เศรษฐกิจเอเชียปีนี้เติบโตแข็งแกร่ง แม้เผชิญทั้งน้ำมันแพง-ดอลลาร์อ่อน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย สามารถดูดซับผลกระทบทั้งของราคาน้ำมันที่สูงลิ่วเป็นประวัตการณ์ และของเงินดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งอ่อนฮวบลงมาได้เป็นอย่างดี โดยยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแรงในปี 2004 อีกทั้งอยู่ในฐานะที่จะเจริญเติบโตต่อไปในปีหน้าได้อย่างมั่นคง แม้ด้วยอัตราซึ่งน่าตื่นใจน้อยลง

จากการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างสม่ำเสมอ และจากเศรษฐกิจโลกซึ่งโดยทั่วไปแล้วอยู่ในช่วงขาขึ้น เศรษฐกิจของชาติในเอเชียจำนวนมากจึงสามารถเติบโตด้วยอัตรารวดเร็วที่สุด นับแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเงิน “ต้มยำกุ้ง” ในปี 1997-98

ทว่าต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้จำนวนมากทีเดียว เกิดขึ้นเนื่องจากการพึ่งพาจีน โดยที่แดนมังกรปีนี้พยายามแก้ไขเศรษฐกิจของตัวเองให้ออกจากภาวะเติบโตร้อนแรงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพลังที่จะดึงดูดนำเข้าสินค้าจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน

ถึงแม้ว่าความกล้าแข็งที่เพิ่มขึ้นทุกทีของยักษ์ใหญ่เอเชียรายนี้ ยังคงก่อให้เกิดความหวาดกลัว พอๆ กับที่ก่อให้เกิดโอกาส

ธนาคารโลกนั้นได้พยากรณ์ไว้ล่าสุดในเดือนที่แล้วว่า บรรดาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก จะเติบโตด้วยอัตรา 7.1% ในปีนี้ โดยที่จีนจะขยายตัวสูงสุดเป็นสถิติใหม่ที่ 9.2%

สำหรับเอเชียใต้ ซึ่งได้แรงขับดันทำนองเดียวกันจากอินเดีย ก็คาดหมายว่าจะมีตัวเลขอัตราเติบโตอันน่าประทับใจเช่นกันในปีนี้ กล่าวคือโดยทั่วไปแล้วจะเกินระดับ 6.0% ทั้งนี้เป็นคำทำนายของธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)

ขณะที่จีนกับอินเดียเป็นตัวเอกดึงเอาความสนใจไปหมด ญี่ปุ่นกลับอยู่ในอาการสะดุดในช่วงปีที่สามแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตัวเอง สืบเนื่องจากยอดส่งออกเกิดชะลอตัว แต่กระนั้นก็ยังสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด โดยปิดฉากปีนี้ด้วยฐานะที่ค่อนข้างดีทีเดียว สำหรับการเติบโตต่ออีกปีในปี 2005

“ปีนี้เป็นปีที่ดีมากๆ ปีหนึ่งสำหรับเอเชีย” นิซัม อิดริส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเอเชียให้กับค่ายไอเดียโกลบอล บอกพร้อมกับสำทับว่า “เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ต่างมีผลประกอบการเหนือกว่าศักยภาพของตัวเอง”

ในรายงานทิศทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ซึ่งฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ธนาคารโลกก็บรรยายผลงานทางเศรษฐกิจในปี 2004 ของภูมิภาคนี้เอาไว้ด้วยคำว่า “โดดเด่น”

“ไมว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีเงินได้ระดับกลาง หรือระดับยากจน ล้วนแต่มีการเติบโตในอัตราสูงเหมือนๆ กัน” รายงานชิ้นนี้ระบุ

“การส่งออกน่าจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่สุดนับแต่ปี 1998 เป็นต้นมาทีเดียว ทั้งนี้ด้วยแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ของจีน, การฟื้นตัวของทั่วโลก, การกลับกระเตื้องขึ้นของอุตสาหกรรมไฮเทคทั่วโลก, และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เข้มแข็ง

“คาดหมายว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะขึ้นไปแตะ 7.0% สำหรับภูมิภาคนี้โดยรวม ขณะที่ในหมู่เศรษฐกิจซึ่งกำลังพัฒนาควรจะไปถึงใกล้ๆ 8.0% ได้ ซึ่งเป็นระดับแข็งแกร่งที่สุดนับแต่เกิดวิกฤตทางการเงินในภูมิภาค”

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเอเชียในปี 2004 จำนวนมากทีเดียวเป็นผลมาจากการส่งออกที่เข้มแข็ง โดยอุตสาหกรรมสำคัญๆ อาทิ ภาคเทคโนโลยี สามารถไปได้ดีมาก สืบเนื่องจากอุปสงค์ของทั่วโลกกำลังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เองกลับกำลังกลายเป็นปัญหา ในเมื่ออเมริกาขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลอย่างรวดเร็วยิ่ง และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวตลอดทั้งปีนี้

การไหลรูดของดอลลาร์ทำให้สินค้าที่เอเชียส่งออกไปสู่ตลาดสหรัฐฯมีราคาแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และก็ทำให้รัฐบาลของชาติต่างๆ ในเอเชียรู้สึกสั่นไหว เนื่องจากพวกเขาต่างสั่งสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมหึมา เอาไว้ในรูปเงินตราสกุลที่เคยถือกันว่ามั่นคงหนักหนาสกุลนี้

นอกจากนั้น มันยังทำให้เกิดแรงบีบคั้นจากวอชิงตันและที่อื่นๆ ให้จีนผ่อนคลายการตรึงค่าเงินหยวนไว้ค่อนข้างตายตัวที่ประมาณ 8.28 หยวนเท่ากับ 1 ดอลลาร์ ซึ่งปักกิ่งใช้มาราวสิบปีแล้ว โดยหวังกันว่าเมื่อปล่อยให้หยวนเคลื่อนไหวได้เสรีมากขึ้น เงินตราจีนจะต้องมีค่าแข็งขึ้น แล้วสินค้าส่งออกแดนมังกรก็จะต้องมีราคาแพง ทำให้บริษัทภายในสหรัฐฯเองมีโอกาสแข่งขันได้

อุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจในเอเชีย ก็คือการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันโลก ทั้งนี้น้ำมันดิบชนิดไลท์ครูด พุ่งขึ้นจากประมาณ 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเริ่มต้นปี 2004 ไปทำสถิติที่เหนือระดับ 55 ดอลลาร์ในเดือนตุลาคม

ด้วยเหตุที่เอเชียมีฐานะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ราคาที่พุ่งขึ้นดังกล่าวจึงทำให้เกิดความวิตกกันว่า มันจะส่งผลกระทบต่อทิศทางอนาคตแห่งการเติบโตขยายตัวของภูมิภาค

รายงานในเดือนพฤศจิกายนของธนาคารโลกบอกว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอาจทำให้อัตราเติบโตของโลกที่ทำนายกันไว้หดหายไปได้ 0.5% และเฉพาะในเอเชียจะลดได้ถึง 0.8% ทีเดียว โดยที่ชาติผู้นำเข้าสุทธิรายใหญ่กว่าเพื่อน อาทิ เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, และไทย จะต้องเจ็บปวดหนักที่สุด

โชคดีที่นับแต่นั้นมา ราคาน้ำมันได้อ่อนตัวลงบ้าง

แต่ไม่ว่าอย่างไร นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่า ภูมิภาคนี้สามารถที่จะรับมือกับเรื่องราคาน้ำมันได้เป็นอย่างดี

“เราไม่กังวลอะไรมากมายนักหรอก ในเรื่องน้ำมันจะสามารถทำอะไรกับเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้” นิซัมแห่งไอเดียโกลบอลบอก

“เห็นชัดเจนว่า เศรษฐกิจของชาติเหล่านี้จะมีผลงานดีขึ้นแน่ๆ ถ้าหากน้ำมันไม่ได้ทะลุระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทว่าการที่ราคาน้ำมันสามารถพุ่งขึ้นไปได้ขนาดนั้น จริงๆ แล้วก็เนื่องจากปีนี้อัตราเติบโตมีความแข็งแกร่งมากนั่นเองแหละ”

ปีหน้า บรรดานักเศรษฐศาสตร์กำลังคาดหมายว่าเอเชียจะยังคงขยายตัวได้ด้วยอัตราสดใสเหมือนกับในช่วงสองสามปีก่อนหน้า แม้จะด้วยฝีก้าวที่ชะลอลงกว่าในปีนี้

ธนาคารโลกพยากรณ์ว่า เอเชียตะวันออกจะเติบโตด้วยอัตรา 5.9% ในปี 2005 หลังจากทำได้ 7.1% ในปีนี้, 5.9% ในปี 2003, และ 6.0% ในปี 2002

สำหรับคำทำนายของธนาคารพัฒนาเอเชียให้เอเชียตะวันออกในปี 2005 ไว้ที่ 6.2% ส่วนเอเชียใต้จะโตช้ากว่านิดหน่อยอยู่ที่ 5.9%

นิซัมชี้ว่า แม้จะชะลอตัวลงบ้างในปี 2005 ก็ยังเป็นเรื่องน่ายินดี

“ปีหน้า ... นั่นเป็นเรื่องพึงปรารถนาทีเดียว ไม่ใช่อะไรที่ต้องหวาดกลัวเลย” เขาบอก

“อันที่จริง ถ้าเราไม่สามารถชะลอลงได้นั่นแหละ มันก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการฮาร์ดแลนดิ้งทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.