|

บริษัทจีนในตลาดสิงคโปร์เจ๊งเก็งกำไรน้ำมัน บริษัทจีนในตลาดสิงคโปร์เจ๊งเก็งกำไรน้ำมัน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ไชน่า เอวิเอชั่น ออยล์
(ซีเอโอ) บริษัทผูกขาด
นำเข้าน้ำมันเครื่องบินไอพ่นของจีน ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดสิงคโปร์ รายงานเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมาว่า ขาดทุนมโหฬารถึง 550 ล้านดอลลาร์ โดยที่สำคัญเนื่องมาจากการเก็งกำไรและการซื้อขายตราสารอนุพันธ์อย่างผิดพลาด
แต่มันไม่จบเพียงแค่นี้ กรณีอื้อฉาวทางการเงินมูลค่ามหึมารายนี้ยังทำให้เกิดคำถามฉกรรจ์ๆ เกี่ยวกับวิธีบริหารกิจการของจีน ซึ่งดูจะขาดทั้งความโปร่งใส ความรับผิด และความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในประสิทธิภาพขององค์กรกำกับตรวจสอบทางการเงินของสิงคโปร์อีกด้วย
วันที่ 30 พฤศจิกายน ซีเอโอ ซึ่งเป็นกิจการในเครือของ ไชน่า เอวิเอชั่น ออยล์ โฮลดิ้ง คอมพานี (ซีเอโอเอชซี) รัฐวิสาหกิจจีนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ทำให้เทรดเดอร์ค้าน้ำมันและนักลงทุนในตลาดหุ้นต้องตะลึงงันไปตามๆ กัน เมื่อออกประกาศว่า กำลังยื่นเรื่องขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายของสิงคโปร์ ภายหลังประสบการขาดทุนถึง 550 ล้านดอลลาร์จากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์น้ำมันในลักษณะเก็งกำไร
ดูเหมือนว่าซีเอโอจะเก็งกำไรผิดพลาดอย่างมโหฬาร ด้วยการขายตราสารที่เรียกว่า "คอลล์ ออป ชั่น" (สัญญาจะขาย) โดยหวังว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลงมา แต่ในทางเป็นจริง ราคาของทองคำสีดำในเดือนตุลาคมกลับพุ่งเอาๆ สร้างสถิติสูงสุดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
กรณีของซีเอโอกลายเป็นความสูญเสียจากการเก็งกำไรครั้งมโหฬารที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในสิงคโปร์ นับตั้งแต่ที่ นิก ลีสัน เทรดเดอร์ชาวสหราชอาณาจักร เสียเงินไปถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ในตลาดตราสารอนุพันธ์ที่นี่เมื่อปี 1995 ซึ่งลงท้ายแล้วก็ลากเอานายจ้างของเขา คือ แบริ่งส์ วาณิชธนกิจเก่าแก่ที่สุดของสิงคโปร์พลอยเจ๊งไปด้วย
หุ้นซีเอโอถูกสั่งระงับการซื้อขายในตลาดสิงคโปร์มาตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายน และน่าจะอยู่อย่างนี้ไปอีกพักหนึ่ง ทำให้หุ้นที่ถืออยู่ในมือของนักลงทุนกว่า 7,000 คนกลายเป็นเศษกระดาษไร้ค่า ทั้งที่บริษัทเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นกิจการแห่งหนึ่งซึ่งได้รับความนับถือมากที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุด ในบรรดาบริษัทแดนมังกรมากกว่า 60 แห่งซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
ยิ่งรายละเอียดของกรณีอื้อฉาวรายนี้ ถูกรายงานผ่านทางสื่อมวลชนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเกิดคำถามฉกรรจ์ๆ เกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบรรดาบริษัทจีน ซึ่งในไม่กี่ปีที่ผ่านมาสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ผู้กระหายอยากร่วมส่วนร่ำรวยกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของแดนมังกร
เวลานี้มีหลักฐานชัดเจนว่า ซีเอโอเอชซี บริษัทแม่ในแผ่นดินใหญ่ได้รับแจ้งมาก่อนแล้ว เกี่ยวกับภาวะจนตรอกทางการเงินของบริษัทลูกในสิงคโปร์ อย่างน้อยก็ทราบว่าซีเอโอขาดทุนไปแล้ว 180 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 10 ตุลาคม หลายวันทีเดียวก่อนที่บริษัทแม่จะขายหุ้นของบริษัทลูกแห่งนี้จำนวน 15% ให้แก่นักลงทุนสถาบันในวันที่ 20 ตุลาคม ซึ่งทำให้ซีเอโอเอชซีมีหุ้นซีเอโออยู่ในมือลดลงจาก 75% เป็น 60% และได้เงินมา 108 ล้านดอลลาร์ ทว่าบริษัทแม่มิได้เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการขาดทุนนี้เลยในระหว่างการจำหน่ายหุ้นออกไป
การขายหุ้นในลักษณาการเช่นนี้ย่อมเข้าข่ายการซื้อขายที่ใช้ข้อมูลภายในอันเป็นการเอาเปรียบ (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) ทำให้มีข้อสงสัยขึ้นว่า อาจจะมีการปกปิดข้อมูลหรือรวมหัวทุจริตกันตั้งแต่บริษัทลูกในสิงคโปร์ไปจนถึงบริษัทแม่ในจีนก็ได้
นอกจากนั้นยังสร้างความกังขาเกี่ยวกับระบบตรวจสอบภายในของซีเอโอ ดังที่ไฟแนน เชียลไทมส์ชี้ไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ซีเอโอมีการควบคุมภายในเรื่องการค้าตราสารอนุพันธ์ ที่ใช้การไม่ได้เลย เนื่องจากมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าการค้าดังกล่าวจะต้องยุติ หากเทรดเดอร์รายใดใน 10 รายของบริษัท ต้องแบกรับการขาดทุนเกิน 500,000 ดอลลาร์"
จีนดูจะตระหนักดีถึงขอบเขตความเสียหายที่อาจจะลุกลามออกไปจากกรณีอื้อฉาวนี้ ดังนั้น จึงพยายามเน้นย้ำว่า กรณีซีเอโอเป็นข้อยกเว้น และไม่มีบริษัทจีนใดๆ อีกที่กระทำการละเมิดกฎเกณฑ์ หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ฉบับวันศุกร์(3) รายงานคำพูดของ หลี่เจียงเซียง ประธานแอร์ไชน่า สายการบินระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดของแดนมังกร ซึ่งแถลงว่า ความเสียหายของซีเอโอจะไม่ทำให้การขนส่งน้ำมันเครื่องบินไปยังจีนต้องประสบปัญหาใดๆ
อย่างไรก็ดี เรื่องอื้อฉาวนี้ยังคงกระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลของพวกบริษัทจีน กรณีนี้ส่อให้เห็นว่าเป็นเพียงส่วนยอดที่โผล่พ้นน้ำของภูเขาน้ำแข็งมหึมาใช่หรือไม่ ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด แต่สำหรับตอนนี้ย่อมเป็นหน้าที่รับผิดชอบของจีนที่จะต้องพิสูจน์ว่า เหล่าบริษัทของตนกำลังทำตามมาตรฐานสูงส่งในด้านการทำบัญชีและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นอะไรที่แม้กระทั่งบริษัทอเมริกันและบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากก็ยังทำไม่ได้เลย
สิงคโปร์ก็ถูกทุกสายตาจับจ้อง
เทรดเดอร์น้ำมันในสิงคโปร์คนหนึ่งยกคำคมซึ่งชอบพูดกันอยู่ในตลาดที่ว่า ถ้าบริษัทใดเกิดขาดทุนสัก 50 ล้านดอลลาร์ ย่อมเป็นปัญหาของบริษัทนั้นเอง แต่ถ้าเกิดขาดทุนถึง 500 ล้านดอลลาร์ นั่นต้องเป็นปัญหาของระบบแล้ว
เมื่อเกิดกรณีซีเอโอขึ้นมา ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (เอสจีเอ็กซ์) เร่งรีบดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือของตัวเอง ด้วยการสั่งระงับการซื้อขายหุ้นตัวนี้ นอกจากนั้นเอสจีเอ็กซ์ยังสั่งให้ซีเอโอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีพิเศษเข้ามาสอบสวนภาวการณ์ที่นำไปสู่การขาดทุน ซึ่งปรากฏว่าซีเอโอเลือกสำนักงานสอบบัญชี ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส มาทำหน้าที่นี้ ยิ่งกว่านั้น กรมกิจการพาณิชย์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังเปิดการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้หายสงสัยว่าซีเอโอมีพฤติกรรมแบบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่
กระนั้น หลายๆ คนก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าทำไมเอสจีเอ็กซ์ และเอ็มเอเอส (ทบวงการเงินแห่ง สิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแบงก์ชาติของนครรัฐแห่งนี้) จึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติก่อนที่จะเกิดการขาดทุนมโหฬารขนาดนี้ สำหรับนักลงทุนซึ่งได้รับความเสียหายแล้ว เรื่องนี้เท่ากับเป็นการโกหกหลอกลวงกันอย่างโจ๋งครึ่มทีเดียว "ใครบางคนในรัฐบาลสิงคโปร์ต้องเผลอนอนหลับแน่" เทรดเดอร์น้ำมันผู้หนึ่งให้ความเห็น "การที่ไม่รู้เรื่องว่ามีการขาดทุนถึงระดับนี้ ย่อมบ่งชี้ว่าเอสจีเอ็กซ์และเอ็มเอเอสล้มเหลวไม่สามารถบังคับให้เกิดบรรษัทภิบาลได้ ระบบการซื้อขายทั้งหมดของเอสจีเอ็กซ์ และบทบาทการกำกับตรวจสอบของเอ็มเอเอสจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจดูให้ละเอียด"
เทรดเดอร์จำนวนมากชี้ว่า การปล่อยให้ เฉินจิ่วหลิน ซีอีโอของซีเอโอ สามารถบินกลับจีนได้เมื่อวันพุธ(1) ถือเป็นการตัดสินใจที่ย่ำแย่มาก เฉินถูกสั่งระงับไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในซีเอโอนับแต่ที่บริษัทขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ซีเอโอส่งคำแถลงถึงเอสจีเอ็กซ์แล้วว่า เฉินจะเดินทางกลับไปสิงคโปร์ในสัปดาห์นี้
คงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วซีเอโอจะถูกเล่นงานด้วยข้อหาปลอมแปลงเอกสารทางการเงินที่ยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของสิงคโปร์หรือไม่ หรือจะเจอคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้งไหม
ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์จะต้องหาทางคลี่คลายประเด็นเหล่านี้ให้กระจ่าง ถ้าหากยัง ปรารถนาที่จะฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุน อันเป็นสิ่งที่เสียหายไปหนักหนาสาหัสแล้วในบัดนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|