พิษ!เอฟทีเอไทย-จีนระลอกใหม่ 10 สินค้า SMEs จ่อคิวล้ม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สัญญาณอันตราย จับตาเป้าหมายขยายค้าเสรีไทย-จีน 3 หมื่นล้านเหรียญ ตลาดการค้าในประเทศไทยช้ำหนัก หลังสินค้าเกษตรหลายชนิดทยอยพัง ปี 48 สินค้าอุตฯนับสิบชนิดจ่อคิวล้ม นักวิชาการสะท้อนภาพปัญหาสินค้าจีนจำพวก "ขยะราคาถูก" ตีตลาดผู้บริโภคไทยกระจุย ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาการหนัก พาณิชย์ไทยยอมรับผลกระทบ แต่ไม่สนใจ โยนบาปให้ผู้บริโภค เดินหน้าสร้างเป้าส่งออกไปจีน

แม้ผลการประชุมสุดยอดของอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างอาเซียน กับจีน มีผลความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมีเป้าหมายสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2010 และการค้าระหว่างไทย-จีน ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายตัวสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ผลจาก เอฟทีเอ ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากพิจารณาถึงอนาคตที่เกิดขึ้น ในแง่บวกไทยย่อมเห็นผลความคืบหน้าด้านการค้าขายเพิ่มปริมาณมากขึ้น สร้างรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-จีน ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามคุยฟุ้งว่า ตลาดผู้บริโภคจีนซึ่งมีประชากรถึง 1.3 พันล้านจะกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการค้าขายของไทย

ทว่า หากยิ่งวิเคราะห์ถึงผลที่เกิดขึ้นในอนาคต ย่อมอดนึกถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นมิได้ เพราะผลกระทบที่สำแดงให้เห็นเด่นชัดในปัจจุบัน

สินค้าอุตฯจ่อคิวพัง

รศ.อักษรศรี พานิชสาสน์ คณะเศรษฐศาสตร์ และกลุ่มศึกษาเศรษฐกิจการเมืองจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า เอฟทีเอไทย-จีน แง่หนึ่งไทยได้ประโยชน์ทางการค้าส่งออกเพิ่มขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งตลาดการค้าขายในประเทศของไทย จะค่อยๆพังพินาศลง

ผลกระทบที่ปรากฏขึ้นแล้วคือ การลดภาษีนำเข้าประเภทผักและผลไม้ที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าเกษตรกรรมราคาถูกของจีนที่ทะลัก เข้ามาทำลายฐานการผลิตเกษตรกรไทยอย่างสาหัส เช่น กระเทียม หัวหอม ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องลดการปลูก ลดการผลิตลง

แม้ตัวเลขการส่งออกผักและผลไม้ ของไทย ไปจีน ล่าสุด 10 เดือนของปี 2547 จะเพิ่มขึ้นถึง เกือบร้อยละ 60 แต่ยอดนำเข้าจากจีน สูงถึงร้อยละ 130 ซึ่งเปรียบเทียบแล้ว จีนได้ประโยชน์จากไทยกว่าเท่าตัวด้านการค้าขาย

ขณะที่ผลที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือ ปี 2548 นี้ คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมประมาณ 10 ประเภท ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง อาหารแปรรูป เครื่องประดับและอัญมณี อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กำลังจ่อคิวที่ล้มลงตามไป เนื่องจากจีนเตรียมที่จะนำสินค้าเหล่านี้เข้ามาในไทยอีกจำนวนมาก

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไทยที่ลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคจากการทุบตลาดของจีนในอนาคตอันใกล้นี้

"ไทยเปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในตลาดระบายสินค้าไร้คุณภาพของจีน"ยกตัวอย่าง สินค้าบางอย่างจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก มีคุณภาพต่ำมาก ใช้ไม่นานก็ชำรุด เป็นขยะ แต่นิสัยของไทยชอบของราคาถูก ทำให้สินค้าจีนได้รับความนิยมสูง จึงมีนักวิชาการหลายคนเปรียบเทียบว่า จีนฉลาดที่นำขยะมากระจายขายให้คนไทย

ขณะที่สินค้าไทยไปจีน มีข้อจำกัดมากมาย มีเงื่อนไขแต่ละมณฑลของจีน การเข้าไปสร้างตลาดในจีนเป็นเรื่องยาก จำนวนประชากร 1.3 ล้าน เป็นภาพลวงตาที่ทีมเศรษฐกิจของไทยควรพึงรับรู้ด้วยว่าสามารถฟันเฟื่องได้จริงหรือ

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบจะต้องเข้าตรวจสอบดูแลอย่างใกล้ชิด

พาณิชย์ฟุ้งเอฟทีเอมีแต่ข้อดี

วัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงประเด็น เอฟทีเอไทย-จีน กับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า แน่นอนผลของเอฟทีเอ อาจมีผลกระทบบ้างกับสินค้าภายในประเทศ แต่มีไม่มาก ในทางกลับกันอนาคตไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะการเข้าสร้างตลาดในจีนที่มีประชากรนับพันล้าน

สินค้าภายในประเทศที่ได้รับกระทบ เป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าไม่รุนแรง หนทางหนึ่งคือ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ส่งเสริมซื้อสินค้าราคาถูก และซื้อของที่ผลิตในไทย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกันส่งเสริมการค้าขายภายในประเทศได้

การเปิดการค้าเสรีนั้น ไทยมีแต่ได้ โดยเฉพาะเป้าหมายการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2547 อีกถึงประมาณร้อยละ 15


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.