|
ก.ล.ต.สะกดรอยงบ แหกตา
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
มือปราบก.ล.ต. แกะรอยงบการเงินหลอกตา โดยเฉพาะบัญชี ที่นักบัญชีเรียกว่า "ซุกกิ้ง แอคเคานท์ติ้ง" ชี้เบาะแสส่วนใหญ่เป็น "เสียงนกหวีด" ที่ดังมาจากฝั่งของพนักงานบริษัท ที่ไม่รักชอบบริษัท และปัญหาภายใน สำคัญที่สุดคือ ผู้สอบบัญชี
ที่เขียน "เชื้อ" ทิ้งไว้เป็น "ปริศนา" เพื่อให้สะกดรอยหรือขุดคุ้ยได้ง่าย
เรื่องราวอื้อฉาวทางบัญชีหรืองบการเงินที่ไม่ชอบมาพากลของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)หลายต่อหลายบริษัท ในระยะ 2-3 ปีย้อนหลังโผล่ออกมาให้เห็นแบบจะจะ แต่แล้วก็เงียบหายไปจนน่าจะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเหล็ก และเสี่ยเจ้าของธุรกิจค้าแก๊ซ
ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักตั้งคำถามว่า ยังมีธุรกิจอื่นที่ส่อเค้าจะเดินไปในทางเดียวกันอีกสักกี่ราย แล้วถ้าเกิดมีขึ้นมาก.ล.ต.จะสืบสาวราวเรื่องหรือลงลึกไปถึงได้ด้วยวิธีใด...
ชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ยกกรณีเสี่ยเจ้าของธุรกิจค้าแก๊ซเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นสัญญาณแรก ก่อนจะขุดคุ้ยไปจนเจอต้นตอ มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาภายในบริษัทที่มีคนไปค้นพบเข้า จากนั้นปัญหาก็จะผุดขึ้นมา แล้วผู้สอบบัญชีก็จะเห็นก่อนคนอื่น
วิธีดูของก.ล.ต.คือ จะเห็นสัญญาณจากพวกที่ส่งซิกหรือ เป่านกหวีดให้ได้ยิน ยิ่งกว่านั้นคือ ในบริษัทส่วนใหญ่มักมีพวกที่ไม่ชอบพอ เช่น พนักงาน รวมถึงลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ที่มักจะส่งเบาะแสเข้ามาที่ก.ล.ต. แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นจุดที่จะต้องสะกดรอยต่อไปก็คือ ความเห็นของผู้สอบบัญชีที่มีอยู่ 5 ประเภท
ประเภทแรกคือ งบแบบถูกต้องไม่มีเงื่อนไข สองแบบถูกต้องแต่มีข้อสังเกตุ สามแบบมีเงื่อนไขคืออยู่ในขอบเขตผู้บริหารจะให้ข้อมูล สี่ งบไม่ถูกต้อง และห้าไม่แสดงความเห็น
ชาลีบอกว่า กรณีของ "รอยเน็ต" ค้นเจอจากงบในแบบที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าเจอข้อสามก็ต้องเข้าไปดู เพราะหน้าที่ก.ล.ต.คือดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล และเปิดเผยอย่างถูกต้อง
หากเจอประเภทไม่แสดงความคิดเห็น ชาลีให้ข้อสังเกตุว่าระยะหลังๆมีค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทประเภท "ลูกผีลูกคน" ซึ่งถ้ามีเรื่องขึ้นมาก็จะเข้าไปตรวจสอบ
ขณะที่งบแบบที่สองที่มีข้อสังเกตุทิ้งเอาไว้ ก.ล.ต.อาจเข้าไปไต่ถามเพื่อให้อธิบาย ไม่ติดใจก็จบ ตรงกันข้ามถ้ามีน้ำหนักตอบไม่ชัดก็จะดูลงลึก เช่น ลงบัญชีไม่ถูก หรือจะทำแต่ไม่ได้ทำ...
" บางครั้งผู้สอบบัญชีสงสัย แต่สาวต่อไปไม่พอจะลงลึกได้ ก็จะเขียนเป็น "เชื้อ" ทิ้งเอาไว้ เพื่อให้ก.ล.ต.เข้าไปขุดคุ้ย ส่วนกรณีธุรกิจถังแก๊ซ ถือว่าผู้สอบบัญชีส่งซิกมาพอสมควร"
งบการเงินที่ค่อนข้างพิสดาร มีนอกมีในเหล่านี้ นักบัญชีจะนิยามกันเป็นการภายในว่า "ซุกกิ้ง แอคเคาท์ติ้ง" คือมีบางสิ่งบางอย่างซุกซ่อน เพื่อตบตานักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป
ชาลี บอกว่า เบาะแสก่อนที่ก.ล.ต.จะสะกดรอยงบการเงินหลอกตา จึงมักจะมาจาก "ผู้สอบบัญชี" เป็นอันดับแรก โดยยกเอาสถิติงบการเงินในปี 2547 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นจุดสังเกตุจากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ทั้งหมด 433 บริษัท ไม่นับบริษัทอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ(รีแฮบโก้) พบว่าอยู่ในประเภทที่หนึ่ง หรือ ถูกต้องไม่มีเงื่อนไขเพียง 332 บริษัท มี 70 บริษัทที่มีข้อสังเกตุ อีก28 บริษัท ผู้สอบบัญชีเขียนไว้แบบมีเงื่อนไข และไม่แสดงความเห็น 3 บริษัท
ชาลีบอกว่า ก.ล.ต.จะหยิบมาดูลึกลงไป โดยเข้าไปคุยกับบริษัท เช็คกับผู้สอบบัญชีเพิ่มเติม โดยขอดูว่าอะไรที่บันทึกไว้ แต่ไม่ได้เขียนไว้ในงบ เมื่อดูแล้ว ในบางกรณีหากสงสัยก็จะเช็คเพิ่มเติมอีก เพื่อขอคำอธิบาย ถ้ายังรู้สึกว่ามีมูล ก็จะเข้าไปตรวจเชิงลึก
" บางอย่างซับซ้อน ลึกซึ้ง น่าเกลียดเกินจะบรรยาย"
เมื่อค้นสถิติของปี 2547 ยังพบว่า ก.ล.ต.ได้มีการสั่งแก้งบการเงินประมาณ 10 บริษัท โดยส่งเข้าคณะกรรมการควบคุม 5 บริษัท ขณะที่ปี 2548 ได้สั่งแก้งบการเงินไปแล้ว 9 ราย และส่งให้คณะกรรมการควบคุม 6 บริษัท
ชาลี ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมที่สร้างไว้ซับซ้อน และใช้เวลานาน เป็นการเปิดโอกาสบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทได้แก้ตัวค่อนข้างมาก ทำให้กฎหมายกลัว "ตำรวจ" มากกว่า "ผู้ร้าย" อย่างไรก็ตามสมัยก่อนเราอาจไม่เคยเห็น "ผู้ร้ายใส่สูท" ถูกลงโทษ แต่ปัจจุบันได้เห็นการลงโทษจำคุกไปแล้ว 1 ราย
ว่ากันว่ากระบวนการยุติธรรมที่ทอดเวลานาน โดยเฉพาะการกล่าวโทษผู้บริหารนั้นมักจะเนิ่นนาน จนนักลงทุนลืมความความรู้สึก เจ็บใจ เจ็บแค้น แถมในตอนท้ายก็ยังไม่ได้เงินคืน....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|