พารากอนทำสถิติโลก ขายพื้นที่หมดเกลี้ยง


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารสยามพารากอน เผยความสำเร็จและชื่อ เสียงของโครงการสยามพารากอน ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก ส่งผลนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ แห่เข้าจองพื้นที่กว่า 400 ราย คาดกลางเดือนหน้าเผยรายชื่อร้านค้าได้ทั้ง หมด ซึ่งจะคัดเลือกเหลือประมาณ 300 ร้านค้า นับเป็นการทำลายสถิติ การขายพื้นที่ศูนย์การค้าที่สามารถ ปิดการขายได้เพียง 3 สัปดาห์ จาก โครงการปกติที่ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี นอกจากนี้ยังออกมาปฏิเสธไม่ เคยเจรจากับกลุ่มเซ็นเตอร์พ้อยต์ และไม่คิดจะให้เข้ามาบริหารพื้นที่ หรือกิจกรรมแต่อย่างใด

นางชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารสูงสุด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงความคืบหน้าของโครงการสยามพารากอน หลังจากที่เปิดให้จองพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ได้รับความสนใจจากนัก ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นแบรนด์ เนม ชั้นนำ เป็นจำนวนมาก โดยขณะที่มียื่นความจำนง ที่จะเข้ามาเจรจาเพื่อเปิดร้านในสยามพารากอนแล้วกว่า 400 ร้านค้าในจำนวนนี้เป็นร้านค้าของไทย 80% และเป็นร้านค้าชั้นนำจากต่างประเทศ 20%

ซึ่งในขณะนี้ทางผู้บริหารโครงการสยามพารากอน ได้เรียกร้านค้าที่สนใจจองพื้นที่เข้ามานำเสนอรูปแบบของร้านและแผนการตลาด วันละ 5-7 ราย ซึ่งอาจมีร้านค้าบางส่วนที่ไม่ต้อง เจรจาในรายละเอียดมากนัก เช่นร้านค้าแบรนด์ เนมชั้นนำของไทย และแบรนด์เนมระดับโลก ที่เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ก็รอเพียงการเซ็นสัญญา เท่านั้น โดยคาดว่าในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จะ สามารถสรุปรายชื่อร้านค้าที่จะเปิดในโครงการสยามพารากอนได้ทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นร้านค้าประเภทแบรนด์เนมระดับไฮเอนด์, ร้านค้าแบรนด์ดัง, กลุ่มอัญมณี นาฬิกา เครื่องเพชร, กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์, กลุ่มสินค้าเทคโนโลยี, บริการเสริมความงาม, ศูนย์รวมอาหาร และ สินค้าตกแต่งบ้าน

ทางด้านนายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้อำนวยการด้านการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท จำกัด กล่าวว่า จากการเปิดให้ผู้สนใจเข้ามานำเสนอรูปแบบร้านค้า พบว่าผู้ประกอบการจากต่างประเทศให้ความสนใจและมีความตั้งใจเสนอรูปแบบร้านค้าที่ดีมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยเองก็นำเสนอรูปแบบร้านค้าได้ดีไม่แพ้กัน โดยประเภทของธุรกิจที่แสดงความสนใจจองพื้นที่มากที่สุดก็คือ ร้าน จิวเวลรี่ ที่มีถึง 200 ราย ร้านอาหารกว่า 100 ราย ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก

สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกร้านค้านั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า จะพิจารณาจากเงื่อนไข 4 ประการ คือ 1.ต้องมีสินค้าหรือปแบรนด์เนมเป็นที่ยอมรับของในประเทศ หรือเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก 2.มีความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจและการตลาด 3.ต้องเป็นร้านที่โดดเด่นและแตก ต่างจากร้านค้าทั่วไป และ 4. เป็นร้านประเภทแฟลกชิป สโตร์ หรือร้านค้าต้นแบบ ที่มีขนาดใหญ่และขายสินค้าครบไลน์ จะได้รับการพิจารณา เป็นพิเศษ

หลังจากที่เราเรียกร้านค้าเข้ามาเจรจาแต่ละ รายพบว่า ทุกคนเข้าใจคอนเซ็ปต์ของสยามพารากอนเป็นอย่างดี และแต่ละคนล้วนตั้งใจนำเสนอร้านค้าที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เฉพาะสยามพารากอนเท่านั้น ทำให้ทีมผู้บริหารได้เตรียมปรับคอนเซ็ปต์ของศูนย์บางส่วนเพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยการเจรจากับร้านค้าแต่ละรายนั้น จะพยายามจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซน เพื่อให้ร้านค้าประเภทเดียวกันหรือมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันเปิดให้บริการในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ศักยภาพของร้านค้าส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของสยามพารากอน ที่แตกต่างจากศูนย์อื่นๆอย่างสิ้นเชิง

"สำหรับพื้นที่ร้านค้าทั้งหมดที่จะเซ็นสัญญา กับร้านค้านั้น มีประมาณ 300 ร้านค้า คิดเป็นเนื้อที่ ประมาณ 40,000 ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับแบรนด์ เนมชั้นนำระดับโลกที่มีโอกาสจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยในอนาคตด้วย"

นางชฎาทิพ กล่าวเสริมว่า จากความสนใจ ของนักลงทุนที่เข้ามาจองพื้นที่ในศูนย์การค้าเพียง 3 สัปดาห์ ก็สามารถจัดสรรให้แก่ร้านค้าได้แล้ว ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติของโลกในการบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าที่จำหน่ายได้หมดในระยะเวลาที่รวดเร็วมาก ในขณะที่การขายพื้นที่ศูนย์การค้า โดยปกติจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีเป็นอย่างน้อย

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าในอนาคตทิศทางค้าปลีกของไทย มีแนวโน้มที่จะแจ่มใสและเติบโตอีกมาก เพราะนักลงทุนไทย เริ่มมีความมั่นใจที่จะขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งที่ขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่และการขยายธุรกิจใหม่ๆออกไปอีก ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีความมั่นใจเศรษฐกิจไทย รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ ทำให้ตัดสินใจเข้ามาเปิดธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกเป็นจำนวนมากที่บินตรงเข้ามาเพื่อเจรจากับสยามพารากอนเพื่อของเปิดร้านโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม นางชฎาทิพ กล่าวว่า สำหรับ ที่มีข่าวออกมาว่ากลุ่มสยามพารากอน ได้เจรจากับกลุ่มเซ็นเตอร์ พอยท์ เพื่อให้เข้ามาบริหารพื้นที่ค้าปลีก รวมทั้งการบริหารกิจกรรมในสยาม พารากอนนั้น ไม่เป็นความจริง บริษัทไม่ได้รู้จักกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ และไม่เคยมีการเจรจากันแม้แต่ครั้งเดียว เพราะทีมงานของสยามพารากอนเป็นทีมงานมืออาชีพที่มีศักยภาพในการ บริหารพื้นที่และกิจกรรมได้ทั้งหมดอยู่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.