|
มองเอนทรานซ์จีน ระบบจัดการศึกษาต้องคำนึงความจริงสังคม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ระบบการศึกษาในจีนไม่ต่างจากไทยในอดีต ฝึกนักเรียนพันวันเพื่อการสอบครั้งเดียว รัฐแบ่งสถาบันการศึกษาเป็นชั้นให้เหมาะกับระดับความสามารถแก้ปัญหาแห่เข้ามหาวิทยาลัยดัง นักศึกษาชี้แม้ก่อให้เกิดความเครียดสะสมอย่างยิ่งยวด แต่ก็ยังเป็นระบบที่มีทั้ง “ความยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างที่สุด”
แรกเริ่มเดิมที นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จวบจนถึง ปี พ.ศ.2541 ระบบการคัดเลือกบุคคลศึกษาต่อของประเทศไทยหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าระบบการสอบ เอนทรานซ์จะพิจารณาจากคะแนนสอบ 100% เช่นเดียวกับประเทศสำคัญทางตะวันออกไกลไม่ว่าจะเป็น จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติตั้งแต่ปี 2542 โดยนำสัดส่วนของผลการเรียนสะสมมาร่วมการพิจารณาซึ่งยังไม่สามารถพบแนวทางที่เหมาะสมจวบจนปัจจุบัน
ในกรณีของประเทศจีน การสอบเอนทรานซ์จะมีการจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นระยะเวลาสามวัน ซึ่งสำหรับนักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาระดับสูงชั้นปีที่3 (Hi school) เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่6ของไทย จะได้เตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งตามปกติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงของระยะเวลาการปิดเทอมฤดูหนาวของจีน คือช่วงเดือนมกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีระยะเวลาปิดเทอมสำหรับนักเรียนชั้นปีสุดท้ายก็ว่าได้
ในระยะเวลาดังกล่าว นักเรียนแทบทุกคนจะเดินทางมาที่โรงเรียนเพื่อการเก็บตัวฝึกซ้อมกระบวนวิชา โดยการเข้าห้องเรียนที่ทางโรงเรียนเป็นฝ่ายจัดให้เป็นพิเศษ ซึ่งทางรัฐจะมีนโยบายให้ครูในโรงเรียนต้องจัดการกวดวิชาให้นักเรียนของตน อันทำให้ครูผู้กวดวิชาให้กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากการจัดการสอนดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดการสอนตามปกติ อย่างไรก็ดีกลุ่มครูดังกล่าวก็จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้นอีก ประมาณเดือนละ 200 หยวน ซึ่งเงินเดือนครูมัธยม เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 หยวนต่อเดือน
ในแต่ละเดือน ก็จะมาการจัดการสอบ ซึ่งครูผู้สอนจะเป็นผู้จัดทำข้อสอบขึ้นมาเอง ดังนั้น ก็จะมีการสอบ ประมาณ 5 ครั้ง ในช่วงมกราคมถึงพฤษภาคม เพื่อเป็นการให้นักเรียนได้ ลองทำข้อสอบเหมือนจริง และทราบถึงความสามารถของตัวเองเป็นระยะๆ
สำหรับการเข้าไปเรียนพิเศษ ตามโรงเรียนกวดวิชา ต่างๆ นอกโรงเรียน ไม่เป็นที่นิยม ส่งผลทำให้จำนวนโรงเรียนกวดวิชามีจำนวนไม่มากนัก สาเหตุที่ไม่ได้รับความนิยมมาจากเหตุผลหลักสองประการคือ ทุกโรงเรียนต่างจัดให้มีการสอนติวอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว และนักเรียนไม่ต้องจ่ายค่าเรียนใดๆ เพราะงบประมาณส่วนนี้ได้รับการจัดสรรจากรัฐ
ระบบการสอบเข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเรียกว่าระบบ 3 + x โดย 3 จะเท่ากับวิชาหลักที่นักเรียนในทุกสาขาวิชาต้องสอบ อันประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ซึ่งแยกย่อยเป็น คณิตศาสตร์1 สำหรับนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์2 สำหรับนักเรียนสายศิลป์ ตามาด้วยภาษาอังกฤษและภาษาจีน
ส่วน X จะเท่ากับหมวดวิชาแยกไปตามกลุ่มสาขาวิชาของคณะต่างๆที่นักเรียนจะสมัคร เช่นสายวิทยาศาสตร์จะเพิ่มขึ้นวิชา คือ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ความรู้เบื้องต้นทางด้านสังคมปรัชญา ส่วนสายศิลป์จะเป็น ประวัติศาสตร์ วาดเขียน ดนตรี ปรัชญาการเมือง แล้วแต่คณะที่จะศึกษาต่อจะกำหนด โดยแต่ละวิชาจะมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 120 คะแนน โดยข้อสอบที่ใช้จะเป็นข้อสอบกลาง และผลการสอบจะประกาศราวเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเลือกคณะ
โดยการเลือกคณะนั้นจะเลือกได้ทั้งหมด 3 อันดับ ใช้ผลคะแนนขั้นต่ำจากคะแนนเต็ม 720 คะแนนเป็นเกณฑ์พิจารณาเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆดังนี้คือ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ควรได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 630 คะแนน มหาวิทยาลัยชั้นสอง ควรมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน มหาวิทยาลัยชั้นสาม คะแนนขั้นต่ำจะอยู่ที่ 510 คะแนน และมหาวิทยาลัยเอกชน ควรทำได้ 320 คะแนนขึ้นไป หากใครที่ไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้คือมีคะแนนต่ำกว่า 320 คะแนน มีทางเลือกสองทางคือเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดรับเป็นพิเศษแต่ไม่นิยมเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมถึงนักเรียนจีนโดยทั่วไปมีค่านิยมไม่ยอมรับสถาบันเอกชน หรือไม่ก็ต้องสอบใหม่ในปีต่อไป
เมื่อยื่นเลือกอันดับแล้วหลังจากนั้นหนึ่งเดือน คือประมาณเดือนสิงหาคม ผลการสอบคัดเลือกจะออกมา สำหรับผู้ไม่สามารถสอบคัดเลือกได้ ทางมหาลัยที่เลือกอันดับต่ำสุด จะ เลือกสาขาที่นักเรียนสามารถเข้าเรียนได้ให้มา 1 สาขา นักเรียนมี 2 ทางเลือก คือ เข้าเรียนในสาขานั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าเรียนไปแล้ว สามารถย้ายสาขาได้ แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ประมาณ 10,000 หยวน หากไม่ต้องการเข้าเรียนในสาขาที่มหาลัยเลือกให้ ก็ รอสอบใหม่ปีต่อไป
เจ้าจื้อหุ้ย ( Zhao zhi hui) นักเรียนปี 3 สาขาภาษาเกาหลี มหาวิทยาลัยฮยอนแด , ซานตง ซึ่งศึกษาในมหาวิทยาลัยระดับสองได้ให้ความเห็นว่าแม้ระบบดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม แต่โดยสำหรับกรณีของประเทศจีนที่จำเป็นได้ปคนที่มีสามารถในการเรียนรู้สูงสุดในการศึกษาต่อ ระบบการรับจากผลคะแนนการสอบเข้าจึงเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนว่ามีความยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างที่สุด นอกจากนี้ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมที่จะศึกษาอะไรก็ได้ที่ต้องการหาก ควรหมายถึงศึกษาตามระดับกำลังความสามารถ ความขยันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
การที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติการลดใช้ผลการเรียนผลการเรียนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระ (GPA)40% ลดลงเหลือ 20% ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมกับเครือข่ายพ่อแม่-เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ถือเป็นภาพที่สง่างามพอสมควร ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน การที่นักวิชาการ การจัดการศึกษาจะเลือกใช้ระบบการจัดการศึกษาในรูปแบบใดควรที่จะพิจารณาผลกระทบต่อวงกว้างอย่างลึกซึ้ง และมีจิตใจเปิดกว้าง อย่างไรก็ดีในสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็น คุณภาพการเรียนการสอนการพิจารณาให้คะแนนของโรงเรียนในประเทศไทยยังมีความแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยก่อนที่จะนำระบบระบบกลาง ฯ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า แอดมิสชั่นส์ มาใช้ก็ควรจะทำให้ช่องว่างของความแตกต่างที่มีแคบลงก็ยังดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นความพยายามแก้ปัญหาเพียงมิติเดียวและอาจส่งผลกระทบต่อองค์รวมระบบการศึกษาของประเทศไทยในที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|