ธปท.เผยภาวะดอกเบี้ยช่วงขาขึ้นยังไม่กระทบแบงก์-ลูกค้าผ่อนบ้าน


ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รองผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เผยแบงก์พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังไม่สร้าง ปัญหาทั้งกับแบงก์และผู้ผ่อนบ้าน เหตุดอกเบี้ยยังไม่สูงมาก และแบงก์ ก็เปลี่ยนระบบการผ่อนชำระเป็นแบบดอกเบี้ยลอยตัว ส่วนการตรวจสอบสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ของ ธปท.นั้นดีอยู่แล้ว เชื่อแบงก์พาณิชย์ มีกฎเกณฑ์มากพอไม่ต้องห่วง

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง กรณีที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย อยู่ในช่วงขาขึ้น อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีภาระด้านอัตราดอกเบี้ยมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นว่า การ ที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องที่น่า เป็นกังวลเนื่องจากไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น มากนัก และทางด้านธนาคารพาณิชย์ ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ในการผ่อนชำระบ้านเป็นการใช้ระบบ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด จากเดิมใช้ระบบอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

"ตอนที่ลูกหนี้ตัดสินใจกู้อัตรา ดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นแล้ว ซึ่งลูกค้ารู้ตัวดีว่าภาระที่ต้องแบกรับในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเขาปรับตัวรองรับไว้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง ส่วนการปรับเปลี่ยนของ แบงก์พาณิชย์จะทำให้ลูกค้าที่ผ่อนบ้าน หรือขอสินเชื่อใหม่ปรับตัวได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ในอนาคตแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ประกอบกับการที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีความน่าเป็นห่วง เพราะดอกเบี้ยคงจะปรับขึ้นอีก" นางธาริษา กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในปัจจุบันมีจำนวนไม่มาก โดยครัวเรือนที่มีหนี้ที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 12% ของครัวเรือนทั้งหมด หรือเฉลี่ย อยู่ที่ 396,600 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็น 1.3 เท่าของรายได้ต่อปี ส่วนความเสี่ยงกรณี ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่อธนาคารพาณิชย์ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ หนี้ดังกล่าวมีหลักประกันและธนาคารพาณิชย์ก็มีเงินกองทุนและมีการกันสำรองที่เพียงพอ

ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายเกรงว่า ในปัจจุบัน ธปท.ยังมีการตรวจสอบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เข้มงวดเพียงพอ โดยมีการตรวจสอบสินเชื่อเพียงครั้งแรกก่อนการปล่อยสินเชื่อเพียงครั้งเดียวนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ตามเกณฑ์ของ ธปท. จะต้องมีการตรวจสอบสินเชื่อ และประเมิน ราคาสินทรัพย์ใหม่ตามเวลาที่กำหนด แต่การตรวจสอบสินเชื่ออาจจะไม่จำเป็นต้องทำทุกกรณี ซึ่งจะตรวจสอบเฉพาะกรณีที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ หรือการผ่อนชำระยังเหลือเวลาอีกค่อนข้างนาน

"สินเชื่อบางกรณี เช่น บัตรเครดิตจะมีการสุ่มตัวอย่างและใช้แบบจำลองในการจรวจสอบวิเคราะห์ สินเชื่อประกอบ และบางกรณี เช่น ลูกหนี้ที่กำลังผ่อนชำระสินเชื่อบ้านเกือบหมดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูหลักประกันอีก นอกจากนี้แบงก์พาณิชย์ที่ปล่อยกู้เขาก็ดูอยู่และมีกฎเกณฑ์มากพออยู่แล้ว"

ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้รายงานปริมาณยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยว่ายอดคงค้างสินเชื่อ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 มียอด คงค้างทั้งสิ้น 1,21,570 ล้านบาทเพิ่ม ขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 37,900 ล้านบาท ซึ่งธนาคารอาคาร สงเคราะห์มียอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากที่สุดถึง 443,017 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มียอดรวมกัน572,332 ล้านบาท ธนาคารออมสินมียอดคงค้าง110,282 ล้านบาท บริษัทเงินทุนมียอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อบ้านทั้งสิ้น 5,840 ล้านบาท และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มียอดคงค้าง 99 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.