วงการแฟชั่นชั้นสูงยุโรปขาดทุนยับ อุตสาหกรรมสิ่งทออียูผวาสินค้าจีน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

วงการแฟชั่นหรูเริดระดับโลกกำลังคึกคัก งานแสดงแฟชั่นชั้นสูง “โอต กูตูร์” ของกรุงปารีสประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปี 2005 ผ่านพ้นไปเมื่อปลายเดือนมกราคม โดยที่ไฮไลต์ย่อมได้แก่การที่ จิออร์จิโอ อาร์มานี ดีไซเนอร์รุ่นเดอะชาวอิตาเลียน ข้ามถิ่นไปเปิดการแสดงที่นั่นเป็นหนแรก

อย่างไรก็ตาม ความคึกคักอบอวลด้วยเสน่ห์ของแฟชั่นโชว์ ก็ยังไม่อาจลบเลือนความรู้สึกเป็นทุกข์ต่ออนาคตของบุคคลในอุตสาหกรรมนี้เอง บรรดาผู้ใหลหลงแฟชั่นของยุโรปกำลังตั้งคำถามว่า แฟชั่นชั้นสูงเริดหรูจะอยู่รอดยืนยาวไปได้อีกนานแค่ไหน ด้วยฐานลูกค้าที่หดแคบลงเรื่อยๆ ขณะที่ชุดก็อปปี้เลียนแบบก็ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วจากเครือข่ายจำหน่ายเสื้อผ้าที่มีวงจรการผลิตอันฉับไว มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถทำเงินได้มีกำไร จากเครื่องแต่งกายซึ่งมุ่งออกแบบตัดเย็บให้เหมาะเจาะกับลูกค้าเฉพาะราย

จีวองชี, อีฟแซงโลรองต์, เวอร์ซาเช, และ วาเลนติโน ล้วนแล้วแต่กำลังขาดทุนทั้งสิ้น อาจจะมียกเว้น ชาแนล กระมัง ซึ่งเห็นกันว่ายังสามารถทำเงินทำทองได้

อุงกาโร ซึ่งล้มเหลวไม่อาจมีกำไรมาหลายปีแล้ว บัดนี้ก็กำลังถูกบอกขาย และเมื่อวันที่ 25 มกราคม โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วีตอง (แอลวีเอ็มเอช) กลุ่มกิจการสินค้าแพงระยับ ตัดสินใจขาย คริสเตียน ลาครัวซ์ แบรนด์ที่กำลังขาดทุนอีกตัวหนึ่ง ให้แก่กลุ่มกิจการร้านปลอดภาษีของอเมริกัน ด้วยราคา “แค่พอเป็นพิธี” เท่านั้น ทางด้านปราดา ก็ตัดแยกบริษัทกับ เฮลมุต แลง ภายหลังที่ขาดทุนไม่รู้แล้วเสียที

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีแฟชั่นเฮาส์กว่า 20 แห่งประชันกันจัดคอลเลกชั่นมาอวดในช่วงสัปดาห์แฟชั่นของปารีส วันนี้มีแฟชั่นเฮาส์เพียงหยิบมือเท่านั้นที่ยังมีทุนทรัพย์พอที่จะเดินหน้าจัดแสดงต่อไปได้

ธุรกิจแฟชั่นชั้นสูงของยุโรปอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงมากว่า 5 ปีแล้ว มีแต่กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยที่ต้องพึ่งพิงอาศัยชื่อซึ่งมีมนตร์ขลังเป็นตัวล่อเท่านั้น ที่ยังคอยหล่อเลี้ยงให้แฟชั่นเฮาส์หลายแห่งไม่ถึงกับล้มหายไป ตัวอย่างเช่น เจ้าของวาเลนติโน คือ มาร์ซอตโต กลุ่มกิจการเสื้อผ้าและสิ่งทอใหญ่ที่สุดของอิตาลี ส่วน อีฟ แซง โลรองต์ ก็เป็นของ ปีโนลต์ แพรงตองส์ เรดอูต กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของแอลวีเอ็มเอช

เมื่อไล่สาวลงไปตามสายโซ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งต่างๆ ก็ดูน่าหดหู่หมดหวังพอๆ กัน พวกผู้ผลิตเสื้อผ้าสำหรับตลาดวงกว้างกำลังแบกรับขาดทุนไม่ไหวแล้ว บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน กำลังตัดลดการผลิต หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ต่างแดน บางรายผนวกควบรวมกัน หรือไม่ก็พยายามหั่นต้นทุนด้วยการลดคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หลายสิบแห่งล้มละลายกันไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อีกจำนวนมากก็กำลังดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อให้รอดชีวิต

สาเหตุหลักเลยที่ทำให้ตลาดผลิตสินค้ามวลชนประสบความลำบาก ก็คือ การแข่งขันจากจีน ดิดิเยต์ กเริงบาช แห่งสหพันธ์ช่างตัดเย็บฝรั่งเศส บอกว่า ผู้ผลิตในยุโรปนั้นไม่มีทางสู้ต้นทุนแรงงานที่ต่ำเหลือเกินของแดนมังกรได้ไหว ผลที่เกิดขึ้นจึงกำลังเป็นความหายนะ

สถานการณ์ยังดูจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ในเมื่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม การค้าสิ่งทอของโลกจะต้องเป็นเสรีมากขึ้นโดยไม่มีการใช้ระบบจำกัดโควตานำเข้า และบรรดารัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู)ต่างกำลังคาดหมายว่าสินค้านำเข้าจากจีนจะต้องทะลักเข้าไปท่วมตลาด

ขณะนี้ อียูเป็นผู้ส่งออกสิ่งทออันดับหนึ่งของโลก และเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นอันดับสองของโลก ในปี 2003 อุตสาหกรรมนี้ของยุโรปว่าจ้างพนักงาน 2.7 ล้านคน และทำรายรับได้มากกว่า 225,000 ล้านยูโร (250,000 ล้านดอลลาร์) ทว่าในช่วงปี 2001 ถึง 2003 สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีนนำเข้าไปในอียูเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะมีการค่อยๆ เลิกระบบโควตาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั่นเอง องค์การการค้าโลก(WTO) ทำนายว่า ภายในเวลา 2 ปี จีนจะสามารถควบคุมตลาดสิ่งทอของโลกได้ประมาณ 50% ทีเดียว

อิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของบริษัทสิ่งทอกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในยุโรป กำลังได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากการที่สินค้าจีนมีเสรีภาพมากขึ้น แดนรองเท้าบู้ตมีบริษัทสิ่งทอถึงราว 50,000 แห่ง กระจุกกันเป็นเครือข่ายอยู่ในเขตบิเอลลา โคโม และอื่นๆ บริษัทเหล่านี้มีขนาดเล็กๆ มักจะเป็นกิจการครอบครัวซึ่งว่าจ้างลูกจ้าง 10 คนโดยเฉลี่ย สินค้าที่พวกเขาผลิตเกือบสองในสามจะถูกส่งออก

บริษัทเหล่านี้จำนวนมากกำลังลิ้มรสแรงบีบคั้น ฟราเทลลี ปิอาเซนซา บริษัทผ้าขนสัตว์ในบิเอลลา กำลังย้ายการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า กิจการแห่งอื่นๆ ก็ลดการผลิตและลดคนงาน แต่ในปีนี้ยังจะมีตำแหน่งงานอีกมากที่จะหดหายไป “อิตาลีตอนนี้กำลังผ่านวิกฤตการณ์แบบที่เคยเกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อราวๆ 8 ปีก่อน” เป็นการวิเคราะห์ของ มาริโอ โบเซลลี ประธานสมาคมกาเมรา นาซิโอนาเล เดลลา โมดา อันเป็นสมาคมแฟชั่นใหญ่ที่สุดของแดนรองเท้าบู้ต

ในฝรั่งเศสนั้น บริษัทหลายสิบแห่งต้องเจ๊งไปในช่วงปี 1993 ถึง 2003 และตำแหน่งงานราวหนึ่งในสามของอุตสาหกรรมนี้หายวับไป ทุกวันนี้สินค้าแบรนด์ฝรั่งเศสผลิตมาจากต่างแดนถึงกว่า 60% ผู้ผลิตถุงเท้ารายหนึ่งที่ชื่อ แกงดี้ เริ่มต้นย้ายแผนกการผลิตไปยังแอฟริกาเหนือและโปรตุเกสในทศวรรษ 1990 เวลานี้บริษัทกำลังวางแผนที่จะลดต้นทุนการผลิตลงอีก ด้วยการโยกการผลิต 30% ไปยังจีนในช่วง 3 ปีข้างหน้า

พวกสมาคมแฟชั่นของฝรั่งเศสและของอิตาลี เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมานมนาน ทว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม กเริงบาช กับ โบเซลลี กลับตกลงกันได้ในแผนการซึ่งมุ่งลดทอนแรงกระทบจากการเลิกระบบโควตาสิ่งทอ พวกเขายังมุ่งร่วมมือกันในการต่อสู้กับสินค้าปลอมแปลง ตลอดจนต่อสู้เรียกร้องมาตรการใหม่ๆ ที่จะสกัดกั้นสิ่งทอนำเข้าซึ่งมีคุณภาพต่ำและราคาถูก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มล็อบบี้ที่เคลื่อนไหวได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุดของอุตสาหกรรมนี้คือ ยูโรเท็กซ์ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ สมาคมด้านสิ่งทอแห่งนี้เรียกร้องมาหลายเดือนแล้วให้อียูประกาศใช้มาตรการ “คุ้มครอง” (safeguard) เพื่อหยุดยั้งสินค้านำเข้าจากจีน

มาตรการคุ้มครองนี้ ประเทศซึ่งอุตสาหกรรมภายในของตนได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะสินค้านำเข้าทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว สามารถที่จะประกาศใช้ได้ ทว่าต้องใช้เป็นระยะเวลาเพียงชั่วคราว เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในมีเวลาปรับตัวเท่านั้น

เมื่อตอนที่จีนเจรจาจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 1999 ได้ยินยอมทำข้อตกลงเช่นนี้ไว้ และเวลานี้มีตุรกีตัดสินเมื่อวันที่ 9 มกราคม ใช้มาตรการคุ้มครองสำหรับสินค้าสิ่งทอจีน 43 รายการ อาร์เจนตินาก็เคลื่อนไหวทำนองเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้

ยูโรเท็กซ์บอกว่า ตนเองมีเหตุผลหนักแน่นที่จะสนับสนุนให้อียูประกาศใช้มาตรการนี้บ้าง อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ แมนเดลสัน กรรมาธิการด้านการค้าของอียู ยังมีท่าทีเย็นชาต่อแนวความคิดนี้ ซึ่งเหมือนกับการหวนกลับไปจำกัดการค้าเสรีกันอีก ทั้งๆ ที่ได้ผลักดันให้ทั่วโลกยอมเลิกใช้มาตรการกีดกันการค้ากันมาหยกๆ

แต่ไม่ว่าในที่สุดแล้วยูโรเท็กซ์จะล็อบบี้ได้สำเร็จหรือไม่ ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า บริษัทของยุโรปเองจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างต่อไปเพื่อให้อยู่รอดในโลกสิ่งทอซึ่งกำลังเป็นโลกใหม่ที่ต่างจากเดิม เห็นกันอยู่ว่าพวกเขาจะต้องเน้นย้ำในเรื่องคุณภาพและการริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความได้เปรียบที่พวกเขายังมีอยู่เต็มล้น ในเวลาแข่งขันกับจีน

ความจำเป็นที่จะต้องเน้นที่ความริเริ่มสร้างสรรค์ และความเป็นเลิศ ก็ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งแห่งความอยู่รอดของบรรดาแฟชั่นเฮาส์ชั้นสูงในยุโรปเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.