|

BMCL จ่อปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 ต.ค.
ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บีเอ็มซีแอลยังไม่คุ้มทุนแม้ ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินเฉลี่ยต่อวันขยับเป็น 2 แสนคน เผยหลัง 30 ก.ย.เตรียมปรับค่าโดยสารเพิ่มตามสัญญาสัมปทาน ยันมีโปรโมชันส่วนลดแน่นอนพร้อม ดีเดย์เปิดร้านค้าปลีกได้ใน ก.ย.นี้ด้วย ด้าน "ปลิว" ยันพร้อมขายหุ้นคืนรัฐแต่ไม่มีการเจรจาต่อรอง ส่วน แผนเข้าตลาดฯไม่ชะลอ
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้รับสัมปทานบริหารเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล (บางซื่อ-หัวลำโพง) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลี่ย 1.9 แสนคนต่อวัน ในช่วงวันศุกร์จะสูงถึง 2 แสนคนต่อวัน ส่วนวันธรรมดามีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 1 แสนคนต่อวัน โดยหากมีงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จำนวนผู้โดยสารจะมีถึง 2 แสนคน ทำให้บริษัทมีรายได้เฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อวัน แต่หากมีผู้โดยสารมากกว่า 2 แสนคนต่อวัน รายได้จะเพิ่มเป็น 3.5 ล้าน บาทต่อวัน ซึ่งยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนในการดำเนินงาน (Break event) โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะต้องมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารถึง 4.5 ล้านบาทต่อวันจึงจะเริ่มมีกำไร ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยจะถึง 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นไปตามการเติบโตของผู้โดยสาร และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ จะเริ่มเปิดให้บริการร้านค้าปลีกภายในสถานีรถไฟใต้ดิน ส่วนการใช้บริการโทรศัพท์มือถือภายในอุโมงค์รถไฟฟ้าระหว่างเดินทางนั้น คาดว่าจะใช้ได้ปลายปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทได้รับใบอนุญาตชั่วคราวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งสามารถเข้าไป ติดตั้งระบบภายในอุโมงค์รถไฟฟ้า และทดลองใช้ระบบได้ ส่วนใบอนุญาตถาวร กทช. จะให้ภายหลัง
นายสมบัติกล่าวว่า หลังจากวันที่ 30 กันยายนนี้ จะมีการปรับค่าโดยสารรถไฟใต้ดินอีกครั้ง เนื่องจาก ครบกำหนดระยะเวลาในการลดราคาค่าโดยสารสำหรับประชาชนที่เดินทางด้วยบัตรโดยสารแบบเติมเงิน (Smart Card) 20% เริ่มต้น 10 บาท สูงสุด 25 บาท จากอัตราเดิมค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 12-31 บาท และลด 30% สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาโดยบริษัทกำลังศึกษารายละเอียดและตกลงกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อกำหนดค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งยืนยันว่าจะมีโปรโมชัน เรื่องราคาแน่นอน และในเดือนมกราคม 2549 บริษัท จะต้องจัดทำราคาค่าโดยสารใหม่ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน โดยอัตรา ค่าโดยสารใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นกำหนดครบรอบการให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 ปี
ขณะนี้บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อนำหุ้นเข้ากระจายในตลาดหลักทรัพย์ ล่าสุด ก.ล.ต. ได้ทำหนังสือสอบถามความชัดเจนเรื่อง การตั้งโฮลดิ้ง คอมปานี ของภาครัฐ ว่าจะมีผลต่อบริษัทหรือไม่ เนื่องจาก รฟม. จะต้องนำเงินที่ซื้อหุ้น เพิ่มทุน 25% ในบีเอ็มซีแอลไปลงทุนในโฮลดิ้ง คอมปานี ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงไปแล้วว่าจะไม่มีผลใดๆ หากผลที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้บริษัทซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เสร็จก่อนการตั้งโฮลดิ้ง คอมปานี บริษัทก็สามารถนำหุ้นเข้ากระจายได้ทันที ไม่มีผลให้ การเข้ากระจายหุ้นล่าช้าออกไปแต่อย่างใด
"หากในอนาคต โฮลดิ้ง คอมปานี ต้องการซื้อหุ้น ของบีเอ็มซีแอลอีก 75% ที่เหลือ ก็สามารถทำได้ ขึ้น อยู่กับการเจรจาระหว่างภาครัฐกับบริษัท เชื่อว่ารัฐจะให้ความยุติธรรมให้ประโยชน์กับบีเอ็มซีแอลตามความเหมาะสมและเคารพในสัญญาสัมปทานและ ภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัท จะนำเงินที่ได้ไปจัดซื้อรถไฟฟ้า 5 ขบวน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาราคากับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 30 เดือนในการนำรถไฟฟ้าขบวนใหม่เข้ามาเสริมในระบบ" นายสมบัติ กล่าว
ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ บริหาร บีเอ็มซีแอล กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐยังไม่ได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทเพื่อซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด ส่วนของบริษัทเองยังมีนโยบายเช่นเดิม คือ ยินดีหากรัฐเข้ามาซื้อหุ้น แต่ต้องให้ราคาเหมาะสมกับมูลค่าหุ้น โดยบริษัทเคยเสนอราคาขายหุ้นแก่กระทรวงคมนาคมในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น แต่ยังตกลง ราคากันไม่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|