ดุลการค้า - ดุลบัญชีเดินสะพัดโจทย์ที่แก้ไม่ตก?


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสคลื่นยักษ์ที่เข้ามาถล่มเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นมิได้มีเพียงคลื่นสึนามิ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยแล้งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นจนสร้างความเสียหายให้ภาคการเกษตร ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รากยาวเกินกว่าบอกได้ว่าเรื่องนี้จะยุติเมื่อไร รวมถึงราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นสูงต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะลดลงในเร็ววัน ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนอยู่เหนือการควบคุม จึงไม่แปลกใจถ้านักลงทุนและผู้บริโภคจะเกิดอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ จับทิศทางเศรษฐกิจไม่ถูก

ในเรื่องของน้ำมันทุกประเทศที่ไม่ใช่ผู้ส่งออกล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน ดังนั้นในเรื่องนี้จึงไม่เป็นความได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากนักต่อการแข่งขันในภาคธุรกิจ เพราะเกือบทุกประเทศที่นำเข้าน้ำมันล้วนเผชิญปัญหาเดียวกันหมด ผิดแต่ไทยเจอกระแสคลื่นยักษ์หลายลูกเข้ามากระทบเหมือนโรคซ้ำกรรมซัดจนทำให้เศรษฐกิจออกอาการป่วย

อัจนา ไวความดี ผู้ช่วยว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ประเทศไทยเหมือนผีซ้ำด้ำพลอย เจอคลื่นหลายลูกเข้ามากระแทกในระยะ เวลาใกล้ ๆ กัน นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 จนสิ้นไตรมาส 2 ปี 48 และในไตรมาส 1 นั้นถือว่าไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจาก สึนามิ โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว แต่ปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นก็เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า "ถดถอย" ซึ่งเห็นได้จากอัตราการเติบโต GDPไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.3% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับไทยที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเข้ามากระทบ

แม้แบงก์ชาติจะพอใจกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ตัวแปลที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวโดยหลักมาจากราคาน้ำมันซึ่งมีแนวโน้มว่ายังคงตัวอยู่ในระดับสูงอีก 2-3 ปี และผลกระทบจากราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเกิดการขาดดุลทางการค้า ซึ่งเป็นการขาดดุลที่เกิดขึ้นเร็วกว่าและสูงกว่าที่แบงก์ชาติคาดไว้

"ครึ่งปีแรกที่ขาดดุลการค้าสูงนอกจากปัจจัยเรื่องน้ำมันแล้วยังมีสาเหตุจากการนำเข้าสินค้าที่มากผิดปกติ เพราะนักลงทุนหรือผู้ประกอบการมองว่าค่าบาทมีแนวโน้มอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเข้ามาสตอกค่อนข้างสูง รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตามเชื่อว่าครึ่งปีหลังเราคงไม่เห็นการเร่งตัวของการนำเข้าอย่างครึ่งปีแรกที่ผ่านมา"

อัจนา อธิบายเสริมว่า เศรษฐกิจในภาวะที่ชะลอตัวเช่นนี้ภาคการผลิต การลงทุน หรือสร้างโรงงานใหม่คงไม่เกิดขึ้นมากในครึ่งปีหลัง ซึ่งนั้นก็เป็นผลดีที่ทำให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดได้ดีขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยร้อนแรงจะกลายเป็นเรื่องน่าห่วงของแบงก์ชาติที่ต้องจับตามองดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ขาดดุลมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติได้ประมาณการว่า ปี 2548 ปีนี้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 8,000-9,000 ล้านเหรียญจากเดิมที่คาดว่าขาดดุล 4,000-5,000 ล้านเหรียญ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 3,000-4,000ล้านเหรียญจากเดิมที่คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 1,000-2,000 ล้านเหรียญ หรือเป็นสัดส่วนไม่เกิน 2.5%ของGDPนอกจากนี้ยังปรับประมาณการณ์GDP ใหม่จากที่คาดว่าปีนี้ขยายตัว 4.5-6% เป็น 3.5-4.5%

อัจนา เชื่อว่าอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังภาพที่ออกมาจะสวยงามกว่าครึ่งปีแรก ด้วยเหตุที่ว่าการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนอกจากแบงก์ชาติจะประเมินว่าดีแล้วในส่วนของผู้ประกอบการก็เห็นสอดคล้องเช่นเดียวกัน โดยมั่นใจว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปการส่งออกของประเทศไทยจะเริ่มดีขึ้นและการขาดดุลการค้าจะเริ่มลดลง

แม้ภาพรวมแบงก์ชาติจะมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ไม่วายอดห่วงเรื่องดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้ โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน รวมถึงผู้บริโภค ทำให้เรื่องดังกล่าวถูกแบงก์ชาติจับตาอย่างใกล้ชิด

เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังเป็นที่คาดเดากันว่าจะออกมาหัวหรือก้อย เป็นเรื่องที่นักลงทุน หรือผู้ประกอบการต้องเหนื่อยกับการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพราะแม้ภาพรวมจะประเมินออกมาในเชิงบวก แต่ถ้ามีปัจจัยลบที่เกินคาดเดาและยากต่อการควบคุมเข้ามากระทบ ก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจไทยผลิกผันไปอีกทางที่เหนือการคาดเดาได้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.