"อากู๋"ลุยธุรกิจ"หนังอินเตอร์" เล็งกวาดทุกช่องทางทำกำไร


ผู้จัดการรายวัน(17 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"อากู๋" หวนคืนเวทีผลิตภาพยนตร์อีกครั้ง หลังร้างลาวงการไปนาน 5 ปีเต็ม ล่าสุดดึง "จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส" ปูทางเปิดตลาดหนังแกรมมี่ในต่างประเทศ ผ่านธุรกิจหนังยักษ์ใหญ่ระดับโลก ก่อนผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน 3 ปีข้างหน้า ยอมรับหันมาเริ่มต้นใหม่เพราะต้องการเป็นมืออาชีพและทำตลาดอย่างจริงจัง ในช่วงที่ภาพยนตร์ไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่ยังเป็นรองเกาหลี คุยผลดำเนินงานไตรมาส 3 ดีสุดในรอบ 19 ปี จากรายได้ที่เข้ามาทุกด้าน ส่วนธุรกิจในไต้หวันก็เริ่มจะทำกำไรหลังขาดทุน ติดต่อกันถึง 2 ปี

นายไพบลูย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (GMM) เปิดเผยว่า แกรมมี่เริ่มจะหันกลับมาทำธุรกิจผลิตภาพยนตร์อย่างจริงจังอีกครั้งภายหลังห่างเหินวงการนี้มานานร่วม 4-5 ปี ด้วยการ เปิดตัว"บริษัท จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมกับ"กลุ่มหับโห้หิ้น" ผลิตภาพยนตร์ไทยป้อนตลาด ในประเทศและต่างประเทศ โดยแกรมมี่ถือหุ้นทั้ง 100% ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้กำหนดงบลงทุนปีหนึ่งๆ ประมาณ 100-200 ล้านบาท ซึ่งหาก ธุรกิจดังกล่าวไปได้ดี ในอีก 3 ปีข้างหน้าก็อาจจะผลักดันให้ "จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส" เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การกลับคืนสู่เวทีเก่าของแกรมมี่ครั้งนี้เป็นที่รู้กัน ดีว่า ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่อง ใหม่ของกลุ่มแกรมมี่ เพราะหากย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น 5 ปี แกรมมี่ก็เคยมี"บริษัท แกรมมี่ ฟิล์ม" ที่มียุทธนา มุกดาสนิทเป็นผู้ดูแลการผลิตให้ แต่ท้ายที่สุดบริษัทดังกล่าวก็ต้องปิดตัวเองลงในเวลาอันสั้น ก่อนจะหวนคืนเวทีเดิมภายใต้ชื่อ "จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร" ที่กำลังจะเปิดตัวหนัง"15ค่ำเดือน 11" เป็นเรื่องแรกในวันที่ 11 ต.ค.นี้

นายไพบลูย์กล่าวว่า หลังจาก ทำธุรกิจเพลงมาหลายปี คราวนี้ก็อยากจะหันมาทำหนังดูบ้าง ถึงแม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาแวดวงธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทยจะค่อนข้างซบเซา แต่เนื่องจากในอดีตแกรมมี่เคยทำโฆษณาให้กับภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง เช่น ครูบ้านนอก ไผ่แดงจึงเชื่อว่าน่าจะทำธุรกิจนี้ได้ แต่เพราะระยะนั้นตลาดภาพยนตร์ ไทยค่อนข้างย่ำแย่ จึงคิดว่าไม่น่าทำ เป็นอาชีพหรือทำจริงจัง เห็นได้จาก หลายบริษัทที่ทำไปแล้วก็ไม่ประสบ ความสำเร็จ

"5 ปีก่อน หนังไทยซบเซามาก ปีหนึ่งๆมีหนังเพียง 3 เรื่อง ขณะเดียวกันตอนนั้นทำเพลงก็ดีพอสมควรอยู่แล้ว แต่มาถึงตอนนี้หนังไทยเริ่มจะกลับมาบูมอีกครั้ง ก็เลยหันกลับมาคิดว่าน่าจะทำหนัง บ้าง ประจวบเหมาะกับมีคนรุ่นใหม่ เข้ามาอยู่ในวงการนี้จำนวนมาก คุณภาพหนังก็เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ก็มีกำลังใจอยากจะกลับมาทำอีกครั้ง"

ความจริงบริษัทใหม่นี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 เริ่มจากมีบุคลากรในแวดวงนี้ซึ่งเป็นคน รุ่นใหม่ และรู้จักคุ้นเคยกันอยู่บ้างเสนองานผ่านเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับแกรมมี่เองก็ต้องการจับธุรกิจนี้อย่างจริงจัง หรือต้องการ ทำอย่างมืออาชีพด้วย จึงต้องมาเริ่มต้นกันใหม่

นายไพบลูย์กล่าวว่า ในช่วงแรกมีหนังอยู่ในมือประมาณ 11 เรื่อง และใช้งบประมาณไปแล้ว 100 ล้านบาทสำหรับเรื่องแรก ขณะที่หนังเรื่องต่อๆไปจะเริ่มทยอยเข้าฉายในปีหน้า ขณะเดียวกันบริษัทก็อยู่ระหว่างเสาะแสวงหาพันธมิตร ในต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย หนังของแกรมมี่ไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

"ถ้าเริ่มต้นดี มีชื่อเสียง ก็จะมีกลุ่มเป้าหมาย ตลาดสำหรับแกรมมี่ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งในช่วงนี้หนังเอเชียเริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาด โดยเฉพาะหนังเกาหลี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะมองว่าตลาดหนังคือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งหากประเทศอื่นๆชอบหนังเกาหลี ก็พลอยทำให้สินค้าเกาหลีขายดีในตลาดนั้นๆด้วย เหมือนกับฮอลลีวูด ส่วนหนังไทยเราขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แล้ว"

การหวนคืนธุรกิจผลิตภาพยนตร์ของ แกรมมี่ในครั้งนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ต้องการรุกเข้าสู่ตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการนำหนังที่ผลิตในมือไปเสนอยังบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์รายใหญ่ระดับโลก อย่าง วอลท์ดิสนีย์ โคลัมเบีย พิคเจอร์ ฟ็อกซ์ และบริษัทในฮ่องกงเพื่อเจรจาเป็นพันธมิตรร่วมทุนและจัดจำหน่ายหนังของแกรมมี่สู่ตลาดระดับอินเตอร์ ซึ่งผู้บริหารคาดหวังอยู่ ลึกๆว่าการตกลงร่วมธุรกิจ จะเป็นการการันตีรายได้ ซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งจากการจัดฉายในตลาดต่างประเทศได้ด้วย

"ตอนนี้ก็เข้าไปคุยหลายราย พบว่า ต่างประเทศปัจจุบันนี้มองว่าหนังไทยเป็นที่นิยม เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจด้านนี้จะพบว่ามีช่องทางมากมายในตลาดโลก"

ไตรมาส3ดีสุดในรอบ 19 ปี

สำหรับธุรกิจในกลุ่มของ"จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นายไพบูลย์กล่าวว่า ผลดำเนินงานน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย และอาจจะเรียกได้ว่าดีที่สุดในรอบ 19 ปี จากรายได้ ทุกด้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทได้แก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาไปจนเกือบจะหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ หลายบริษัทในเครือก็กำลังจะทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ ไล่มาตั้งแต่ จีเอ็มเอ็ม มีเดียหรือ เอไทม์ มีเดียเดิม และบริษัท เอ็กแซ็กท์ ขณะที่ เอ็มจีเอ นั้นคงเข้าระดมทุนในตลาดไม่ได้ เนื่องจากเกี่ยว พันธ์โดยตรงกับบริษัท ที่ถือหุ้นอยู่ถึง 80%

ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท มีธุรกิจเกี่ยวพันกับการขอสัมปทานคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ หากคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ วิทยุและโทรทัศน์(กสช.)เริ่มมีผล ดังนั้นธุรกิจที่จะทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จำเป็นต้องเข้าไประดมทุนเพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปขอสัมปทาน

"ต่อไปถ้ากสช.มีความชัดเจนออกมาว่าจะจัดการเรื่องคลื่นความถี่อย่างไร ก็จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์และเคเบิลทีวีก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น"

นายไพบลูย์กล่าวว่า การแยกธุรกิจเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยแบ่งเป็นหน่วยงาน เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีลักษณะแตกต่างกัน แต่มีแง่ดีการแยกเป็นหน่วยงาน เช่น หน่วยธุรกิจเพลง และมีเดียก็จะมีความเสี่ยงน้อย ทำให้คนเชื่อถือ โดยเฉพาะหากบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิดขาดทุนก็จะไม่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับอีกบริษัท หนึ่ง

ไต้หวันเริ่มมีกำไร

ขณะที่ธุรกิจของแกรมมี่ในไต้หวันนั้น หลังจากที่ขาดทุนมาตลอด ล่าสุดคาดจะขาดทุน ประมาณไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ขณะนี้เริ่มจะกลับ มามีกำไร จากการรับจ้างผลิตแผ่นคาราโอเกะป้อนให้กับบริษัทค่ายเพลงในไต้หวัน ซึ่งธุรกิจคาราโอเกะในไต้หวันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.5 หมื่น ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเพลงมีเพียง 4 พันล้านบาท เท่านั้น

เหตุผลสำคัญก็คือ ในไต้หวันมีเทปผีซีดีเถื่อนระบาดหนักคิดเป็นตัวเลขสูงถึง 90% บวก กับรัฐบาลของไต้หวันไม่ค่อยจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ อย่างจริงจัง ดังนั้น การรับจ้างผลิตที่ไม่มีความเสี่ยงเลยจึงทำให้เชื่อว่าในปีหน้าธุรกิจของแกรมมี่ในไต้หวันจะเริ่มมีกำไรขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นก็วางแผนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไต้หวัน

" ในไต้หวัน ปี 2544 แกรมมี่ขาดทุนถึง 200 ล้านบาท ในปีนี้ก็คาดจะขาดทุน 50 ล้านบาท แต่ ที่เริ่มจะมีกำไรก็เพราะได้เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ และหันมารับจ้างผลิตให้รายอื่นทำให้มีรายได้โดยที่ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากการผลิตซีดีของเรา ออกมาจำหน่ายในตลาดไต้หวัน จะพบว่าบริษัทมีความเสี่ยงถึง 100%"

นายไพบลูย์กล่าวว่า ในไต้หวันเอง ถือว่าเป็นคนละธุรกิจกับแกรมมี่ ดังนั้นหากบริษัทขาดทุน ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเป็นคนละธุรกิจ กับแกรมมี่"

สำหรับนายไพบลูย์ ในระยะก่อนหน้านี้ ได้หันมาจับตลาดค่อนข้างหลากหลายมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การหันมาทำตลาดบะหมี่สำเร็จรูป โฟร์มี การตั้งบริษัท ยูสตาร์ผลิตเครื่องสำอางยูสตาร์เพื่อเบียดตลาดขายตรงอย่างมิสทีนและเอวอน และล่าสุดก็เตรียมจะเปิดตัวเสื้อผ้าและเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพประมาณปลายปีนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็น การดำเนินการภายใต้บริษัทที่ถือหุ้นร่วมกับศิลปิน และเพื่อนพ้องในแวดวงเดียวกันมากกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.