แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปีไก่อับเฉา ระวัง !อสังหาฯ-รถยนต์-วัสดุก่อสร้าง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ทำนายเศรษฐกิจมังกร ปีหน้า เหี่ยวเฉา เผชิญปัจจัยลบรอบด้าน น้ำมันโลก - วิกฤตพลังงานในจีน และภาวะฟองสบู่แตก โดยเฉพาะ อสังหาฯ- รถยนต์-วัสดุก่อสร้าง ที่โตเร็วเกินควร ไม่ควรลงทุนอย่างยิ่ง รัฐบาลจีนยอมรับว่า ปีหน้าจีน ต้องขยายตัวลดลง เพื่อลดอุณหภูมิร้อนแรงลง ฑูตไทย แนะนักลงทุนไทยปรับตัว ภาคการลงทุนจุดใดเด่น-ร่วง ต้องมีแผนเชิงรุก

ภาวะเศรฐกิจโลกในปีหน้า 2005 กำลังถูกจับตามอง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก

มังกรเฉา ปีหน้าชะลอตัว

ปัจจัยที่ตัวบ่งชี้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงในจีน ในปี 2004 คือ สถานการณ์วิกฤตน้ำมันโลกที่เกิดขึ้น ภาวะวิกฤติพลังงานในจีนเองที่มีความวิตกกังวล อัตราความต้องการพลังงานในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีท่าทีไม่หยุดยั้ง ทำให้จีนมีความเสี่ยงสูงมากกับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

สำนักงานการค้าระหว่างประเทศและกลุ่มวางแผนเพื่อการพัฒนาแห่งเวิลด์แบงก์ ทำนายว่าในปี 2005 เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลดลง จากประมาณร้อยละ 9 ในปี 2004 อยู่ในระดับร้อยละ 8 ในปี 2005 และลดลงเหลือร้อยละ 7.1 ในปี 2006 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวช้าลง ประกอบกับราคาน้ำมันและวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจจีนในปี 2005 มีเป้าหมายว่าจะลดระดับการขยายตัวลดลง เพราะผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทำให้จีนกำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงในอุตสาหกรรมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกตลอดเวลา

หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน ได้ประกาศว่า นโยบายด้านการคลังเชิงรุกที่จีนดำเนินในหลายปีที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แนว โน้มเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เรียกร้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงได้ ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินการคลังจากเดิมที่เป็นเชิงรุกซึ่งดำเนินมานาน 7 ปี เป็นนโยบายที่มีความสุขุมรอบคอบยิ่งขึ้น

โดยในช่วงที่ผ่านจีนต่างพยายามที่ใช้ มาตรการหลายอย่างเพื่อลดอุณหภูมิเศรษฐกิจลง เช่น ธนาคารกลางก็ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ขณะที่รัฐบาลได้สั่งระงับการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และควบคุมการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งเข้มงวดการใช้ที่ดินทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะเป็นเงื่อนที่จีนจะต้องดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP ของสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปีหน้า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 8.8 ตามด้วยอินเดีย ร้อยละ 6.8 ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงโดยอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 6.9 ถึง ร้อยละ 6.2 แต่เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลก เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงแข็งแกร่งที่สุด

ทั้งนี้ คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4 สำหรับปัจจัยลบที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกต้องชะลอตัวนั้น ยังคงเป็นเรื่องราคาน้ำมันที่ผันผวน รวมทั้งการสิ้นสุดลงของโควต้าสิ่งทอตามกฎองค์การการค้าโลก ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม และยอดการส่งออกไปยังตลาดสำคัญที่ลดน้อยลง

แนะไทยสร้างโอกาส-ปรับตัว

จุลพงษ์ โนนศรีชัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ให้ทัศนะเรื่องการปรับตัวของนักลงทุนไทยต่อเศรษฐกิจจีนในปีหน้าว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในด้านเศรษฐกิจ ขยายตัวรวดเร็วอย่างมาก เพื่อเตรียมการเข้าไปสู่การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในโลก ตามกรอบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ภายในปี 2010

การค้าของจีนมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีรายได้จากการค้าระหว่างประเทศมากที่สุด ขณะที่มูลค่าการค้าขายกับไทยเพิ่มมากขึ้น 30% ทุกปี ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้เตรียมพร้อม ทำการค้ากับจีน ช่วงชิงผลประโยชน์ช่วงที่จีนกำลังเปลี่ยนแปลงสู่การค้าให้มากที่สุด

การที่จีนพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ จะทำให้จีนเปิดประเทศอย่างรวดเร็ว โดยต้นปีหน้า จะเปิดเสรีอีกหลายด้าน อาทิ ธนาคาร การค้าปลีก โควตารถยนต์ ยางพารา และโทรคมนาคม ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสที่ดีของไทย ในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี และอยู่ใกล้ชิด

เอกอัครราชทูตไทย ให้ข้อแนะนำว่า ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนดีมาก เห็นได้จากที่จีนได้ผ่อนปรนให้ชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเริ่มที่ไทยเป็นชาติแรกๆ ประเทศไทยเองจึงควรปรับปรุงประเทศให้รองรับการค้ากับจีนให้มากขึ้นด้วย

โดยสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อรองรับกับโอกาสดังกล่าวคือ การปรับตัวทางด้านการค้า การผลิต ที่ควรจะเร่งให้เสร็จก่อนปี 2010 โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน ที่เห็นว่าสิ่งใดสู้ไม่ได้ก็จะต้องรีบเปลี่ยน เช่น สิ่งทอ ขณะที่ อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ยังคงมีโอกาสก็ควรมีแผนเชิงรุกที่จะต่อสู้กับนานาประเทศในการช่วงชิงตลาดจีน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.