"สหยูเนี่ยน"ปรับองค์กรชู"TQA"ผุดโรงงานสิ่งทอในจีนสู้เอฟทีเอ


ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สหยูเนี่ยน ปรับตัวครั้งใหญ่รอบหลายปี หลังรายได้ครึ่งปีแรกพลาดเป้า ผุดหลักเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ(TQA) ปัดฝุ่น สู่ระบบบริหารแนวใหม่ สร้างความแข็งแกร่งองค์กร รับมือสงครามเศรษฐกิจ เอฟทีเอตัวแปรพลิกตลาดในเทศแข่งดุ แถมพ่นพิษธุรกิจสิ่งทอสะดุด ฮึดทุ่มมากกว่า 200 ล้านบาท ผุดโรงงานแดนมังกรแก้เกมจีน

นายพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์,พลาสติก และรองเท้า เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งจากคู่แข่งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีปัจจัยจากการเปิด เขตเสรีการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ เป็นต้น ทำให้บริษัทสหยูเนี่ยน ซึ่งมีบริษัทในเครือ 21 บริษัท ต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการใหม่ ภายใต้การนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA)มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มสหยูเนี่ยน สามารถรองรับสภาวะความเปลี่ยนแปลงต่างๆทั้งเศรษฐกิจ การตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับการนำหลักเกณฑ์รางวัล คุณภาพแห่งชาติมาปรับปรุงระบบบริหารในเบื้องต้นได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร การจัดโครงสร้างคณะทำงาน การจัดสัมมนาให้ความรู้คณะทำงาน การจัดทำเอกสารและการตรวจประเมินภาย ใน และการจัดทำแผนการปรับปรุง นำร่องด้วยการจัดโครงการ "การบริหารสู่ความเป็นเลิศ SUQA" บรรยายพิเศษจากบริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัล "Thailand Quality Class 2548" และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะ ภายหลังจาก บริษัทได้จัดประกวดตราสัญลักษณ์ SUQA ภายในองค์กร

"เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่สหยูเนี่ยนรุกขึ้นมาปรับปรุงการบริหาร ภายในองค์กรใหม่ ในเบื้องต้นได้วางงบการนำหลักเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาบริหารภายในองค์กรไว้ปีนี้ 10 ล้านบาท จากนั้นบริษัทจะมีการวัดผลเป็นระยะจากคณะกรรมการกลาง ล่าสุดเพิ่งประเมินผลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา คะแนนเฉลี่ยบริษัทในเครืออยู่ระหว่าง 100-400 คะแนน จาก 1,000 คะแนนเต็ม สาเหตุที่ยังได้ น้อยอยู่ เพราะบริษัทเพิ่งอยู่ขั้นตอนของการเริ่มต้นเท่านั้น"

นายพนัส กล่าวว่า ผลจากการแข่งขันของตลาดทั้งภายในและนอกประเทศที่มีความรุนแรง ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการดำเนินธุรกิจของบริษัท ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก สองกลุ่มแรกได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยสิ่งทอเป็นกลุ่มที่มีการหดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากได้รับผล กระทบจากประเทศจีน ขณะที่กลุ่มรองเท้าอยู่ในภาวะทรงตัว โดยได้รับผลกระทบจากสินค้าอินเตอร์แบรนด์เข้ามาเปิดตลาดเพิ่มขึ้น 5-6 แบรนด์ ส่วนอีก 2 กลุ่มหลังมีอัตราการเติบโตสูง โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โต 10% และพลาสติก 20%

ล่าสุดบริษัทได้ทุ่มงบลงทุนมาก กว่า 200 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตสิ่งทอที่ประเทศจีน เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง โดยจีนสามารถผลิตต่อชิ้นได้ ต่ำกว่าไทยถึง 50% ซึ่งคาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้านี้ จากนั้นได้วางแนวทางการทำตลาดโดยเปิดตลาดในจีนเป็นหลัก เนื่องจากจีนถือว่าเป็นประเทศใหญ่ และมีประชากรอาศัยอยู่ มาก หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทได้ลง ทุนตั้งโรงงานไฟฟ้าและโรงเรียนนานาชาติเมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้ปัจจุบันนี้รายได้ที่มาจากประเทศจีนคิดเป็น 50% ของรายได้รวม

สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทได้ปรับเป้าลงเล็กน้อย ส่วนรายได้ทั้งปีราว 20,000-30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากภายในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% โดยตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.