|
น้ำมันดิบทำสถิติใหม่ทะลุ 55 ดอลลาร์ ยังไ่ม่เห็นจุดจบและทุกฝ่ายวิตกหวั่นไหว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
สัปดาห์ใหม่และสถิติใหม่ ความหวาดผวาว่าน้ำมันเตาสำหรับใช้ทำความร้อน จะเกิดขาดแคลนในช่วงฤดูหนาวนี้ ช่วยดันให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบชนิดไลต์ครูด (บางทีก็เรียกว่าไลต์สวีตครูด, เวสต์เทกซัสอินเทอร์มิเดียต) ในตลาดนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตัวหนึ่งของตลาดน้ำมันโลก พุ่งทะลุระดับ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันจันทร์ที่ผ่านมา(18)
ขณะเดียวกัน การทะยานลิ่วของราคาน้ำมันซึ่งสิริรวมได้กว่า 60% แล้วนับแต่เริ่มต้นปีนี้มา ก็กำลังก่อให้เกิดความหวาดผวาว่า จะทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในอาการย่ำแย่
แม้กระทั่งชาติผู้ส่งออกน้ำมันยังวิตกเลย องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกมาเตือนในวันจันทร์(18)ว่า ราคาสูงลิบซึ่งพวกเขาได้ประโยชน์อยู่ในเวลานี้ จะกลับมาหลอกหลอนทำให้อัตราเศรษฐกิจชะลอตัวกันในปีหน้า เพราะถ้าน้ำมันปิโตรเลียมแพงเวอร์กันต่อไป ผู้คนย่อมจะซื้อหาน้อยลง
คำเตือนให้หันมาระลึกถึงกฎอุปสงค์อุปทาน คราวนี้ ดูจะถูกจังหวะเวลาและมีส่วนทำให้ตลาด ทองคำสีดำลดความดุเดือดลงบ้าง กระนั้นราคา ก็ยังคงอยู่เกินขีด 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ดี
ความหวั่นไหววิตกมิได้จำกัดอยู่แค่ปั๊มน้ำมันเท่านั้น ครอบครัวชาวอเมริกันประมาณ 7.7 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่อาศัยทางแถบเหนือและตะวันออกของประเทศ ยังต้องพึ่งพาน้ำมันในการทำความอบอุ่นให้บ้านเรือนอีกด้วย เพื่อให้อยู่ได้ในอากาศอันหนาวเหน็บ พวกเขาอาศัยคลัง น้ำมันเตา ซึ่งตั้งกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ
ทว่าน้ำมันเตาซึ่งเก็บตามคลังในปีนี้ อาจจะไม่มีปริมาณมากเหมือนปีก่อนๆ ตามตัวเลขของรัฐบาลแดนอินทรีที่เผยแพร่สัปดาห์ที่แล้ว ขณะนี้อเมริกามีน้ำมันเตาเก็บเอาไว้ประมาณ 50 ล้านบาร์เรล เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีอยู่ 54 ล้านบาร์เรล ในย่านท่าเรือนิวยอร์กและปริมณฑล ซึ่งเป็นจุดรับน้ำมันนำเข้า จากนั้นก็แจกจ่ายไปสู่นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และนิวอิงแลนด์ สต๊อกที่มีในปัจจุบันอยู่ในระดับแค่ 75% กว่าๆ ของปีที่แล้ว สำนักงานสารสนเทศพลังงานของรัฐบาลทำนายว่า ผู้คนในแถบดังกล่าวจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 28% ในการทำความร้อนให้บ้านเรือนฤดูหนาวปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
การที่ต้องประสบกับฤดูหนาวอันแพงลิบเช่นนี้ ชาวนิวอิงแลนด์สามารถกล่าวโทษอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง ว่าเป็นเพราะลมฟ้าอากาศแปรปรวนในฤดูใบไม้ร่วง กล่าวคือ พายุเฮอริเคนไอเวน เมื่อเดือนกันยายนได้พัดกระหน่ำสร้างความเสียหายให้กับฐานขุดเจาะและเครือข่ายท่อส่งน้ำมันในแถบอ่าวเม็กซิโก โดยบางส่วนยังไม่น่าจะเปิดใช้งานได้ก่อนสิ้นปีนี้ ปัจจุบันย่านอ่าวเม็กซิโกผลิตน้ำมันได้เพียง 73% ของที่เคยสูบได้ในแต่ละวัน ซึ่งอยู่ในราว 1.7 ล้านบาร์เรล ยิ่งมีน้ำมันดิบให้กลั่นน้อยลงแบบนี้ โรงกลั่นของอเมริกาก็ยิ่งไม่สามารถสะสมเก็บสต๊อก น้ำมันเตาให้ได้มากเท่าระดับปีที่แล้ว
ไม่เพียงแค่ชาวนิวอิงแลนด์เท่านั้นที่กำลังหวั่นไหวต่อราคาสูงลิ่วของน้ำมัน ระหว่างการแสดงปาฐกถาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(15) อลัน กรีน สแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) คิดคำนวณว่า การต้องจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าแพงขึ้นของอเมริกา ได้ทำให้อัตราเติบโตของจีดีพีหดลดลงไปแล้ว 0.75% "ปู่แป้น" เตือนด้วยว่า ถ้าราคาน้ำมันยังไต่สูงขึ้นอย่างมากมายแล้วละก้อ ย่อมต้องเกิดผลกระทบต่อเนื่องด้านลบอันร้ายแรงกว่านี้ตามมาอีก
ตอนที่ราคาทองคำสีดำเริ่มเป็นที่สนใจของใครต่อใครเมื่อต้นปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์พยายามทำให้อะไรๆ ดูเป็นระบบและเห็นเป็นภาพหลายหลากมิติ
พวกเขาบอกว่าราคาน้ำมันจะต้องทะยานขึ้นจนถึงหลัก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงจะมีมูลค่าเท่ากับที่มันเคยขึ้นไปเมื่อปี 1981 ทั้งนี้เมื่อคำนวณเรื่องปัจจัยด้านเงินเฟ้อกันแล้ว
ขณะเดียวกัน บรรดาชาติผู้บริโภคน้ำมันโดยเฉพาะพวกประเทศร่ำรวยทั้งหลาย เวลานี้ใช้น้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก โดยจะใช้น้ำมันเพียงแค่ครึ่งเดียวสำหรับผลผลิตทุกๆ ดอลลาร์ที่พวกเขาเคยทำได้ในทศวรรษ 1970
นักเศรษฐศาสตร์ยังเสนอสูตรคำนวณง่ายๆ ที่ว่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างยืดเยื้อทุกๆ 10 ดอลลาร์ จะทำให้จีดีพีของบรรดาชาติร่ำรวยซึ่งเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(โออีซีดี) ลดลงไป 0.4%
สำหรับอเมริกาแล้ว มันจะทำให้จีดีพีตกลงแค่ 0.3% จึงถือว่าได้เป็นพลังคอยฉุดรั้ง ทว่าไม่ใช่พลังที่ทำให้เกิดภาวะช็อก
แต่เมื่อราคายังเดินหน้า ขึ้นไปเรื่อยๆ การเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตเหล่านี้ก็ชวนให้สบายใจน้อยลงๆ ยิ่งกว่านั้น เวลานี้นักเศรษฐศาสตร์หลายรายแสดงความกังวลว่า กฎเกณฑ์หยาบๆ ง่ายๆ ของพวกเขาอาจจะไม่ได้ออกฤทธิ์ในลักษณะเป็นเส้นตรง นั่นคือ ราคาน้ำมันที่ขึ้นไป 10 ดอลลาร์ในช่วงจาก 45 ถึง 55 ดอลลาร์ อาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากยิ่งกว่าตอนที่ขยับจาก 25 เป็น 35 ดอลลาร์
หากราคาน้ำมันยังคงสูงลิ่วตลอดทั้งปี อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ต่ำเตี้ยเช่นปัจจุบันหรือไม่ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยอาจจะยกเว้นธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ต่างเริ่มเดินไปตามเส้นทางเข้มงวดทางการเงินเพิ่มขึ้นกันแล้วทั้งนั้น ทว่าพวกเขาอาจจะหยุดหรือรีรอที่จะเดินต่อก็ได้ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ในส่วนของกรีนสแปนนั้น ไม่ได้บ่งบอกว่าจะมีการชะงักขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้อาจเนื่องจากภาวะช็อกจากราคาน้ำมันย่อมเป็นตัวทำให้อัตราเงินเฟ้อแรงขึ้น ถึงแม้มันจะส่งผลให้ดีมานด์ความต้องการลดต่ำลงก็ตามที กล่าวคือ ถ้าเหล่าคนงานกดดันเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างเพื่อชดเชยกับบิลค่าน้ำมันและไฟฟ้าซึ่งสูงขึ้น นั่นย่อมทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นได้ไม่จบสิ้น ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาว่า เมื่อเกิดภาวะช็อกจากราคาน้ำมัน บรรดาธนาคารกลางมักลังเลที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน
เวลานี้อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีอะไรน่ากลัว แต่เมื่อราคาน้ำมันยังลอยลิ่วทำสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้เกิดความหวาดวิตกกันว่า ภาวะ "stagflation" (เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยพร้อมๆ กับที่อัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว) ซึ่งร้ายแรงกว่าเงินเฟ้อธรรมดา และเคยเจอะเจอกันเป็นของปกติในสมัยทศวรรษ 1970 นั้น อาจจะหวนกลับมาปรากฏร่างให้เห็นกันอีกคำรบหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|