|
จีนมองจีน : เมืองเวินโจวและคนเวินโจวที่คุณควรรู้จัก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ที่ประเทศจีนเพื่อพูดถึงสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าเลียนแบบยี่ห้อดัง เมื่อพูดถึงการเล่นหุ้น พูดถึงเล่นบ้านจัดสรร เมื่อพูดถึงการค้าชายแดน ไม่มีใครไม่นึกถึงเมืองเวินโจวและคนเวินโจว
เมืองเวินโจวตั้งอยู่ที่มณฑลเจ้อเจียง มีพื้นที่ทางบก 11,784 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทางทะเล 11,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 7.39 ล้านคน แบ่งเป็น 6 อำเภอ คนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง 1.3 ล้านคน นับว่าเป็นเมืองที่ไม่ค่อยใหญ่นัก แต่มีบทบาททางด้านเศรษฐกิจสำคัญต่อจีน
ที่เขื่อนซานเสียะบนแม่น้ำแยงซีเกียง มีโครงการเหมาโดยคนเวินโจวถึง 300 ล้านหยวน ที่ปักกิ่งมีตลาดขายส่งเสื้อผ้าโดนคนเวินโจวเป็นเจ้าของโครงการมียอดขาย 1,500ล้านหยวนต่อปี
ที่เซี่ยงไฮ้คนเวินโจวลงทุน 300 ล้านหยวน สร้างตลาดขายส่งเสื้อผ้าอีก 4 ตลาดไฟแช็คร้อยละ 90 กระดุมร้อยละ 80 หนังสังเคราะห์ร้อยละ 70 และเครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 60ของจีนผลิตที่เมืองเวินโจว คนเวินโจวชอบบุกเบิก คนเวินโจวเป็นพ่อค้าอัจฉริยะ
เดิมที่เวินโจวเป็นเมืองค่อนข้างยากจนถ้าเทียบกับเมืองอื่นของมณฑลเจ้อเจียง แต่ตั้งแต่ประเทศจีนเปิดประเทศ ปฏิรูปทางเศรษฐกิจเป็นต้นมา ทางรัฐบาลจีนอนุญาตให้เอกชนประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ อนุญาตให้สินค้าจำหน่ายและหมุนเวียงทั่วประเทศจีน คนเวินโจวเริ่มประกอบธุรกิจกันในขณะนั้น โดยรูปแบบครัวเรือน สามีผลิตสินค้าที่บ้านและภรรยาขายสินค้าที่ต่างมณฑล
เมื่อสินค้าขายดี รายได้ดี จึงชวนญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านช่วยกันทำ ช่วยกันขาย กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่หรือที่เรียกว่า "รูปแบบเวินโจว" คือทั้งหมู่บ้านผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน
ในขณะเดียวกันมีอีกทีมหนึ่งขายสินค้าที่หมู่บ้านผลิตในต่างมณฑล ระยะแรก สินค้านั้นมีราคาถูกแต่คุณภาพต่ำ ส่วนมากเป็นของจำลองหรือเลียนแบบ แต่เนื่องจากว่าผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน จึงค่อยๆเกิดความชำนาญกัน และมีการพัฒนาทั้งคุณภาพ รูปแบบ และสีสันให้ความหลากหลาย จนไม่มีใครและไม่มีที่ใดมาแข่งขันกันได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยว่า ไฟแช็ค,กระดุม ,หนังสังเคราะห์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ของจีนผลิตที่นั่น
เมื่อผลิตสินค้าจำนวนมาก ขายจำนวนมากและได้กำไร เก็บเงินเป็นก้อนหนึ่งแล้วก็เริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นที่ทราบกันว่าในเมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่ประเทศจีนเพิ่งเริ่มจะมีการเล่นหุ้นกัน หุ้นขึ้นเร็วคนที่เล่นหุ้นได้กำไรดีมาก คนเวินโจวสามารถจับโอกาสนี้เล่นหุ้น ทำให้คนเวินโจวกลายเป็นเศรษฐีย่อมๆกันทั่วหล้า
เมื่อตลาดหุ้นจีนเริ่มจะทรงตัวหรือไม่ค่อยได้กำไรแล้ว คนเวินโจวเริ่มหันมาเล่นบ้านจัดสรรโดยเริ่มจากปักกิ่ง เมื่อมีบ้านจัดสรรสร้างเสร็จ ถ้าเห็นว่าทำเลดี อีกหน่อยราคาน่าจะขึ้น คนเวินโจวก็ตัดสินใจแล้วซื้อทันที เหมาหมดทั้งชั้นหรือเหมาหมดทั้งตึกและสร้างกระแส ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าบ้านจะต้องขึ้นราคาแน่นอน อีกสองสามเดือนก็ขายออก จากราคาเดิม 8000 หยวนต่อตารางเมตร ขายเป็น 12,000 หยวนต่อตารางเมตร
หลังจากตลาดบ้านจัดสรรที่ปักกิ่งร้อนแรงแล้ว คนเวินโจวก็หันมาเล่นบ้านจัดสรรที่เซี่ยงไฮ้ นานกิง และฉงชิ่ง ก่อนที่คนเวินโจวเข้าไปเล่นบ้านจัดสรรที่ฉงชิ่ง ตารางเมตรหนึ่งอยู่ที่ 2900 หยวน แต่พอคนเวินโจวเข้าไปราคาขึ้นมาเป็น 4,900หยวนต่อตารางเมตร ซื้อขายบ้านชุดหนึ่ง 100 ตารางเมตรได้กำไรสุทธิอยู่ที่ 200,000 หยวนเป็นอย่างต่ำ
ปัจจุบันคนเวินโจวกลุ่มหนึ่งยังคงทำธุรกิจบ้านจัดสรรอยู่ แต่อีกกลุ่มหนึ่งหันมาเล่นการค้าชายแดน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมเปิดการค้าชายแดนและส่งเสริมสร้างเขตการค้าเสรีจีนอาเซียน ทุกวันนี้ มีคนเวินโจวประมาณ 1 แสนกว่าคนทำการค้าตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม จีน-ลาวและจีน-พม่า ไม่ว่าหินหยก ยาสมุนไพรจีน วีซีดีเถื่อนทั้งหมดมาจากฝีมือการค้าของคนเวินโจว
ในปี 2003 ทั่วเมืองเวินโจวมีคนทำค้าขายตามที่ต่างๆทั่วประเทศจีน 1.6 ล้าน ประกอบธุรกิจแบบครัวเรือนที่ต่างมณฑลถึง 370,000 ครัวเรือน และก่อตั้งวิสาหกิจ 30,000 กว่าแห่ง ยอดจำหน่ายของธุรกิจครัวเรือนและวิสาหกิจถึง 160,000 ล้านหยวน ในขณะเดียวยังมีชาวจีนพ้นทะเลที่มีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนเวินโจวอีก 4 แสนกว่าคนพำนักต่างประเทศ 100 กว่าประเทศ
ตั้งแต่ประเทศจีนดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 เป็นต้นมาเป็นเวลาเกือบจะสามสิบปีแล้ว คนเวินโจวกลายเป็นมหาเศรษฐีของประเทศจีน "มีเงินร้อยล้านไม่นับว่ารวย พันล้านเพิ่งเริ่มต้น" 70% ของครอบครัวคนเวินโจว มีบ้านเดี่ยว 4 ชั้น 1 หลัง มีรถยนต์สองคัน คันหนึ่งผลิตที่จีน อีกคันหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ
คนจีนเองพอได้ยินคู่ค้าเป็นคนเวินโจวก็สะดุ้ง คนไทยถ้าคิดจะค้าขายกับจีนต้องศึกษาคนเวินโจวให้ดี "รู้เขารู้เรา สู้ร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง "
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|