|

เอเชียส่งออกชะลอจากฤทธิ์น้ำมันแพง ชี้ชัดจุดอ่อนยังพึ่งพิงตลาดต่างชาติหนัก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
การส่งออกของทั่วทั้งเอเชียกำลังชะลอตัวลง เรื่องนี้เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันอันแพงลิ่วกำลังส่งอิทธิพลบีบรัดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า จุดอ่อนของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคแถบนี้ยังคงแก้ไขกันไม่สำเร็จ ถึงแม้มีความพยายามกันอยู่ตามสมควร
เพียงแค่ไม่กี่เดือนมานี้เอง ออร์เดอร์จากต่างประเทศที่สั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรจากเอเชีย ยังกำลังพุ่งลิ่วๆ ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหลายในภูมิภาคต่างอยู่ในสภาพฟูฟ่องสดสวยที่สุดในรอบหลายๆ ปี
อย่างไรก็ดี ในช่วงถัดใกล้เข้ามาอีก เครื่องจักรส่งออกของเอเชียก็ได้ปรับลงสู่เกียร์ต่ำ ถึงแม้การขนส่งข้าวของจิปาถะตั้งแต่ชิ้นส่วนรถยนต์ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือยังคงมีการขยายตัว ทว่าฝีก้าวของการเติบโตนั้นผ่อนช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การชะลอตัวนี้เป็นหลักฐานว่า ระบบเศรษฐกิจทั้งหลายของเอเชียได้ขยายจนถึงขีดสุดแล้ว และหลายๆ รายหันมาปรับลดตัวเลขพยากรณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคแถบนี้ประจำปีหน้าลงมา
ในแง่หนึ่ง ผลงานด้านส่งออกของเอเชียย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อันสำคัญถึงภาวะของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทจำนวนมากขึ้นๆ ได้โยกย้ายการผลิตจากแหล่งซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าในสหรัฐฯและยุโรป มาสู่เอเชียกันไม่ขาดสาย จนกระทั่งภูมิภาคแถบนี้กลายเป็นแหล่งใหญ่ ระดับไร้เทียมทานในการผลิตและจัดส่งสินค้าผู้บริโภคจำนวนมากของ โลกไปแล้ว ดังนั้น เมื่อยอดส่งออกของเอเชียลดต่ำลง นั่นย่อมเป็นสัญญาณที่สำคัญแสดงว่าเศรษฐกิจของทั่วโลกกำลังแผ่วลงด้วยนั่นเอง
การผันเปลี่ยนเช่นนี้ปรากฏให้เห็นทั่วไปทั้งภูมิภาค ไม่ว่าที่จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเศรษฐกิจ ทั้งหมดเหล่านี้ ต่างมียอดส่งออกพุ่งถึงจุดขีดสูงสุดแล้วในช่วงปลายปี 2003 หรือไม่ก็ต้นปี 2004 ทั้งนี้ตามข้อมูลจากค่ายโกลด์แมนแซคส์
แนวโน้มดังกล่าวมองเห็นชัดเป็นพิเศษในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่เกาหลีใต้ ยอดส่งออกรายไตรมาสเคยแรงสุดๆ ถึงขนาดเพิ่มขึ้นในอัตราเท่ากับปีละ 60.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทว่าพอถึงเดือนกันยายน อัตราเติบโตดังกล่าวหล่นมาเหลือแค่ 3.1% อัตราการขยายตัวของยอดส่งออกไต้หวันก็ทำนองเดียวกัน จากแถวๆ 46% ในเดือนกุมภาพันธ์ เหลือเพียง 11.6%
ผลก็คือ ยอดส่งออกของเอเชียไม่นับจีนกับญี่ปุ่น เวลานี้ขยายตัวด้วยระดับประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น เปรียบเทียบกับ 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงต้นปี ทั้งนี้ตามตัวเลขของโกลบอล อินไซต์ บริษัทพยากรณ์เศรษฐกิจซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์
การชะลอตัวนี้ยังกำลังเริ่มปรากฏให้เห็นในผลประกอบการของบริษัทต่างๆ แล้ว ตอนต้นเดือนตุลาคม ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง ยักษ์ใหญ่กิจการไฮเทคได้เป็นอย่างดี ออกคำเตือนนักลงทุนว่า ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคได้อ่อนตัวลงในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์นานาตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ไปจนถึงเครื่องเล่นวิดีโอเกม ยังบอกด้วยว่า รายรับคงจะย่ำแย่ไปจนถึงไตรมาส 4/2004 ทีเดียว หากการชะลอตัวเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายยอมรับว่า แนวโน้มการ หดตัวของยอดส่งออกเอเชียระลอกนี้ มีความรุนแรง กว่าที่คาดหมายไว้ล่วงหน้า พวกเขาระบุว่ามีปัจจัยหลายประการซึ่งเป็นสาเหตุ อาทิ ความพยายามของทางการจีนที่จะทำให้ภาคเศรษฐกิจซึ่งร้อนแรงที่สุดของพวกเขาได้เย็นตัวลง ทว่าเหตุผลสำคัญที่สุดย่อมได้แก่ราคาน้ำมันที่กำลังแพงลิ่ว ซึ่งส่งผลให้ดีมานด์ความต้องการสินค้าเอเชียในสหรัฐฯตลอดจนที่อื่นๆ พากันเหือดหาย
การผันเปลี่ยนเช่นนี้ยังไม่ได้ใหญ่โตถึงขั้นเป็นสัญญาณแสดงว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังทรุดต่ำลงอย่างร้ายแรงแล้ว อันที่จริงยังมีบางประเทศด้วยซ้ำ ซึ่งข้อมูลส่งออกประจำเดือนหลังๆ ยังมีความแข็งแกร่งยิ่งกว่าที่คาดหมายกัน นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าราคาน้ำมันลดลงในปีหน้า หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนรวดเร็วกว่าที่พยากรณ์กันไว้ ยอดส่งออกเอเชียอาจจะกลับเข้าสู่สปีดเร็วขึ้นอีกก็ได้
กระนั้นก็ตาม แนวโน้มที่เกิดขึ้นยังคงสร้างความวิตกให้แก่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก เนื่องจากมันขีดเส้นใต้ย้ำให้เห็นว่า เอเชียยังอาจจะตกอยู่ในอันตรายได้ง่ายๆ หากเกิดการปรับเปลี่ยนในดีมานด์ความต้องการของโลก
รัฐบาลหลายชาติในเอเชียได้เคยพยายามทำให้ระบบเศรษฐกิจของพวกเขามีการกระจายตัวและความหลากหลายมากขึ้น ภายหลังเกิดวิกฤตทางการเงินในเอเชียขึ้นเมื่อปี 1997-98 ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องหกคะเมนตีลังกากันอีก ถ้าหากออร์เดอร์ สินค้าส่งออกเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ความพยายามเหล่านี้มี อาทิ การพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคภายในประเทศ จับจ่ายซื้อหาสินค้าที่ผลิตในบ้านเกิด
ความพยายามบางอัน เมื่อบวกกับผลพวงจากยอดส่งออกที่คึกคักขึ้นของปีนี้ ก็ได้ช่วยให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มสูงตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้
ทว่าหากพิจารณาในหลายแง่มุมแล้ว เอเชียยังไม่ได้ลดการต้องพึ่งพิงสินค้าส่งออกลง ในจีนเวลานี้ ยอดส่งออกคิดแล้วเท่ากับ 41% ของจีดีพีโดยรวม เปรียบเทียบกับในปี 1996 ซึ่งยังเป็นแค่ 21% ในประเทศไทย ยอดส่งออกเท่ากับ 66% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับ 39% ในปี 1996 ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าเวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ต่างอยู่ในอาการทำนองเดียวกัน
ระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ลดตัวเลขทำนายการเติบโตของเอเชียลงมาแล้ว เช่น โกลด์แมนแซคส์ลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ลงเหลือ 4% ในปีหน้าจากที่เคยให้ไว้ 6.2% ไทยก็ถูกลดมาอยู่ที่ 5% จากประมาณการเดิมที่ 8%
ซุงวอนซอน นักเศรษฐศาสตร์แห่งเวลส์ ฟาร์โก ในสหรัฐฯ ที่เฝ้าติดตามเศรษฐกิจในเอเชียสรุปว่า การพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ยังคงเป็นจุดอ่อนของบรรดาเศรษฐกิจในเอเชียเวลานี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|