เศรษฐกิจทั่วโลกปีใหม่นี้จะซึม? เรื่องง่ายๆ รับมือได้สบายอยู่แล้ว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากคืนและวันอันหดหู่เมื่อปี 2001 อันเป็นยุคยามแห่งความอึดอัดทางเศรษฐกิจทั่วโลก สถานการณ์ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ครั้นถึงปี 2004 จีดีพีโลกขยายตัวได้ในอัตราราว 5% ร้อนแรงที่สุดในรอบสองทศวรรษทีเดียว ธุรกิจภาคต่างๆ เริ่มผ่อนคลายจนถึงกับสามารถพุ่งขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ เรียกว่าเลิกไปได้เลยกับความวิตกเก่าๆ เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ในทางรูปธรรมภาคธุรกิจรามือจากการหั่นค่าใช้จ่าย หันกลับไปสู่ทุกกลยุทธ์เพื่อเร่งยอดขาย

น่าเสียดายความ สถานการณ์เยี่ยมๆ อย่างนั้นยืนระยะไม่ได้ตลอดกาล ถ้าปี 2004 เป็นสถิติดีที่สุดของต้นศตวรรษใหม่นี้ ปี 2005 ก็จะเป็นช่วงต้นๆ ของสภาวะการเคลื่อนคล้อยอย่างชนิดที่ว่า”เห็นกันจะจะ”

ในหลายเดือนข้างหน้านี้ แม้จีดีพีของโลกยังน่าจะเขยิบขึ้นได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้วในอัตราไม่เกิน 4% แต่มู้ดและกรอบความคิดของฝ่ายบริหารในภาคธุรกิจจะทยอยเปลี่ยนไปทีละน้อย จากลีลาการมองโลกแง่ดีสุดสุด ไปสู่สภาวะวิตกว่าพลังขับเคลื่อนหลบลี้หนีหน้า จวบกระทั่งถึงสภาวะเครียดขมึงด้วยเห็นแววว่าปัจจัยความเสี่ยงประการต่างๆ แห่มาจ่อจะรวมตัวกันสร้างหายนะ แล้วในท้ายที่สุดฝ่ายต่างๆ จะเทใจร่วมกันว่าถึงคราวจะต้องปรับตัวรับกับกระแสเศรษฐกิจขาลงเสียที

ทำไมหนอ พลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีอายุสั้นนัก

เรื่องนี้อธิบายได้ไม่ยาก และคำอธิบายนั้นรอให้ทำความเข้าใจอยู่อย่างโจ่งแจ้ง โดยเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบคุณภาพของปัจจัยหนุนเนื่องการขยายตัวในสามสี่ปีที่ผ่านมา

พลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกงอกเงยขึ้นจากสามปัจจัยได้แก่ อุปสงค์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งคึกคักเข้มแข็งดีเยี่ยมในปลายปีเหล่านี้, ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีน และดอกเบี้ยในตลาดซึ่งแช่อยู่ในระดับต่ำมากอย่างต่อเนื่อง ในปีหน้าปัจจัยทั้งสามประการนี้จะเปลี่ยนโฉมอย่างแน่นอน

อุปสงค์จากผู้บริโภคอเมริกันเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในภาคการผลิตและการบริการของนานาประเทศทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุปสงค์นี้ซึ่งทำงานผ่านช่องทางในภาคส่งออกของประเทศทั้งหลาย ช่วยชดเชยอุปสงค์ท้องถิ่นที่หายวูบไปสืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจล่มสลายและเศรษฐกิจถดถอยในหลายภูมิภาคของโลก

อุปสงค์ที่ว่านี้มิได้มาจากสุญญากาศ หากเกิดขึ้นด้วยปัจจัยเอื้อหนุนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายของทางการสหรัฐฯนั่นเอง อนิจจา ในปี 2005 นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแสดงบทบาทได้ดั่งที่เคยเป็นมา

สหรัฐฯแบกภาระการขาดดุลงบประมาณและดุลปัญชีเดินสะพัดไว้มหาศาลเกินกว่าจะปล่อยปละเรื่องนี้ไปตามยถากรรมได้อีก ในเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้มากกว่าสองสมัย ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินกลยุทธ์เอาใจฐานคะแนนเสียงทั้งหลายของตนดั่งที่เคยเป็นมาในสมัยแรกของการเป็นประมุขประเทศ

ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่จะได้เห็นการหั่นภาษี ตลอดจนการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเอาใจประชาชน ตลอดจนพวกบริษัทธุรกิจใหญ่น้อยทั้งหลาย ย่อมมีไม่มาก ตรงกันข้าม การเขียมและการระดมหารายได้เข้าช่วยงบดุลของรัฐบาลมีแต่จะโดดเด่นขึ้นมา

ในเวลาเดียวกัน ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯไม่อาจปล่อยปละให้ดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจถูกทิ้งค้างที่ระดับเฉียดศูนย์เปอร์เซ็นต์ได้อีกต่อไป แนวโน้มแจ่มชัดของปีหน้าของการรุกคืบปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาในส่วนของครัวเรือนตลอดจนผู้บริโภคทั้งหลาย

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์การเป็นหนี้ของคนอเมริกันในชั่วโมงนี้ พุ่งขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเหนืออื่นใดคือปัจจัยสำคัญที่ว่าเมื่อดอกเบี้ยขยับสูงขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่อมแพงมากขึ้นไปด้วย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทเป็นแหล่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าของคนอเมริกันในทุกไตรมาสอันคึกคัก กล่าวคือหลายปีที่ดอกเบี้ยค้างเติ่งอยู่ในระดับต่ำ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็ร้อนแรงได้เรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดรายได้สู่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ทยอยกันนำอสังหาริมทรัพย์มารีไฟแนนซ์ หรือกระทั่งนำอสังหาริมทรัพย์มาจดจำนองใหม่เพื่อเติมสภาพคล่องให้ตัวเองในยามที่ถูกล่อใจด้วยดอกเบี้ยถูกแสนถูก

ครั้นเมื่อดอกเบี้ยเขยิบแพงขึ้นเรื่อยๆ และระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถเฟ้อดั่งที่เคยเป็นมาได้ ขวัญของผู้บริโภคต้องถูกกระทบเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในมุมมองว่าภาระที่สร้างใหม่ไว้นั้นจะหนักหนาเพียงใดกันแน่

ปี 2005 จึงมีวี่แววจะเกลื่อนกล่นด้วยแห่งบรรดาฝันร้าย อาทิ ภาระหนี้มากล้น ผลกระทบจากการที่ระดับการออมเหือดหายไปอย่างมากมาย และปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์เฟ้ออย่างเว่อร์ ซึ่งอาจบานปลายไปถึงขั้นของการเรียกอัตราการผ่อนชำระหนี้มากขึ้น อย่างที่เคยปรากฏในหลายระบบเศรษฐกิจ

หายนะแห่งภาวะสภาพคล่องฝืดมือจะไม่จำกัดวงอยู่เพียงภายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเท่านั้น เท่าที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนเคยโยกย้ายหนีออกจากสหรัฐฯซึ่งมีดอกเบี้ยตอบแทนต่ำ ไปปักหลักอยู่กับตลาดการเงินทั้งหลายทั่วโลก แต่เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยเปลี่ยนไป กระแสไหลบ่าของเม็ดเงินย่อมมีแนวโน้มที่จะไหลออกจากบรรดาตลาดการเงินทั่วโลก หวนคืนสู่ตลาดอเมริกันอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดการเงินของพวกระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่หนีไม่พ้นที่จะเดือดร้อนก่อนใครเพื่อนแน่

ตรวจสอบปัจจัยว่าด้วยระบบเศรษฐกิจจีนบ้าง

ขณะที่ทางการปักกิ่งพยายามเหลือเกินที่จะประคองอัตราการขยายตัวให้ผ่อนความร้อนแรงลงมาทีละน้อย แต่โอกาสมีอยู่สูงมากที่ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่การคว่ำคะมำ ในเมื่อวี่แววปรากฏกันมากว่า ในหลายภาคเศรษฐกิจของจีนที่นักลงทุนจากซีกโลกตะวันตกมองว่าร้อนแรงนั้น เริ่มเข้าข่ายปรับตัวไม่ทัน และประสบปัญหาศักยภาพการผลิตล้นเกิน ตลอดจนปัญหาส่วนต่างกำไรหดเหลือน้อยนิดในท่ามกลางการแข่งขันกันหั่นราคาเพื่อหนีภาวะล้มละลายในยามที่อัตราขยายตัวถูกกระชากให้ช้าลงมาอย่างปุบปับ

ด้านภาคการเงินการธนาคารก็อาจจะปรับตัวช้าเกินไปกับลางร้ายที่เริ่มส่อแวว การคุมกระแสการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่ออนุมัติสินเชื่อ ไม่สู้จะสอดรับการสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ผลกระทบจากจีนอยู่ในเกณฑ์ระเบิดเวลาที่ยังเอาแน่ไม่ได้ว่า ในปีใหม่นี้จะแผลงฤทธิ์สู่เศรษฐกิจของโลกหรือไม่ เพียงใด

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่จะเจ็บหนักจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะพ่นพิษในปี 2005 เมื่อปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ปรับตัวดีขึ้นอย่างน่าจับตา กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ด้วยปัจจัยการส่งออกเป็นด้านหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกไปสหรัฐฯกับจีน

หากลูกค้ารายใหญ่ทั้งสองของญี่ปุ่นอ่อนล้าลงอย่างปุบปับ การณ์คงยากที่ญี่ปุ่นจะประคองตนไว้ได้ แม้ในระยะหลังจะปรากฏสัญญาณฟื้นตัวในระดับการบริโภคภายในประเทศ

ในทำนองเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะในเอเชีย อเมริกาใต้ ฯลฯ ล้วนอยู่ในคิวที่ต้องได้รับหางเลขจากข่าวร้ายของสหรัฐฯและจีน

ถ้าจะมีภูมิภาคใดที่จะไม่ซวนเซสาหัสจากปัจจัยสหรัฐฯและจีน เห็นจะมีเพียงระบบเศรษฐกิจของยุโรปซึ่งได้เปรียบในแง่ที่สามารถปรับตัวจากการพึ่งพิงภาคส่งออก ไปสู่การเน้นรายได้จากภาคบริการ และตะวันออกกลางซึ่งได้อานิสงส์จากการที่น้ำมันมีราคาแพง

เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยว่า ปี 2005 จะเป็นปีตั้งต้นแห่งสถานการณ์เศรษฐกิจหยุดความร้อนแรง กระนั้นก็ตาม ไม่ต้องแตกตื่นไปถึงระดับว่าระบบจะล่มสลายรอบใหม่ ยกเว้นจะเกิดมหาวิกฤตจำพวกว่าน้ำมันกระฉูดไปถึงระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเงินดอลลาร์ทรุดอ่อนจัดมหัศจรรย์

การเร่งปรับตัวในปีใหม่นี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่ตั้งเป้าจะหลีกเลี่ยงหายนะในปีถัดๆ ไป บทเรียนจากวิกฤตหมาดๆ เมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว น่าจะสามารถช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากวางยุทธศาสตร์ให้ดี และบริหารสถานการณ์ส่วนตัวให้ได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

หายนะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าไม่ปล่อยตัวเพริดไปตามยถากรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.