|

จีนป่วนตลาดเสื้อผ้าไทย “ก๊อปปี้”ลายพิมพ์ขายตัดราคา90%
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เสื้อผ้าจากผู้ผลิตไทย ถึงยุควิกฤต ! จีนส่งมือดี “ก๊อปปี้”ลายพิมพ์ผ้าไทย และผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาตีตลาดไทย ด้วยราคาที่ถูกกว่า 50-90% ทันทีที่สินค้าไทยวางขายในตลาด ด้านนายกสมาคมฟอกย้อมฯ ชี้ พ่อค้า แม่ค้าไทย จะอยู่รอดได้ ต้องยกระดับการผลิต ปรับปรุงคุณภาพ สร้างเอกลักษณ์สินค้า “ ก.พาณิชย์ “ ตื่น เตรียมระดมสมองแก้วิกฤตในเดือนมิ.ย.นี้
ผู้ประกอบการและเจ้าของร้านค้าในตลาดโบ๊เบ๊ ปัจจุบันประสบปัญหาในเรื่องการผลิตและการขายเสื้อผ้ามากขึ้น จนบางร้านทนแบกรับภาระไม่ได้ต้องปิดตัวเอง และหันไปประกอบอาชีพอื่น
“เสื้อผ้าจากจีนเข้ามาตีตลาดไทย ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แต่พ่อค้า แม่ค้า ก็ยังทนสู้ต่อได้
เพราะเรามีแบบและลายพิมพ์ผ้าที่ตลาดต้องการ แต่วันนี้ทุกอย่างเรากำลังถูกจีนส่งคนมาก็อปปี้ไปหมด ” พ่อค้า แม่ค้า ย่านโบ๊เบ๊ ระบุ และบอกด้วยว่า ตลาดเสื้อผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยถูกแย่งชิงเห็นได้จากยอดขายส่งและปลีกที่ลดลงกว่า 80%
การที่จีนเข้ามาแย่งตลาดไทยได้นั้น นอกจากจะมาจากปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้า ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงและเทคโนโลยีในการผลิตที่สินค้าในปริมาณเท่ากันทางไทยใช้เวลาในการผลิตเป็นเดือนขณะที่จีนใช้เวลาไม่ถึง3วันแล้ว และเมื่อจีน สามารถลอกเลียนแบบและสามารถพิมพ์ลายผ้าได้เหมือนของไทยทุกอย่างแต่ราคาของจีนกลับถูกกว่า 50 – 90 %
แฝงภัยในรูปแบบนักท่องเที่ยว
พ่อค้า แม่ค้า กล่าวด้วยว่า เดิมคนไทยจะสั่งซื้อผ้าดิบจากเมืองจีน จากนั้น จะนำมาพิมพ์ลายต่าง ๆกันเอง ซึ่งแบบลายผ้าของไทย จะมีจุดเด่น เมื่อเทียบกับเสื้อผ้าจากจีน ดังนั้นในช่วงแรก ๆ แม้สินค้าของจีนจะทะลักเข้ามา ก็ยังไม่เป็นปัญหาเท่าทุกวันนี้
“วันนี้สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาลายพิมพ์ผ้าก็เหมือนของเรา ไม่ว่าเราจะออกลายพิมพ์อะไร เขามีพร้อมวางตลาดได้เลย แต่ราคาถูกกว่าเรา ”
พวกเขา ระบุว่า กระบวนการลอกเลียนแบบ ในยุคแรกๆ จีนจะจัดส่งคนเข้ามาในรูปแบบของนักท่องเที่ยวมาเลือกซื้อเสื้อผ้าจากร้านค้า ก่อนที่จะทำไปลอกเลียนแบบและส่งกลับมาขาย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาไม่เกินสองอาทิตย์ ขณะที่ปัจจุบันขบวนการดังกล่าวได้มีการพัฒนารูปแบบไม่ว่าจะเป็นให้คนสัญชาติเดียวกันและมีคนไทยร่วมขบวนการขายผลงานภูมิปัญญาของคนในชาติ ด้วยการจัดซื้อและส่งขึ้นไปเพราะจะได้ทำการลอกเลียนแบบได้ทันกับลวดลายใหม่ๆที่มีการผลิตออกมา แม้ทางร้านค้าจะได้พยายามสอดส่องแต่ก็ไม่สามารถป้องกันกระบวนการดังกล่าวได้
ทั้งนี้เพราะขบวนการลอกเลียนแบบมีการสับเปลี่ยนหมุนคนที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า และจากนั้นก็นำไปผลิตและส่งเข้ามาขาย และนี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้า ไม่สามารถขายสินค้าได้และต้องแบกภาวะขาดทุนซึ่ง ผู้ประกอบการบางส่วนหยุดกิจการ ขณะที่บางรายต้องปรับไปทำกิจการอย่างอื่นแทน
การเกงยีนส์ปักเลื่อมจีนถูกกว่า 400%
ลีน่า จังจรรจา อดีตผู้ประกอบการผลิตและขายส่งกางเกงยีนส์ปักเลื่อมรายใหญ่ของประตูน้ำ ได้เล่าถึงประสบการณ์ตรงว่าที่ผ่านมาลูกค้าที่เคยสั่งออเดอร์กางเกงยีนส์ปักเลื่อมจากร้านค้าของเธอมีทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าประจำจากแคนาดา ตะวันออกกลางจนกระทั่งเกิดขบวนการลอกเลียนแบบสินค้าเป็นล่ำเป็นสัน
“ยังไงก็สู้ไม่ได้เลย กางเกงยีนส์ปีกเลื่อมที่ทำขายในไทยราคาเกือบ 500 บาท จีนทำลงมาเหมือนเราได้ในราคาแค่ 100 กว่าบาท ขณะที่ของราคา 100 บาทเท่ากัน ไทยทำได้แค่ธรรมดาๆ ขณะที่ 100 บาทจากจีนทำได้สวยหรูหรามาก”
เธอบอกว่าผู้ประกอบการคนไทยรอดตายจากปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นยาก เพราะคนลอกเลียนแบบทำได้เก่งมากและทำได้เร็วด้วย ทางออกของปัญหาเพียงอย่างเดียวคงจะต้องสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและเกิดความนิยมในการซื้อของแท้ แต่ต้องใช้ทุนมหาศาล ถ้ารัฐไม่สนับสนุนอย่างจริงจังจะมีซักกี่คนที่ไปถึงตรงนั้นได้
“พาณิชย์” ระดมทีมแก้ปัญหา
ด้านปิลันธ์น ธรรมมงคล นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมและตกแต่งสิ่งทอไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมฯรับทราบปัญหาดังกล่าวมาตลอด แต่มองว่าแม้ว่ายอดส่งออกผ้าผืนหรือเสื้อผ้าแมสจะลดลง แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นผลบวกแก่วงการธุรกิจสิ่งทอไทยที่จะต้องมีการปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าในอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากขบวนการลอกเลียนแบบ เนื่องจากผู้ผลิตไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องการสร้างสรรค์ การออกแบบรวมความใส่ใจในกระบวนการผลิตไปถึงตลาดต่างชาติเองก็ยังเชื่อมันในคุณภาพสินค้าที่ออกมาจากประเทศไทยว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่มีระดับที่เหนือกว่า ดังนั้นวิกฤตในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจสิ่งทอไทยโดยจะทำหน้าที่เป็นตระแกรงคัดกรองคนที่ไม่พัฒนาตนให้มีการปรับปรุงให้มีคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ยกระดับยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาการลอกเลียนแบบลายพิมพ์ผ้าไทยนั้น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เองไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กรมฯได้ หารือกับนายกสมาคมธุรกิจการพิมพ์สกรีน เพื่อรับทราบวิกฤตที่เกิดขึ้น และได้ข้อสรุปจะมีการ เรียกประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น จาก 3 ฝ่ายในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ ประกอบด้วย ฝ่ายโรงงานผู้ผลิตผ้า, ดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบลวดลาย และ กลุ่มธุรกิจการพิมพ์ทำสกรีน เพื่อหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะร่วมมือกันยกระดับสินค้าพิมพ์ลายผ้าไทยและธุรกิจสิ่งพิมพ์สกรีนไทยด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|