|
"เอสเอ็มอีแบงก์"ปล่อยกู้สะดุด แปลงสินทรัพย์เป็นทุนคลุมเครือ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยยังเป็นเรื่องไม่ง่ายในทุกวันนี้ แม้ภาครัฐจะมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นก็ตาม ความไม่ง่ายดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ให้กู้จะสนับสนุน ส่วนอีกเรื่องเกิดจากความเข้าใจของผู้ประกอบการที่บิดงอไปบ้าง
นโยบายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย คือโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่สินทรัพย์ของผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถแปลงเป็นทุนได้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ใช้สำหรับการทำมาหากิน ส่วนสินทรัพย์ที่เป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นจัดว่าหาได้ยากในผู้ประกอบการกลุ่มนี้ และด้วยการเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ภาครัฐจึงได้ตั้งโครงการแปลงสินทรัพย์เครื่องจักรเป็นทุน
ความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องจักรมาแปลงเป็นทุนนั้น เพราะผู้ประกอบการรายย่อยส่วนมากจะเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เป็นที่ประกอบการ ดังนั้นเมื่อเป็นการเช่า สินทรัพย์ดังกล่าวจะไม่สามารถแปลงเป็นทุนได้ จึงมีเพียงเครื่องจักรเท่านั้นที่เป็นสินทรัพย์สำคัญ
แต่กระนั้นก็ตามการส่งเสริมให้แปลงเครื่องจักรเป็นทุนก็ยังไม่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย พิชิต มิทราวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโครงการพิเศษธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) บอกว่า การพิจารณาให้เงินทุนนั้นไม่ได้ดูที่เครื่องจักรเพียงอย่างเดียวว่ามีมูลค่าเท่าไร แต่ต้องมีหลายส่วนประกอบการพิจารณา ซึ่งจุดนี้เองที่ผู้ประกอบการหลายรายเข้าใจผิดคิดว่ามีเพียงเครื่องจักรก็สามารถนำมาแปลงเป็นทุนได้ทันที
"ในส่วนของธนาคารเอสเอ็มอี การให้สินเชื่อผู้ประกอบการนั้นจะต้องดูด้วยว่า เครื่องจักรที่มาแปลงเป็นทุนนั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดต่อการประกอบธุรกิจ และเครื่องจักรนัยยะอย่างไรในการสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ รวมถึงแนวโน้มธุรกิจในอนาคตข้างหน้า ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ"
การมาขอสินเชื่อแบงก์นั้นไม่ใช่นำเครื่องจักรมาจำนำเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเขียนแผนงานโครงการขึ้นมาเพื่อเสนอกับสถาบันการเงิน ซึ่งแผนงานที่เขียนก็เปรียบเสมือนเส้นทาง หรือแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ และสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่รู้จะเขียนแผนงานโครงการอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวล เพราะเรื่องนี้สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะมีการฝึกอบรมให้
พิชิต เล่าอีกว่า ลูกค้าที่เดินเข้ามาโดยปราศจากแผนงานนั้น ธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ และถ้ากังวลว่าเขียนอย่างไร ธนาคารก็จะมีฝ่ายอบรมซึ่งไม่เฉพาะเรื่องการเขียนแผนงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการอบรมวิธีการทำตลาด และเรื่องนี้มีความสำคัญมากต่อการประกอบธุรกิจ เพราะธุรกิจที่มีแผนการตลาดไม่ชัดเจน ก็ยากจะมองออกว่าสินค้าที่ผลิตมานั้นขายได้อย่างไร
ดังนั้นเรื่องความรู้ความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการควรจะได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือไม่ เพราะการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน ไม่ได้หมายความว่ามีเครื่องจักรก็สามารถนำมาแปลงเป็นทุนได้ แต่จะมีขั้นตอนและวิธีในการพิจารณาอีกหลายอย่าง ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกู้สิ้นเชื่อของผู้ประกอบการทำได้ไม่ง่าย
นอกจากนี้ยังเรื่องของความชัดเจนในกลุ่มผู้ประกอบการที่ควรได้รับการสนับสนุน ซึ่ง พิชิต บอกว่า ควรจะมีกรอบให้ชัดเจนเลยว่าสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เครื่องจักรเป็นทุนแต่ละแหล่งจะเน้นฐานลูกค้าไปที่กลุ่มไหน เช่นธนาคารเอสเอ็มอี ฐานลูกค้าจะเน้นที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธนาคารออมสินก็เน้นฐานลูกค้ารากหญ้า หรือกลุ่มผู้ผลิตในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์OTOP
ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการเน้นเจาะจงฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มนั้นเนื่องจากทำให้ง่ายต่อการพิจารณาตัวเครื่องจักร รวมถึงโครงสร้างของธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้ผลิตในโครงการOTOP อีกทั้งสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เครื่องจักรเป็นทุนแต่ละแห่งมีความถนัดที่แตกต่างกัน
"ซึ่งถ้าถามว่าในส่วนของธนาคารเอสเอ็มอีก็มีความถนัดในฐานลูกค้าของตนเอง ในขณะที่ลูกค้าจากโครงการOTOPมาขอสินเชื่อที่เรา ตรงนี้ก็ยากที่จะให้เพราะเราต้องเน้นไปที่ฐานลูกค้าที่ธนาคารมีถนัดก่อน ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ตรงนี้ถ้าภาครัฐมีการแบ่งกรอบที่ชัดเจนจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ถูกที่ ขณะเดียวกันก็ง่ายต่อสถาบันการเงินปล่อยกู้ที่จะเลือกฐานลูกค้าที่ตนมีความชำนาญ"
กล่าวถึงโครงการแปลงสินทรัพย์เครื่องจักรเป็นทุน ในด้านนโยบายถือเป็นเรื่องดีที่ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน แต่ในทางปฏิบัติยังคงห่างไกลจากนโยบายที่วาดไว้ เพราะการเข้าถึงแหล่งทุนนั้นยังไม่ใช่เรื่องง่าย และมีหลายอย่างที่โครงการนี้ยังไม่ลงตัว ส่วนโครงการนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเร่งศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งหาแนวทางในการแก้ไข
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|