|
เปิดใจนศ.ยูนนาน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแสความนิยมจีนเรียนไทยเบ่งบาน นักศึกษาจีนสนใจแปลงสินทรัพย์ภาษาไทยให้เป็นทุนวิชาชีพ เผยอาชีพในฝันนศจีนเรียนไทย ฝันอยากเป็น อาจารย์ ไกด์ ล่าม และทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หวังเชื่อมวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ
มณฑลยูนนาน เป็นมณฑลชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 394,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 4.1%ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพื้นที่ติดกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ด้านตะวันตกติดกับประเทศพม่า ด้านใต้ติดกับประเทศลาวและเวียดนาม รวมทั้งสิ้นมีพรมแดนติดต่อถึงกันเป็นระยะทางยาว 4,060 กิโลเมตร
ด้วยความใกล้ชิดทางสภาพภูมิศาสตร์ มณฑลยูนนานจึงเป็นพื้นที่ ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นประตูเชื่อมสู่ประเทศเพื่อน มีการเร่งดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆตลอดจนการผลิตบุคลากรในสถานศึกษาให้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อรองรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการคมนาคม การเมือง การค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ด้วยภาวะเอื้อถึงพร้อมดังกล่าวจึงก่อเกิดกระแสความนิยมจีนเรียนไทย เติบโตขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ด้วยเห็นถึงอนาคตสดใสหลังสำเร็จการศึกษา
การตัดสินใจเลือกเรียนวิชาภาษาไทยของนักศึกษามหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล (Yunnan Normal University)ในชั้นเรียนสอนภาษาไทยของ "ชิน รติธรรมกุล" มาจากสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใกล้ชิดทั้งทางเรื่องวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เนื่องจากมีคนจีนไปตั้งรกรากและประสบความสำเร็จทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และความสะดวกในการเรียนรู้เนื่องจากมีรากฐานร่วมกับภาษาไตที่ใช้กันเมืองสิบสองปันนา จึงไม่แปลกที่คนในมณฑลยูนนานจะมีการเรียนการสอนภาษาไทยมากที่สุดในประเทศจีน
จางซู่เฉิง หรือในชื่อไทยว่าวินัย อายุ20ปี จากภาควิชาการท่องเที่ยว ให้เหตุผลที่เลือกเรียนภาษาไทยว่าอยากจะเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรืออาชีพที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆในยูนนานให้กับคนต่างชาติยังไม่รู้จัก หรือยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ อย่างเช่นหูหนานบ้านเกิดของวินัยเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ยังไม่มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมากนัก แม้ว่าจะมีศักยภาพในอนาคตก็ตาม
วินัยมองถึงการจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจระหว่างสองชาติว่าจะต้องมีคนที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมไทยกับจีน เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีคนไทยที่พูดจีน หรือคนจีนที่พูดไทยได้มากขึ้น แต่ว่าในเรื่องของความแตกต่างด้านวัฒนธรรมก็ยังมีอยู่ การเรียนภาษาไทยก็จะทำให้เข้าใจวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น แล้วปีนี้วินัยก็จะไปเรียนภาษาไทยที่ราชภัฐสวนสุนันทาเป็นเวลาสองปี สิ่งเหล่านี้จะช่วยนำมาพัฒนาทั้งคน การศึกษา ความเข้าใจวัฒนธรรม และความเจริญของเศรษฐกิจไทย-จีนให้ดำเนินไปด้วยกันอย่างดี เพราะสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป
ทางด้านหม่าซาซาหรือในชื่อไทยว่ามัสยา อายุ 20 ปีจากภาควิชาภาควิชาการสอนภาษาจีนสำหรับคนต่างชาติ มีแรงบันดาลใจในการเข้ามาเรียนภาษาไทยจากคนที่กลับมาจากเมืองไทยและการรับฟังข่าวสาร ได้รับรู้แง่มุมที่ทันสมัยและการรักษาวัฒนธรรมเดิมได้อย่างสมดุลย์ จึงน่าสนใจที่เมืองไทยยังคงรักษาสองสิ่งนี้ให้ดำเนินควบคู่กันได้เป็นอย่างดี
มัสยาเห็นว่าการเข้าถึงการเข้าสู่วิชาชีพสื่อสารมวลชนในฐานะผู้ประกาศข่าวเป็นช่องทางที่จะได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาในการแนะนำ ประเทศไทยให้คนจีนได้รู้จักดียิ่งขึ้น ถ้าเลือกได้ก็อยากเลือกทำงานในประเทศไทยเป็นอาจารย์, ไกด์ หรือว่าเป็นล่าม เพราะว่าสาขาวิชาที่เรียนมาเป็นการใช้ภาษาจีนเพื่อสื่อสารให้คนต่างชาติได้เข้าใจ จึงคิดว่าอาชีพดังกล่าวเหมาะสมกับความถนัดของตัวเอง
เดือนมีนาคม 2548ที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษาของไทยนำทีมโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการและนิทรรศการการศึกษา ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งผลการจัดงานแม้จะได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาจีนเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากนักศึกษาจีนส่วนหนึ่งว่าอุปสรรคทางด้านภาษา ทำให้ผู้สนใจจำนวนมากไม่ได้รับข้อมูลที่จากหลายหน่วยงาน เพราะนักศึกษาส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจในเอกสารที่ทำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ต่างกับหลายสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับนำเสนเอกสารเป็นภาษาจีนจึงมีผู้ให้ความสนใจอย่างคับคั่ง
ในขณะที่ การอบรมภาษาจีนนั้น ทางด้านชมรมพัฒนาการสอนภาษาจีนภาคเหนือร่วมกับสถานกงสุลจีน และสำนักงานจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน จัดอบรมแนวทางการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นที่โรงเรียนสหศึกษา(ช่องฟ้าซินเซิง) จ.เชียงใหม่ โดยได้เชิญอาจารย์สอนภาษาจีน-เจ้าหน้าที่ จาก สป.จีน เข้ามาเป็นวิทยากร 8 คน และมีคณะครู-อาจารย์ที่สอนภาษาจีนตามโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนืออยู่แล้ว เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 60 กว่าคน เพื่อสนองความต้องการบุคลากรที่สอนภาษาจีนในประเทศไทยขณะนี้เพิ่มมากขึ้นทุกขณะตามการขยายตัวทางการค้าของจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|