“ชิงเต่า” ปลุกกระแสท่องเที่ยว รับมือเจ้าภาพเรือใบโอลิมปิก2008


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

อีก 3 ปี ประเทศจีนจะเปลี่ยนไป เพราะหลังจากที่จีนได้เป็นเจ้าภาพแข่งขันโอลิมปิกปี 2008 หรือ พ.ศ.2551 ทำให้ทุกมณฑลที่เกี่ยวข้องกับการจัดแข่งขันกีฬาได้ทุ่มลงทุนพัฒนาทั้งสนามกีฬา ที่พัก ตลอดจนอินฟราสตรัคเจอร์มากมาย

มันเป็นการเตรียมพร้อมของจีน ว่ากันว่า หากคุณมาจีนวันนี้ แล้วอีก 3 ปีคุณมาใหม่คุณจะได้พบกับประเทศจีนที่แปลกตาออกเลยทีเดียว จะเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง สวนสนุก สนามกีฬาระดับโลกมากมาย ดูหรูหรา

ผู้บริหารจีนบอกว่า การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ถือว่าเป็นแผนแม่บทของรัฐบาลจีน ใช้เป็นช่องทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปพร้อมกันทั้งหมด

ล่าสุดก็เห็นจะเป็น เมืองชิงเต่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน อยู่ในมณฑลซันตง ซึ่งเฉพาะมณฑลนี้มี GDP 6 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว

ชิงเต่า ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของมณฑล รัฐบาลจีนยกให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเรือใบในมหกรรมโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้ว่าการชิงเต่าและผู้อำนวยการท่องเที่ยว จัดแนะนำเมืองด้วยการเชิญแขกตั้งแต่สื่อมวลชน เอเย่นทัวร์ ตัวแทนองค์กรท่องเที่ยวของทั่วโลก จาก 50 กว่าประเทศ จำนวน 250 ชีวิตเข้ามาเยี่ยมชมเมือง พร้อมกับจัดงาน Qingdao International Tourism Expo 2005 ขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดสัมมนา Asia & Pacific Tourism Development Forum,Qingdao China 2005 เพื่อให้ตัวแทนแต่ละประเทศมาแสดงวิสัยทัศน์ด้านท่องเที่ยว

“ปี 2008 เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชิงเต่า 1 ล้านคน”หวาง เจียน กง ผู้อำนวยการท่องเที่ยว เมืองชิงเต่า บอกแผนของชิงเต่าที่วางไว้ก็คือ สร้างโรงแรมเพิ่มเพื่อรองรับอีก 80 แห่งเป็น 180 แห่งในพ.ศ. 2551 และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศ จัดโซนทะเลอย่างเป็นระบบ มีรีสอร์ต สนามกอล์ฟ อันเดอร์วอเตอร์เวิล์ด เรือยอร์ช

สิ่งที่ผู้บริหารใช้เป็นต้นแบบ ก็คือประเทศอิตาลี ซึ่งเมืองชิงเต่าถือว่าเป็นเมืองยุโรปก็ว่าได้ เพราะความที่บรรยากาศ สภาพแวดล้อม ตึกรามบ้านช่อง มีสไตล์ยุโรปกว่า 90% ทำให้เมืองนี้ดูแตกต่างจากเมืองอื่นๆของจีน

“เป็นยุโรปของจีนก็ว่าได้”

การเชิญเอเย่นทัวร์ สื่อมวลชนและองค์กรท่องเที่ยวมาครั้งนี้ถือว่าได้ผลพอสมควร ทำให้ชิงเต่าได้รับคำชมว่าเป็นเมืองที่สวยที่สุดของจีน ถนนหนทางสวยงาม สิ่งก่อสร้างมีประวัติศาสตร์ของการตกเป็นเมืองขึ้นของเยอรมนีในอดีต

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นกำลังหลักของชิงเต่าก็คือ เกาหลี ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 2 แสนคน รองลงมาเป้น ญี่ปุ่น 1.5 แสนคน รองลงมาก็เป็นฮ่องกง ยุโรป ซึ่งกำลังมีเพิ่มขึ้น ขณะที่คนไทยเองก็มีน้อยนักที่เข้ามาท่องเที่ยว เพราะไม่มีเครื่องบินๆตรง แต่จะต้องบินต่อมาจากเซี่ยงไฮ้

“ปี 2549 เราจะเป็นเจ้าภาพแข่งขันแรลลี่ระดับชาติ กลุ่มยุโรปจะเข้ามาจัดที่นี่”ผอ.ท่องเที่ยว กล่าว

หากเปรียบเทียบชิงเต่ากับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆในจีน หวาง เจียน กง บอกว่า ปี 2003 ชิงเต่าอยู่ในอันดับที่ 18 ปี 2004 ขยับมาอยู่ที่ 13 และคาดว่าในปีนี้ เราจะขยับขึ้นมาเป็น 1 ใน 10 เมืองท่องเที่ยวของจีน

ชิงเต่า มีรายได้จากการท่องเที่ยว 200 ล้านหยวนหรือประมาณ 1,000 ล้านหยวน GDP เติมโต 14.6% และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับผลสรุปจากการเปิดฟอรัมครั้งนี้ ปรากฏว่า มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาติท่องเที่ยวได้แก่ ชิงเต่า ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งตกลงในขั้นต้นที่จะสร้างเรือสำราญวิ่งระหว่างกัน เพราะทั้ง ชิงเต่า โซล โตเกียว อยู่ในแนวระนาบเดียวกัน ทำให้การท่องเที่ยวไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น บินไปมาแค่ 1 ชม.เท่านั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใด นักท่องเที่ยวจากเกาหลีและญี่ปุ่นถึงเข้ามาเที่ยวในชิงเต่ามากที่สุด

ไทยดึงนักท่องเที่ยวจีน

สมชาย ชมระกา กรรมการผู้จัดการ วีคเอนทัวร์ เป็นตัวแทนสมาคมเอกชนด้านท่องเที่ยวของไทย ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านท่องเที่ยว เขาได้เชิญชวนให้เอเย่นทัวร์ องค์กรการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและสื่อมวลชนที่เข้าฟังบรรยาย หันมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หลังจากที่ไทยผจญสึนามิทำให้คนทั่วโลกรู้จักไทยมากขึ้น และขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่พัก โรงแรม แหล่งช้อปปิ้ง รวมทั้งคนไทยที่มีอัธยาศัยดีกับนักท่องเที่ยว

ส่วนงานแสดงมหกรรมทัวร์เอ็กโปร์ ของชิงเต่า ได้เชิญให้ประเทศไทยไปจัดบูธเช่นกัน แต่ปรากฏว่า การท่องเที่ยวไทยได้บูธเล็กขนาด 3 คูณ 3 แตกต่างจากศรีลังกา กัมพูชา ลาว ที่ไปจัดบูธใหญ่กว่าถึง 3 เท่า ขณะที่มาเลเซียเองก็ให้สายการบินมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดบูธดึงนักท่องเที่ยว เอเย่นทัวร์ และแนะนำสื่อมวลชนที่เมืองชิงเต่าเชิญเข้ามาดูงานในครั้งนี้กว่า 250 ชีวิต เป็นการใช้จังหวะนี้ในการแนะนำการท่องเที่ยวของตนเอง ซึ่งเป็นการเปิดกว้างของเมืองชิงเต่าที่ให้โอกาส

“เราให้ททท.ที่ปักกิ่งจัดบูธ ซึ่งเรามีงบประมาณจำกัดทำให้ได้แค่นี้”ผู้บริหาร ททท.ให้ความเห็น

ขณะที่ผู้บริหารกิจการทัวร์หลายคนที่ถูกทางการชิงเต่าเชิญมาร่วมงานดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยพยายามจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น แต่เหตุใดถึงไม่ให้ความสำคัญในการจัดบูธแนะนำการท่องเที่ยวของประเทศ ให้สมฐานะ

“เสียหายที่เราไม่ใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ เรามีบูธแย่กว่าคนอื่น ทั้งที่เราน่าจะทำได้ดีกว่า เพราะนี่เป็นหน้าตาของประเทศ การดึงเอเย่นทัวร์ องค์กรท่องเที่ยวและสื่อมวลชนเข้ามาจากทั่วโลกมาดู เราจะได้ประโยชน์มาก”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.