1ปีวินาศกรรม11กันยา...ถล่มธุรกิจสายการบินอเมริกันร่วง


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ย้อนหลังไปเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 11 กันยายน 2544 เวลาประมาณ 8.45 น. เมื่อเครื่องบินของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ (American Airlines)เที่ยวบินที่ 11 บินเข้าชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตึกด้านเหนือ และต่อมาครู่เดียวในเวลา 9.03 น. เครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ (United Airlines) เที่ยวบินที่ 175 ก็บินพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ตึกด้านใต้ สร้างความเสียหายย่อยยับให้กับอาคารทั้งสอง ต่อมาอีกไม่นานในเวลา 9.40 น. เครื่องบินอีกลำหนึ่งของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ เช่นกัน เที่ยวบินที่ 77 ก็พุ่งชนอาคารด้านตะวันตกของตึกเพนตากอน ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสุดท้ายในเวลา 10.37 น. เครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ อีก ลำหนึ่งเที่ยวบินที่ 93 ก็ดิ่งพสุธาตกลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง พิทส์เบอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการบิน ชนเป้าหมายที่ 4 ซึ่งภายหลังจากการสอบสวนพบว่าเครื่องบินทั้ง 4 ลำได้ ถูกสลัดอากาศจี้มาเพื่อการก่อวินาศกรรม

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นเวลา 1 ปีที่เหตุการณ์ก่อวินาศกรรม ซึ่งเรียกกันติดปากว่า เหตุการณ์ 11 กันยายนŽ ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลและนำมาซึ่งความสูญเสียเหลือคณานับ ทั้งต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองและของโลก ทั้งนี้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยที่พึ่ง พิงสหรัฐฯในฐานะเป็นตลาดสินค้าออกที่สำคัญ ผลกระทบจากเหตุการณ์ 11 กันยายนต่อธุรกิจต่างๆของสหรัฐฯแผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทั้งระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจหนึ่งในสหรัฐฯที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีจากโศกนาฏกรรมในวันนั้น ซึ่งมีเครื่องบินของสายการบินอเมริกันถูกก่อวินาศกรรมตกถึง 4 ลำในวันเดียวกัน และผลกระทบนั้นได้ต่อเนื่องมาจนวันนี้ ธุรกิจนั้นก็คือ สายการบิน

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจสายการบินของสหรัฐฯได้ประสบปัญหาบ้างอยู่ก่อน แล้ว อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐฯ ประกอบกับภาวะ การแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจการบิน แต่เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ก็ได้เข้ามาซ้ำเติมจนทำให้ธุรกิจการบินส่วนใหญ่ของสหรัฐฯต้อง ประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และหลายรายต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ปัจจุบันได้เกิดภาวะล้มละลายของธุรกิจใหญ่ๆในสหรัฐฯหลายราย กระจายไปในหลายวงการธุรกิจ นับตั้งแต่คดีล้มละลายอันอื้อฉาวของบริษัท เอนรอน ซึ่งเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐฯ เรื่อยมาจนถึงการล้มละลายของบริษัทเวิลด์คอม ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคมของสหรัฐฯและของโลก ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุเบื้องหลังอันเนื่องมาจากการฉ้อฉลและการตกแต่งบัญชี จนนำไปสู่วิกฤตศรัทธาในธุรกิจสหรัฐฯดังเป็นที่ทราบกันดี อย่างไรก็ตาม การล้มละลายของธุรกิจ สายการบินอเมริกันนี้เป็นผลพวงที่ชัดเจนจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ที่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้บริการทางอากาศ ทำให้จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินของสหรัฐฯลดลง รวมทั้งผู้โดยสารเครื่องบิน ทั่วโลกต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้บริการสายการบินของสหรัฐฯ เนื่อง จากมีความวิตกในเรื่องความปลอดภัยจากการก่อการร้าย ในขณะที่ภาระต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านการ ประกันภัยและการรักษาความปลอดภัย จนทำให้ธุรกิจสายการบินของสหรัฐฯขณะนี้เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคตกต่ำที่สุด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอสรุปดังนี้ :

1. ขณะนี้ได้มีสายการบินสหรัฐฯต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และมีภาระหนี้สินที่แบกรับไม่ไหวจนต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้วรวม 3 สายการบิน คือ Midway Airlines, Vanguard Airlines และ US Airways ซึ่งรายหลังนี้เป็นสายการบินใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯและอันดับที่ 14 ของโลก ก็ได้เข้าสู่กระบวนการขอพิทักษ์ทรัพย์สิน ภายใต้มาตรา 11 แห่งกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ณ วันที่ขอยื่นเข้ากระบวนการฯ ทาง US Airways มีทรัพย์ สินมูลค่า 7.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีหนี้สินมูลค่า 7.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย การดำเนินธุรกิจของ US Airways ได้ประสบการขาดทุนอย่างหนัก โดยในปี 2544 มี ผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในครึ่งแรกของปี 2545 ก็ขาดทุนสุทธิอีกประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

2. ในขณะที่สายการบินสหรัฐฯ 3 รายได้เข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้ว เวลานี้สายการบินที่มีการวิตกกันว่าอาจจะต้องประสบชะตากรรมดังกล่าว เป็นรายต่อไป คือ ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ (United Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในสองสายการบินที่ถูกสลัดอากาศจี้ในเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากในเวลานี้ ฐานะการเงินของยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต กล่าว คือ มีผลประกอบการในปี 2544 ขาดทุนไป 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และครึ่งปีแรกของปี 2545 ก็ขาดทุนอีกเป็นจำนวน 851 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากนับรวมผลขาดทุนตั้งแต่กลางปี 2543 เข้าไปด้วย ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์มีผลประกอบการขาดทุนรวมแล้วกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ปัจจุบันยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ยังมีหนี้สินอยู่ประมาณ 875 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถึงกำหนดชำระคืนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และแม้ขณะนี้ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์จะมีเงินสดในมือประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่จากการดำเนินงานปัจจุบันที่มีการขาดทุนหลายล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ทำให้เป็นที่หวั่นวิตกกันว่ายูไนเต็ด แอร์ไลนส์จะอดทน สู้กับสถานการณ์ต่อไปได้นานอีกเท่าใด

ดังนั้น ในขณะนี้สายการบิน ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์จึงกำลังดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และเมื่อเร็วๆนี้ก็ได้มีการเสนอแผนปรับโครงสร้างทางการเงินฉุกเฉิน ทั้งนี้จะให้มีการตัดทอนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือปีละ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นเวลา 6 ปี โดยจะเป็นการลดเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการอื่นๆของพนักงานจำนวนทั้งหมด 83,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายดำเนินงานทั้งหมด การปรับลดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างทางการเงินที่จะทำให้ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการขาดทุนของบริษัทและช่วยให้หลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และที่สำคัญแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการขอรับการค้ำประกันเงินกู้ฉุกเฉินจำนวน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐจากคณะกรรมการรักษาเสถียรภาพการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ(Air Transportation Stabilization Board) อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้าง ทางการเงินฉุกเฉินนี้ได้รับการคัดค้านจากบรรดาพนักงานของสายการบิน โดยเฉพาะจากกลุ่มนักบิน ซึ่งรวมกันแล้วมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นเสียงข้างมากในบริษัท เนื่องจากเห็นว่าว่าเป็นการตัดทอนที่มากเกินไป ดังนั้น ณ เวลานี้อนาคตของยูไนเต็ด แอร์ไลนส์จึงยังคงหมิ่นเหม่ต่อภาวะล้มละลาย

3. นอกจากนี้ สายการบินอเมริกันที่เหลืออยู่ต่างพยายามดิ้นรนเพื่อ หลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกัน แอร์ไลนส์ (American Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ และเป็นเจ้าของเครื่องบิน 2 ใน 4 ลำที่ถูกก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปีที่แล้วเช่นเดียวกับยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ ขณะนี้อเมริกัน แอร์ไลนส์ก็กำลังเผชิญปัญหาการดำเนินธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายการบินอเมริกันอื่นๆ โดยในปี 2544 อเมริกัน แอร์ไลนส์ประสบกับการขาดทุนไป 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงครึ่งแรกปี 2545 นี้ ก็ขาดทุนไปอีก 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นการขาดทุนในไตรมาสที่สองปีนี้ 495 ล้านเหรียญสหรัฐ อเมริกัน แอร์ไลนส์จึงได้ดำเนินการตัดทอนค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการทยอยลดจำนวนพนักงานลง 7,000 คนภายในเดือนมีนาคมปีหน้า การปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่า 74 ลำ และชะลอแผนการรับเครื่องบิน 35 ลำที่ได้สั่งซื้อไว้

4. ในขณะที่หลายสายการบินที่ไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนและภาระหนี้สินต่อไปได้ จนต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์สินภาย ใต้กฎหมายล้มละลายไปแล้วนั้น สายการบินที่ยังดำเนินการอยู่ตามปกติ ต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยการพยายามตัดทอนค่าใช้จ่ายลงด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลดเงินเดือนค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงาน ไปจนถึงการลดจำนวนพนักงานลงดังได้กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการ ดำเนินการด้านการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าผู้ใช้บริการ ตลอดจนการลด ต้นทุนด้านการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรธุรกิจการบิน ดังกรณีของสายการบิน 3 รายคือ Delta Airlines, Continental Airlines และ Northwest Airlines ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับสาม สี่ และห้า ของสหรัฐฯตามลำดับ ได้ประกาศรวมกันเป็นพันธมิตร โดยในขั้นแรกจะเริ่มด้วยการจะให้ใช้รหัสการบินร่วมกัน ร่วมมือกันทำตารางการบิน เชื่อมระบบเครือข่ายและข้อมูลในการบริการ ลูกค้าและให้ลูกค้าสะสมเครดิตคะแนนระยะทางบินร่วมกัน ทั้งนี้ Delta Airlines จะดึงเอาพันธมิตรทั้งสองเข้ากลุ่ม SkyTeam ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วยสายการบินต่างๆจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิก คือ Delta Airlines, Aeromexico, Alitalia, Air France, CSA Czech Airlines และ Korean Airlines อย่างไรก็ตาม ทาง Delta แถลงว่าการร่วมพันธมิตรครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการควบรวมกิจการเพราะทั้ง 3 สายการบินซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดภายในสหรัฐฯรวมกันคิดเป็นร้อยละ 35 ยังคง มีการบริหารงานและมีการดำเนินการด้านการเงินแยกจากกันเป็นอิสระเช่นเดิม ปัจจุบัน Delta ก็กำลังประสบปัญหาการดำเนินงานเช่นกัน โดย ในปีที่แล้วมีผลประกอบการขาดทุนไป 1.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ และครึ่งแรกปีนี้ก็ขาดทุนอีก 583 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ สายการบินของสหรัฐฯทั้งระบบ ทั้งนี้ ความหวาดวิตกในความปลอดภัยจากการใช้บริการโดยสารเครื่องบินของสายการบินอเมริกันได้ส่งผลทำ ให้จำนวนผู้โดยสารลดลงและรายรับของสายการบินทรุดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่าย อาทิ ด้านประกันภัยและการรักษาความปลอดภัยกลับเพิ่มขึ้น เป็นการซ้ำเติมภาวะซบเซาก่อนหน้านี้ของธุรกิจสายการบินในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจซบเซาของสหรัฐฯและภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการล้มละลายของธุรกิจสายการ บินอเมริกันหลายรายนี้จะเป็นโอกาสให้กับสายการบินของประเทศอื่นๆที่ จะสามารถเข้ามาแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินสู่อเมริกา ไม่ว่า จะเป็นสายการบินต่างๆจากยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินที่มี ศักยภาพสูงหลายรายจากเอเซีย อาทิ จากไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน/ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจากออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น ภาวการณ์ดังกล่าวจะทำให้สายการบินต่างๆของโลก รวมทั้งพันธมิตรสายการบินกลุ่มต่างๆต้องปรับกลยุทธ์การตลาด อาทิ กลุ่ม Star Alliance ที่อาจมีศักยภาพการแข่งขันลดลงหากสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสำคัญของกลุ่มจะต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งย่อมจะกระทบต่อสายการบินที่เป็นสมาชิกร่วมในกลุ่มอย่างเช่น สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ออลนิปปอนแอร์ไลนส์ (ANA) การบินไทยและแอร์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น แต่ในทางกลับกันจะเอื้อโอกาสต่อสายการบินคู่แข่งในกลุ่ม One World ที่มีสายการบินที่เป็นสมาชิกหลักๆอย่าง คาเธย์ แปซิฟิก และแควนตัส ที่พร้อมจะแย่งส่วนแบ่งตลาด ดังนั้นเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างตลาดและการแข่ง ขันในตลาดสายการบินระหว่างประเทศ พร้อมๆไปกับการปรับกลยุทธ์การตลาดและการดำเนินงานของสายการบินต่างๆ รวมทั้งการเข้าร่วมกลุ่ม เป็นพันธมิตรกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.