|
ลุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอเชียหลังสึนามิ จะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าหลังวิกฤตโรคซาร์ส
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงเวลานี้ของแต่ละปีที่ผ่านๆ มา ย่อมเป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปนับล้านๆ คนปล่อยตัวปล่อยใจสบายๆ อยู่กับโบรชัวร์โฆษณาท่องเที่ยวสีสันชวนเจ็บตา หรือให้ร่วมสมัยหน่อยก็ต้องเข้าไปท่องอินเทอร์เน็ต เพื่อเก็บข้อมูลมาวางแผนและจับจองสถานที่พักผ่อนในฤดูร้อนของพวกเขา
มันอาจจะดูเป็นคนไม่มีหัวจิตหัวใจไปหน่อย ที่หาทางดึงดูดชักชวนให้ชาวยุโรปนั่งฝันถึงชายหาดสวยแสงแดดเจิดจ้ากันอีก ภายหลังเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงมีผู้เสียชีวิตนับแสนๆ จากฤทธิ์เดชของแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศไทย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ซึ่งล้วนแต่ถูกโถมซัดอย่างรุนแรงจากสึนามิ
เมื่อจัดการเรื่องงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า แก่ผู้ประสบเคราะห์อย่างรับผิดชอบและเอื้ออาทรแล้ว งานต่อไปย่อมต้องเป็นเรื่องการฟื้นฟูบูรณะ
และถ้าหากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะหวนกลับมาเที่ยวกันอีก บรรดาโรงแรมและรีสอร์ตซึ่งถูกกระหน่ำหนักของชาติเหล่านี้ รวมทั้งผู้คนที่ทำมาหากินและเกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงนี้ ย่อมมีโอกาสฟื้นตัวและลืมหน้าอ้าปากกันอีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็ในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกับคนยากจนในอาเจะห์ อันเป็นจังหวัดของอินโดนีเซียซึ่งแทบไม่มีนักท่องเที่ยวไปกัน
ภัยพิบัติคราวนี้เป็นการถล่มใส่อย่างสาหัสสากรรจ์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวของภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมีมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี ตัวเลขของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวแห่งโลก (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้เป็นผู้สร้างงานถึงราว 19 ล้านตำแหน่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเท่ากับประมาณ 8% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยเฉพาะมัลดีฟส์นั้น เศรษฐกิจของประเทศหมู่เกาะกลางสมุทรที่ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ราว 1,190 เกาะแห่งนี้ ต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวถึงเกือบ 80% ทีเดียว สำหรับที่ศรีลังกา การท่องเที่ยวคิดเป็น 10% ของจีดีพีในรอบปี 2004 ขณะที่ของไทยเท่ากับ 12% ของจีดีพี ทั้งนี้ตามตัวเลขของ WTTC ภูมิภาคแถบนี้ถือเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งการท่องเที่ยวเติบโตขยายตัวรวดเร็วที่สุดของโลก
ปฏิกริยาแรกสุดของพวกบริษัททัวร์เมื่อเกิดภัยพิบัติคราวนี้ขึ้น คือการพยายามค้นหานักท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของพวกเขา และรีบพากลับบ้านโดยเร็วที่สุด ทียูไอ ซึ่งเป็นบริษัทจัดการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดของยุโรป พบว่าลูกค้าทั้งหมดของตนในภูมิภาคนี้ต่างยังมีชีวิตอยู่ ทว่า แอคคอร์ เครือโรงแรมฝรั่งเศสไม่โชคดีอย่างนั้น โดยเฉพาะที่โรงแรมโซฟิเทล เขาหลัก จังหวัดพังงา ซึ่งมีแขกและพนักงานรวม 720 คน รอดชีวิตมาได้เพียง 450 คน
พวกบริษัททัวร์ยังพากันบอกเลิกการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยยินดีคืนเงินให้หรือไม่ก็เสนอแนะให้ไปพักผ่อนยังพื้นที่อื่น โฆษกของ เรเว เพาชาลตัวริสติก บริษัททัวร์รายใหญ่สัญชาติเยอรมันเผยว่า ได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าซึ่งวิตกกังวลถึงกว่า 20,000 ครั้ง และประมาณ 1,500 รายบอกเลิกการเดินทาง ส่วนอีกราว 2,000 รายเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่น อาทิ แถบทะเลแคริบเบียน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านมาได้สองสามสัปดาห์ ถึงตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว บริษัททัวร์บอกว่าทางโรงแรมตลอดจนเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ ต่างกำลังอ้อนวอนพวกเขาให้จัดส่งนักท่องเที่ยวกลับไปใหม่โดยเร็วที่สุด เนื่องจากต่างวิตกว่าเหล่าทัวริสต์จะพากันถอยหนีแม้กระทั่งบริเวณซึ่งมิได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้วย เป็นต้นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ได้เสียหายอะไรเลย ถึงแม้ราวครึ่งหนึ่งของโรงแรมในภูเก็ตจะถูกทำลาย หรือในศรีลังกา เขตซึ่งเสียหายหนักมากคือทางด้านใต้ลงมาของกรุงโคลัมโบซึ่งโรงแรมเสียหายไปราวสองในสาม ส่วนที่มัลดีฟส์ คงจะมีโรงแรมเดียวในจำนวน 7 แห่งซึ่งอาจจะต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่
โฆษกของทียูไอยอมรับว่า มันดูออกจะเพี้ยนๆ อยู่สักหน่อยที่จะส่งเสริมผู้คนให้กลับไปท่องเที่ยวดินแดนซึ่งประสบภัยพิบัติกันอีก อย่างไรก็ตาม เหตุผลมีอยู่ว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายถ้าหากเกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจตามหลังคลื่นยักษ์สึนามิ
เฉพาะทียูไอเองได้เริ่มฟื้นเที่ยวบินไปยังมัลดีฟส์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม และวางแผนรับรองให้บินไปภูเก็ตและศรีลังกากันได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางด้าน เรเว บอกว่าจะเริ่มส่งนักท่องเที่ยวบินไปยังภูเก็ตและศรีลังกาในเดือนหน้าเช่นเดียวกัน แต่สำหรับเขาหลักนั้นคงจะต้องรอไปจนกระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม คูโอนี บริษัททัวร์สัญชาติสวิส แจ้งว่ากำลังเปิดรับจองทัวร์ไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่คาดหมายว่าจำนวนคนที่จะไปคงจะลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก คูโอนีบอกว่าเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เพิ่งส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งไปยังมัลดีฟส์
ทางด้านรัฐบาลอังกฤษยังคงแนะนำพลเมืองว่า หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรเดินทางไปยังชายฝั่งด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ตลอดจนชายฝั่งด้านตะวันตกของไทย บริษัททัวร์ส่วนมากในอังกฤษกำลังเสนอจุดหมายปลายทางอื่นๆ ทดแทนให้แก่ลูกค้า หรือไม่ก็พร้อมคืนเงินให้แก่ทุกทัวร์ซึ่งกำหนดเดินทางก่อนวันที่ 31 มกราคม ถึงแม้พวกเขาวางแผนจะกลับส่งนักท่องเที่ยวไปยังบางบริเวณซึ่งประสบภัยกันอีกตั้งแต่วันที่ 16 เดือนนี้
เรอเน มาร์ก ชีกลี นายกสมาคมบริษัททัวร์ของฝรั่งเศส ยืนยันว่า วิธีที่จะช่วยประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ได้ดีที่สุด ไม่มีวิธีไหนดีกว่าการเดินทางไปพักผ่อนท่องเที่ยวกันที่นั่น
แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาคแถบนี้จะพลิกฟื้นกลับยืนขึ้นมาอีกได้รวดเร็วขนาดไหน ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่อการบินในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นในแง่ดี
เขายกตัวอย่างว่าภายหลังเกิดกรณีผู้ก่อการร้ายลอบวางระเบิดโจมตีนักท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีในปี 2002 บรรดาโรงแรม สายการบิน และเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคแถบนี้ ต่างร่วมมือประสานงานกันเพื่อทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาโดยรวดเร็ว การที่สายการบินและโรงแรมจะช่วยกันลดราคาพร้อมๆ กันไปย่อมสามารถจูงใจนักท่องเที่ยวได้มากกว่าต่างคนต่างทำ การรณรงค์ทำนองนี้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าที่เข้าทางยิ่งขึ้นอีก ภายหลังเกิดวิกฤตสืบเนื่องจากการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003
ฮาร์บิสันชี้ว่าเวลานี้พื้นที่แถวนี้ต่างมักคุ้นในการรับมือกับ "อาการช็อก" ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นประจำไปเสียแล้ว ก่อนจะเกิดกรณีบาหลีและโรคซาร์ส แถบนี้ก็ถูกเล่นงานด้วยวิกฤตการเงินเอเชียช่วงปี 1997-98 จากนั้นก็เป็นวิกฤตหมอกควันพิษ ซึ่งเกิดจากการเผาป่าในอินโดนีเซีย นอกจากนั้นภูมิภาคนี้ยังเจอความตกต่ำของการเดินทางทางอากาศเช่นกัน ภายหลังกรณีผู้ก่อการร้ายโจมตีสยองขวัญในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
พวกผู้เชี่ยวชาญต่างมั่นอกมั่นใจว่า หลังภัยพิบัติสึนามิ การเดินทางท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งกว่าตอนถูกโรคซาร์สเล่นงานเสียอีก เหตุผลก็คือ ความหวาดกลัวโรคซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะจัดการรับมือยิ่งกว่าความหวั่นเกรงในภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งนานปีทีหนจะเกิดขึ้นสักครั้ง แม้เมื่อเกิดแล้วมันจะหฤโหดแค่ไหนก็ตาม
กระนั้นก็ตาม เอเดรียน โมวัต นักวิเคราะห์แห่งค่ายเจพี มอร์แกนชี้ว่า เรื่องที่ยากที่สุดยังคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนความรับรู้ความเข้าใจของคน
บททดสอบบทแรกว่าผู้คนยังมีใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ น่าจะเป็นช่วงตรุษจีนซึ่งอยู่ในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลปีใหม่ของจีนนี้ปกติแล้วจะเป็นระยะที่มีการเดินทางท่องเที่ยวคึกคักที่สุดระยะหนึ่งของภูมิภาค
สำหรับปีนี้บรรยากาศคงจะเงียบเหงาลง แต่สำหรับพวกที่ยังคงมุ่งมั่นเดินทางมากัน อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ไม่ควรรู้สึกย่ำแย่อะไร และภูมิภาคนี้ก็พร้อมต้อนรับด้วยความยินดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|