาบริหารโรงแรมในเมืองไทยเป็นจำนวนมากพบว่ามีกลุ่มเชนโรงแรมชื่อดังระดับโลกได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องมีทั้งการรับจ้างบริหาร การร่วมลงทุน และลงทุนก่อสร้างขึ้นมาเองต่อการขยายตัวเข้ามาของในไทยของเชนโรงแรมต่างประเทศแหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมให้ความเห็นว่ามาจากหลายสาเหตุ เช่น

การเปิดเสรีธุรกิจการบริการ การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และที่สำคัญคือการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเซียที่ องค์การการท่องเที่ยวโลกคาดว่าเอเซียแปซิฟิคจะเติบโตถึง 6.5% ไปจนถึงปี 2563 ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มต่อเนื่องจาก 112 ล้านคนต่อปีในปี 2543 เป็น 195.2 ล้านคนในปี 2553 และ 397 ล้านคนต่อปีในปี 2563 ขณะที่ยุโรปหรืออเมริกาขยายตัวเพียง 2%เท่านั้น

แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะดูไม่สอดคล้องกับ โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ใกล้จะเปิดบริการเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศหนุนการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ในภาวะที่ราคาน้ำมันลอยตัว แต่ก็ไม่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาของเชนโรงแรมจากต่างประเทศเท่าไรนัก

การขยายเครื่อข่ายในเมืองไทยเพื่อปูทางไปสู่ดินแดนในแถบภูมิภาคเอเชียทำให้การเข้ามาของเชนต่างประเทศกลับให้ความสำคัญมากกว่าและแน่นอนเชนบริหารจากต่างประเทศได้ยอมลดเงื่อนไขต่างๆ ลงเพื่อให้น่าจูงใจกลุ่มลูกค้า(เจ้าของโรงแรมไทย)เพราะส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของเชนด้วยกันเองในการเข้ามาขยายเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการยอมเข้ามาร่วมทุนด้วยจากเดิมจะบริหารอย่างเดียว แถมด้วยการเสนอให้ผลประโยชน์ที่สูงกว่า

การรุกตลาดเข้ามาของเชนโรงแรมต่างประเทศพบว่า มีการพัฒนาระบบห้องพักแบบเรียลไทม์จองได้ 24 ชม.จากทุกมุมโลก ซึ่งทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้โรงแรมของคนไทยที่บริหารเองอาจอยู่ได้ลำบากมากขึ้นเพราะไม่สามารถลงทุนเทคโนโลยีที่มีราคาแพงได้ตามลำพังเครือข่ายการจองห้องพักระบบเก่าผ่านบริษัททัวร์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้

ขณะเดียวกันการตัดสินใจ เลือกแบรนด์เข้ามาบริหารยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากว่ามีเครือข่ายและฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากย่อมได้เปรียบในสถานการณ์แข่งขันที่รุนแรง

การดึงเชนโรงแรมจากต่างประเทศที่พร้อมเข้ามาบริหารโรงแรมในประเทศไทยในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่จะต้องร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากเห็นว่าการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในขณะนี้มีสูงมากขณะที่เครือข่ายของคนไทยในการทำตลาดนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

บางแห่งถึงกลับมีแนวคิดที่จะร่วมกลุ่มโรงแรมคนไทยที่ไม่มีเครือข่ายตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมขึ้นมาเพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการทางด้าน ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงเรื่องฝึกอบรมบุคลากรเพราะถ้าหากเชนโรงแรมต่างชาติเข้ามามากๆ นั่นหมายถึงจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา

ข้อดีด้านเครือข่ายและเทคโนโลยีที่เชนต่างประเทศเหนือกว่า ขณะที่ข้อเสียก็มีมากเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้บริหารที่ส่งมาถ้าหากไม่เรียนรู้วัฒนธรรมไทยก็เป็นปัญหาในการทำงานร่วมกับคนไทยเช่นกัน

“เอไพมส์”ขอแจ้งเกิด

การเข้ามาของเชนต่างประเทศส่งผลกระทบให้กับเชนบริหารโรงแรมของคนไทยอย่างไรบ้างดูได้จาก

1.ธุรกิจโรงแรมคนไทยที่เป็นระดับกลางและล่างที่บริหารธุรกิจด้วยตัวเอง จะได้รับความเดือนร้อนมาก

2.ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศมากขึ้น เพราะเจ้าของโรงแรมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการบริหารให้เชนในราคาสูง บางโรงแรมจ่ายปีละ 40-50 ล้านบาท

3.ธุรกิจโรงแรมเชนคนไทย จะได้รับผลกระทบบ้างกับการถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ก็ยังอยู่ได้ เพราะมีข้อได้เปรียบตรงที่มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน

สาเหตุดังกล่าวถึงแม้จะเป็นจุดด้อยแต่ก็สามารถนำมาสร้างให้เป็นจุดแข็งสำหรับเชนไทยอย่าง “เอไพมส์”ได้เป็นอย่างดี

ดนัย วันสม CEO ของเอไพมส์ โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ตให้ความเห็นเกี่ยวกับเชนไทยสามารถแบ่งออกได้สองอย่างด้วยกันคือ 1.เจ้าของเชนมีโรงแรมและรีสอร์ตเป็นของตัวเอง กับ 2. เชนที่ไม่มีธุรกิจโรงแรมเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นในต่างประเทศจะพบกันมากและเป็นธุรกิจที่ผลุบๆโผล่ๆ และหายไปในที่สุด

หากถามว่าธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการแบบไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเองในเมืองไทยนั้นจะเป็นเหมือนต่างประเทศหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่า เชนคนไทยมีความสามารถมากน้อยเพียงใดและมีกี่คนที่จะเปิดโอกาสเชนคนไทยเข้าไปแสดงความสามารถให้กับธุรกิจของเขาหรือไม่

“ปัจจุบันยังคงมีกลุ่มนายทุนที่มีความคิดแบบนี้อยู่จำนวนมาก บางคนสร้างโรงแรมมาหลายปียังไม่มีใครรู้จักชื่อเลยก็มีทำให้ธุรกิจรับจ้างให้คำปรึกษาและบริหารจัดการน่าจะสามารถเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้”ดนัยกล่าวพร้อมกับแนะขั้นตอนการเข้าไปบริหารจัดการว่า

โรงแรมที่เจ้าของเขาทำอยู่ด้วยใจรักและมีทิศทางในการดำเนินการเป็นไปในแนวเดียวกันทางเชนก็จะให้แค่คำปรึกษาเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ลงรากลึกถึงการบริหารจัดการที่เรียกว่าเชนมาร์เก็ตติ้งก็จะมีการเทรนในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคคลากร ,แผนกห้องอาหารหรือส่วนบริการต่างๆถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในการทำตลาด และส่วนสุดท้ายคือเจ้าของไม่มีเวลามาดูกิจการโรงแรมการเข้าไปบริหารจัดการจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่เชนบริหารต้องเข้าไปโดยจะส่งเป็นตัวบุคคลหรือในรูปแบบทั้งองค์กรขึ้นอยู่กับความต้องการของนายทุน

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ดนัย บอกว่าไม่ว่าจะเป็นเชนไทยหรือเชนต่างประเทศ GMใช่ว่าจะเก่งทำเรื่อง สิ่งหนึ่งที่เชนโรงแรมต้องคำนึงถึงคือการเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเสริมส่วนต่างๆที่ขาดหายไป สำหรับสิ่งที่นายทุนเขาต้องการ และคาดว่าช่องว่างของตลาดตรงนี้ยังคงมีให้เข้าไปทำตลาดได้อยู่เป็นจำนวนมาก

และด้วยกลยุทธ์ของเอไพมส์การแยกแยะหลายเซ็กเม้นท์ไว้บริการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าในการสร้างตลาดให้กับตัวเองเพราะถ้าองค์กรมีเพียงเซ็กเม้นท์เดียวนั่นอาจทำให้ธุรกิจถึงทางตันและจบธุรกิจได้ง่ายเหมือนในต่างประเทศ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อประยุกต์ใช้กับธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจึงต้องการหลายๆเซ็กเม้นท์เข้ามาให้บริการนั่นเอง

กุญแจของความสำเร็จทางการตลาดถ้ามีโปรดักส์ที่ดี และวิ่งเข้าไปหาในโลเคชั่นสถานที่ตั้งในทิศทางต้องการเหมือนกัน ขณะเดียวกันด้านราคาจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้คนรู้จักชื่อแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ส่วนสุดท้ายโปรโมชั่นจะเป็นการเสริมทีมทางการตลาดและต้องทำอย่างจริงจังให้กับตัวเอง เพราะไม่มีธุรกิจใดสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองถ้าขาดกุญแจธุรกิจดอกสำคัญเหล่านี้

ปัจจุบันเอไพมส์เข้าไปบริหารมี กฤษดาดอย และในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเข้าไปบริหารมี ภูริปัน เชียงใหม่ ,โรงแรมที่ชะอำ และโรงแรมที่ภูเก็ต รวมถึงการเข้าไปบริหารจัดการโรงเรียนสอนการโรงแรมของมหาวิทยลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดย CEO ของเอไพมส์ยังวาดฝันอีกว่าในเวลาเพียง 1-2 ปีชื่อของแบรนด์จะเป็นที่รู้จักและสิ้นปี 49 จะมีโรงแรมในเครือบริหารจัดการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 10 แห่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.