จีน - อินเดียเร่งเครื่องขยายกิจการน้ำมัน เล็งสร้างยักษ์ใหญ่แข่งเอซซอน - เชลล์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในโลกตะวันตกยุคศตวรรษที่ 20 การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ตลาดอันใหญ่โตมหึมา และอิทธิพลบารมีทางการเมือง เคยเป็นปัจจัยทำให้เกิดบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่มโหฬารอย่างเช่น เอซซอน โมบิล คอร์ป รอยัล ดัตช์/เชลล์ กรุ๊ป และ บีพี

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อินเดียกับจีน 2 ชาติที่กำลังผงาดก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชีย ได้ทำข้อตกลงหรือมีข่าวยื่นข้อเสนอทำความตกลงในด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งมีขนาดใหญ่โตมาก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า หรือนี่เป็นสัญญาณบ่งชี้การกำเนิดยักษ์ใหญ่น้ำมันแบบเอเชียในยุคศตวรรษที่ 21

เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของพวกเขาซึ่งประกอบด้วยประชากรเรือนพันล้านคน ยังสามารถแข่งขันก้าวหน้าต่อไป อินเดียกับจีนต่างนำเข้าน้ำมันและก๊าซในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็กำลังมอบหมายให้บริษัทพลังงานซึ่งควบคุมโดยรัฐของพวกเขา ออกสืบเสาะลาดตระเวนไปทั่วโลกเพื่อหาวัตถุดิบทรงคุณค่าชนิดนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงอายุ 25 ปีเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากบริษัทเนชั่นแนล อิรานเนียน แก๊ส เอ็กซพอร์ต ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอิหร่าน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2009 นอกจากนั้นแดนภารตะยังโอเคที่จะพัฒนาบ่อน้ำมัน 3 แห่งในอิหร่าน ซึ่งเป็นชาติส่งออกมากเป็นอันดับสองในโอเปก รองจากซาอุดีอาระเบียเท่านั้น

ออยล์ แอนด์ เนเจอรัล แก๊ส คอร์ป แห่งอินเดียที่รัฐเป็นเจ้าของ ยังแถลงว่ากำลังสนใจเข้าถือหุ้นในยูกันสะกะเนฟเตกาซ กิจการหลักด้านการผลิตน้ำมันของยักษ์ใหญ่ยูคอสแห่งรัสเซีย ซึ่งกำลังถูกรัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เล่นงานจนแทบเจ๊งไปแล้ว

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า รัสเซียเพิ่งแถลงว่าจะเสนอขายหุ้นส่วนข้างน้อยในทรัพย์สินชิ้นนี้แหละให้แก่จีน

ในเวลาเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวว่า ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ป บริษัทน้ำมันและก๊าซใหญ่อันดับสามของจีน ทำท่าสนใจเข้าซื้อ ยูโนแคล คอร์ป บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับเก้า (เมื่อวัดด้วยปริมาณน้ำมันสำรองที่มีอยู่) ของสหรัฐฯ เรื่องนี้นับเป็นหลักฐานเตะตาที่สุดเท่าที่มีกันอยู่ ถึงความมุ่งหวังระดับโลกของแดนมังกร

นอกจากนั้น ภายในเดือนนี้จีนกับแคนาดายังอาจจะพร้อมลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการลงทุนของจีนในทรัพยากรน้ำมันของแคนาดา อาทิ แหล่งทรายน้ำมันในมณฑลแอลเบอร์ตา ถึงแม้รายละเอียดยังคงคลุมเครืออยู่

"ในระยะ 10 ปีข้างหน้า บริษัทน้ำมันของจีนและอินเดียจะผงาดขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำมันของโลกอย่างแน่นอน" นั่นเป็นคำทำนายของ แดเนียล เยอร์กิน ผู้สนใจประวัติศาสตร์น้ำมัน และก็เป็นประธานของบริษัทวิจัย เคมบริดจ์ เอเนอจี รีเสิร์ช แอสโซซิเอตส์ "มันเป็นการสะท้อนความเป็นจริงของการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนขนาดขอบเขตของจีนและอินเดียในตลาดน้ำมันโลก"

สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลให้พวกบริษัทน้ำมันใหญ่ของโลกตะวันตก ซึ่งกำลังรู้สึกถูกบีบคั้นจากการหาแหล่งน้ำมันและก๊าซที่ขุดเจาะง่ายๆ ได้ยากขึ้นทุกทีอยู่แล้ว ต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับคู่แข่งหน้าหน้า

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานชี้ว่า คู่แข่งจากเอเชียเหล่านี้น่าเกรงขามเป็นพิเศษ ตรงที่สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองในการทำดีล ด้วยการอาศัยพลังทางการเมืองและการเงินของรัฐบาลของพวกตนมาหนุนหลังอย่างโจ่งแจ้งยิ่งกว่าฝ่ายตะวันตก

อีกทั้งมักเป็นการบุกเข้าไปเจาะประเทศร่ำรวยน้ำมันอย่างเช่นซูดาน ซึ่งในโลกตะวันตกมักมองว่าอันตรายเกินไปหรือไม่ค่อยมีเสน่ห์ดึงดูดใจ

แถมพวกเขายังพร้อมยอมรับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์แบบโหดๆ ชนิดที่คู่แข่งตะวันตกซึ่งต้องพะวักพะวนกับความต้องการกำไรสูงสุดของเหล่าผู้ถือหุ้น มีแต่ผวาไม่ค่อยกล้าเล่นด้วย

ตลอดจนพรักพร้อมที่จะเสี่ยงมากกว่าในการขุดเจาะบ่อซึ่งอาจปรากฏผลว่าเสียเงินเสียเวลาเปล่า

แต่การพูดถึงข้อได้เปรียบเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่า เรากำลังจะได้เห็นเอซซอน โมบิล แบบจีน หรือ รอยัล ดัตช์ เชลล์ แบบอินเดียแน่นอนแล้ว

อันที่จริงจีนและอินเดียก็มีข้อเสียเปรียบอยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งบริษัทแดนมังกรและแดนภารตะยังขาดเทคโนโลยีและโนวฮาวแบบที่คู่แข่งตะวันตกมีอยู่

ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายตั้งคำถามว่า หากจีนฮุบยูโนแคลได้จริงๆ จะเป็นผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จริงๆ หรือ อย่าว่าแต่ ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ จะกลืนอาหารคำยักษ์ขนาดนี้ไหวไหม

ยิ่งกว่านั้น ความเป็นจริงทางการเมืองยังอาจพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับจีนที่จะซื้อบริษัทใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกัน สมมุติว่าบริษัทดังกล่าวประกาศขายแน่ๆ ก็ตาม

นอกจากนั้น แสนยานุภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ของจีนและอินเดีย ก็มิได้เป็นหลักประกันเลยว่าพวกเขาจะสามารถสร้างยักษ์ใหญ่น้ำมันเฉกเช่นเอซซอน โมบิล ขึ้นมาได้

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเจ้าแรกในเอเชีย ได้เคยพยายามมาแล้วในทศวรรษ 1970 และ 1980 ทว่าต้องล้มเหลวไม่อาจสร้างกิจการแห่งชาติที่เป็นแชมเปี้ยนในด้านน้ำมันขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี การที่จีนเล็งยูโนแคลก็บ่งชี้ว่า แดนมังกรอาจเรียนรู้บางอย่างจากความผิดพลาดของญี่ปุ่น

ขณะที่ในตอนนั้นญี่ปุ่นมุ่งลงทุนหนักในด้านการสำรวจขุดเจาะ ขณะนี้จีนกลับกำลังโฟกัสไปที่การซื้อหาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วและกำลังผลิตน้ำมันและก๊าซกันอยู่แล้ว

บ่อน้ำมันและก๊าซของยูโนแคลอาจจะยังไม่ได้ใกล้เคียงเพียงพอที่จะสนองความต้องการใช้ของจีน แต่ก็จะเอื้อโอกาสให้บริษัทน้ำมันจีนได้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคซึ่งจำเป็นแก่การพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของยักษ์โลกเฉกเช่นเอซซอน โมบิล หรือ บีพี ในอนาคตข้างหน้า

อินเดียเองก็กำลังจ้องหาทรัพย์สินน้ำมันและก๊าซในต่างแดนที่เห็นจะจะชัดเจนแล้วในปัจจุบันเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.