|
ธุรกิจปล่อยกู้เถื่อนบานสะพรั่ง มาตรการแบงก์ชาติออกฤทธิ์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการสินเชื่อบุคคลสวดแบงก์ชาติต้นเหตุเงินกู้นอกระบบเกลื่อนเมือง กฎเกณฑ์คุมวงเงิน 5 เท่า พิจารณาผ่านเครดิตบูโร ค่าครองชีพมหาโหด ทำผู้เดือดร้อนเงินไร้ทางออก จำใจหันหน้าซบแม้ต้องเสียเปรียบ เผยเคยเตือนเรื่องนี้ในการหารือแต่คนทางการคุยจัดการได้ ข้องใจทางการปิดช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องผจญกับปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งนับร้อยเปอร์เซนต์จากพิษราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับยังคงเท่าเดิม ย่อมส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของภาคประชาชน เมื่อเงินขาดมือจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหันไปพึ่งเครื่องมือทางการเงินที่พอมีอยู่ เช่น บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล
เห็นได้จากตัวเลขผู้ใช้บัตรเครดิตเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและสูงกว่าเดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศผ่านบัตรเครดิตก็เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน เช่นเดียวกับยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้า
เมื่อเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผลบังคับให้ผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลต้องปฏิบัติตาม เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ไม่เกิน 28% ต่อปีและให้คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก รวมถึงการคุมวงเงินการให้สินเชื่อแต่ละรายไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยไม่ได้กำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอกู้ ให้สิทธิผู้ประกอบการเป็นผู้พิจารณาเอง
16 กรกฎาคม 2548 การเดินหน้าของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทย ที่ออกมาเปิดโปงขบวนการของธุรกิจเงินกู้นอกระบบ ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในขณะนี้ ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนเงินต้องแบกรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินที่ได้รับจริง
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการไร้ทางออกของประชาชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของผู้ให้กู้ที่มีอยู่ในระบบได้
บานสะพรั่ง
"การให้บริการเงินกู้นอกระบบเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในอดีตอาจจะมีผู้ใช้บริการไม่มากนัก เนื่องจากมีทางเลือกในการใช้บริการของผู้ประกอบการที่ถูกต้อง แต่เมื่อหลักเกณฑ์ของทางการเข้มงวดมากขึ้น การคุมวงเงินที่ 5 เท่า การอนุมัติสินเชื่อต้องตรวจสอบผ่านเครดิตบูโร เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่เดือดร้อนเงินไปในตัว ทำให้ขอบเขตการให้บริการลูกค้าแคบลง เมื่อพวกเขาไม่มีทางออกก็ย่อมต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ" ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าว
ทุกวันนี้เกือบทุกสะพานลอย เสาไฟฟ้า จะมีป้ายเชิญชวนให้ไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบแทบทุกแห่ง บ่งชี้ถึงการตอบรับของผู้บริโภคในยุคสินค้าแพงได้เป็นอย่างดี
"เรายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจริง มีอดีตพนักงานของผู้ให้บริการสินเชื่อที่ถูกต้องรู้ช่องทาง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้า และบุคคลที่ยังทำงานอยู่ในองค์กร ร่วมกันหาประโยชน์จากผู้ที่เดือดร้อน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
รูปแบบที่ใช้ไม่แตกต่างจากอดีตคือรูดซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าจำนวนเงินสดที่ต้องการแล้วผู้ให้กู้จ่ายเป็นเงินสดให้ จากนั้นผู้ให้กู้ก็จะนำสินค้าไปขายต่อ ผู้ขอกู้ต้องรับภาระเท่ากับจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าไป
เมื่อเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่คุมวงเงินสินเชื่อ 5 เท่า บางรายวงเงินเต็ม ผู้ให้บริการเถื่อนก็ใช้วิธีขยายวงเงินให้ด้วยการติดต่อกับสาขาของเจ้าของบัตรและคุยกับร้านค้าที่รับบัตร แล้วใช้หลักการเดิม ส่วนต่างที่ได้นำมาแบ่งกัน
"อย่าลืมว่าผู้ประกอบการที่ถูกต้องในปัจจุบันต่างแข่งขันกันขยายสาขา ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องว่าที่เกิดการทุจริต บางสาขาทุจริตกันทั้งสาขาก็มี"แหล่งข่าวกล่าว
เงินมาก่อนดอกเบี้ย
เขากล่าวต่อไปว่า ลูกค้าของเราหลายรายยอมรับว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักคืออยากได้เงินด่วน เพราะคนเรามีความจำเป็นในการใช้เงินไม่เหมือนกัน ในอดีตบางครั้งผู้มาขอกู้บางรายแม้จะถูกขึ้นบัญชีดำ มีประวัติการชำระไม่ดี แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเรามีน้อยเราก็อนุมัติในวงเงินที่เรายอมรับความเสี่ยงได้ ในมุมหนึ่งก็ช่วยให้ผู้ที่เดือดร้อนเงินสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้
หากมองว่าสาเหตุที่ทางการเข้ามาควบคุมสินเชื่อบุคคลต่อจากบัตรเครดิต เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน ป้องกันปัญหาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น จนทางการเกรงว่าอาจเกิดปัญหาหนี้ล้นพ้นตัว
แต่ในความเป็นจริงทางการต้องพิจารณาด้วยว่า เมื่อประชาชนกู้จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ถามว่าใครเสียประโยชน์ คำตอบคือผู้ที่ให้บริการเสียประโยชน์หากบริษัทต้องล้มไป แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้กู้ก็ไม่ต้องชำระหนี้ ไม่มีผู้ให้บริการรายใดอยากขาดทุน ทุกรายต้องมีระบบการควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ลูกค้ารายใดที่เสี่ยงมากเราก็ให้สินเชื่อน้อยหรืออาจจะไม่ให้เลยก็ได้
เมื่อเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ออกมาทำให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้น จำนวนลูกค้าและวงเงินที่ได้รับการอนุมัติย่อมลดลง บางรายที่ผิดหวังแต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ต้องหาทางออกด้วยการพึ่งสินเชื่อนอกระบบ
ปัญหานี้เคยมีการซักถามธนาคารแห่งประเทศไทยกันตั้งแต่แรก ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าได้เตรียมการจัดการไว้แล้ว แต่ถึงวันนี้เราก็ยังไม่เห็นบทบาทของแบงก์ชาติที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเกิดความเสียหายกับผู้ใช้บริการขึ้นแล้ว
บัตรเครดิตก็แย่
ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่เส้นทางการเข้าถึงสินเชื่อถูกปิดกัน ยังลามไปถึงผู้ที่ใช้บัตรเครดิตด้วย เราได้เห็นยอดการกดเงินสดล่วงหน้าที่ส่อเค้าเพิ่มขึ้นทุกขณะ แม้ว่ากลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตจะมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือน เมื่อสภาพค่าครองชีพที่สูงอย่างนี้ ทางออกของการแก้ปัญหาเรื่องเงินไปพอใช้จึงมุ่งไปที่บัตรเครดิต
บางรายอาจเลือกผ่อนชำระบัตรโดยยอมเสียอัตราดอกเบี้ยที่ 18% สะท้อนได้จากยอดสินเชื่อคงค้างที่เพิ่มขึ้น หรือการเลือกจ่ายผ่านบัตรเพื่อยืดระยะเวลาการชำระเงินออกไป 44 หรือ 55 วันตามที่ผู้ออกบัตรกำหนด เพื่อเป็นการบริหารค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
"ผู้ถือบัตรเครดิตยังถือว่าโชคดีกว่าบุคคลในกลุ่มล่าง เสียดอกเบี้ยเพียง 18% ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ใช้สินเชื่อบุคคลต้องแบกรับดอกเบี้ยถึง 28%"
เงื่อนไขที่กำหนดวงเงินสินเชื่อที่ 5 เท่าของรายได้ หากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นยังคงอยู่ต่อเนื่องและยาวนาน โอกาสใช้เต็มวงเงินก็มีความเป็นไปได้ แน่นอนว่าเมื่อวงเงินบัตรเครดิตเต็มแล้ว หากจะหันไปใช้บริการสินเชื่อบุคคลต่อคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวงเงินสินเชื่อบุคคลก็คุมไว้ที่ไม่เกิน 5 เท่าเช่นกัน ผู้ถือบัตรเครดิตจึงไม่สามารถใช้บริการสินเชื่อบุคคลได้ ดังนั้นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจึงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องพึ่งบริการของเงินกู้นอกระบบ
ที่ผ่านมาทางการพยายามตัดวงจรนี้ออกไป เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ด้วยความมั่นใจ ส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถึงวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ประตูทางออกกลับถูกปิด ผู้ที่เดือดร้อนเงินจึงไม่มีทางออก
ต้นทุนสูง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เพดานอัตราดอกเบี้ยยังถูกคุมไว้ที่ 18% สำหรับบัตรเครดิต และ 28% สำหรับสินเชื่อบุคคล ทุกวันนี้ต้นทุนของผู้ประกอบการก็เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนในการบริการก็ต้องรอคำสั่งของทางการ
หากผู้ประกอบการถอดใจไม่ทำธุรกิจนี้ต่อ แหล่งในการเข้าถึงเงินก็จะหายไปอีก เราจึงไม่แน่ใจถึงจุดประสงค์ของทางการว่าต้องการอะไรกันแน่ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผู้ให้บริการนอกระบบเปิดบริการกันทุกหัวระแหง
การตรวจสอบหรือดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ให้บริการเถือนเหล่านี้คงไม่ง่าย เนื่องจากทุกรายให้เฉพาะเบอร์โทรศัพท์มือถือ ไม่บอกสถานที่ประกอบการ แม้ว่าทางการจะล่อซื้อก็ใช่ว่าจะหมดไป เพราะผู้ให้บริการมีเป็นพันราย ขณะที่เกณฑ์ของแบงก์ชาติเท่ากับเป็นการหาลูกค้าให้กับผู้ให้บริการเหล่านี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|