|

วิบัติศก.ก่อตัวเงียบเชียบยามดอลลาร์ท่วมโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นโยบายของธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) ดูเสมือนจะชัดเจน ว่ามุ่งจะเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการทางการเงิน วันเวลาผ่านไปยังไม่ครบ 7 เดือนเต็ม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1.50% และทำให้ดอกเบี้ยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจอเมริกาพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.50%แล้ว
กระนั้นก็ตาม อย่าให้ภาพลักษณ์เข้มข้นอย่างนี้ พาให้เห็นไปว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของโลกดูดีดูปลอดภัย เพราะเมื่อหักลบกับอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวบริเวณ 3.3%แล้ว ย่อมต้องบอกว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของสหรัฐฯยังต่ำกว่าศูนย์ และต่อให้นักวิเคราะห์เก็งไม่ผิดพลาดว่าดอกเบี้ยจะไต่ไปจนถึงระดับ 3.5%ราวปลายปี 2005 นั่นก็ยังต้องถือว่าดอกเบี้ยแท้จริงของสหรัฐฯปักหลักในพื้นที่อันย่อหย่อนผ่อนปรนสุดสุดแล้ว
ใช่แต่เรื่องดอกเบี้ยเท่านั้น ปัจจัยอื่นๆ ทางการเงินก็ล้วนแต่ย่อหย่อนไปทั่วหน้า อาทิ เงินดอลลาร์อ่อนค่าจัดมาก ในเวลาเดียวกัน อัตราผลตอบแทน(ยีลด์)ของตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ราคาหุ้นไต่ขึ้นสูงและให้ความรู้สึกว่าผลกำไรจากตลาดหุ้นสามารถชดเชยกับดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นไปได้เหลือเฟือ
รูปธรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นการที่ผู้คนจมอยู่ในภาวะหนี้สินสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาบ้านราคาสินทรัพย์ทะยาน และความร้อนรุ่มที่จะเก็งกำไรแบบเสี่ยงสูงก็แผ่ลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเก็งกำไรในตลาดบ้านที่อยู่อาศัย
ยิ่งกว่านั้น ทางการสหรัฐฯยังมีแนวโน้มว่าจะปล่อยปละให้งบประมาณในปีงบประมาณใหม่ ทรงอยู่ในภาวะขาดดุลรุนแรงไม่เปลี่ยนแปรจากเดิม ด้านปัญหาขาดดุลการค้าก็ย่ำแย่รุนแรงไม่กระเตื้อง ทั้งที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนจัดลงมา 35%จากเมื่อต้นปี 2002 เรียกได้ว่าทางแก้ไขที่เป็นจริงได้สำหรับสหรัฐฯในเวลานี้หนีไม่พ้นที่จะต้องเอาจริงกับการเข้มงวดมากๆ ในมาตรการการเงินและการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการดันดอกเบี้ยกลับขึ้นให้สูงสมจริง อีกทั้งการหั่นงบประมาณเป็นกอบเป็นกำ เพื่อระดมให้ผู้คนมีวินัยทางการเงิน ลดการจับจ่าย และหันกลับมาออม กระนั้นก็ตาม วิธีแก้ไขเยียวยาจริงๆ จังๆ อย่างนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่คนอเมริกันจะยอมรับได้
เรื่องที่น่ากลัวมากขึ้นไปอีกนั้นมีอยู่ว่า ขณะที่สหรัฐฯดูดายให้มาตรการทางการเงินของตัวย่อหย่อนและสุดแสนจะผ่อนปรน สหรัฐฯกำลังผลักดันให้สภาพการณ์ทำนองนี้ปรากฏลามไปทั่วโลกด้วย ในประการแรกเลย การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่ารุนแรง ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกสมาชิกยูโรโซน ซึ่งล้วนแต่ไม่พึงใจให้ค่าเงินของพวกตัวแพงขึ้นมาจนกระทบกับภาคส่งออก จึงไม่สามารถเข้าไปปรับเพิ่มดอกเบี้ยภายในของพวกตน แต่ในเวลาเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศเหล่านี้มิได้อ่อนเชื่องซบเซาเหมือนกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ว่าราคาบ้านที่อยู่อาศัยในประเทศอย่างฝรั่งเศสและสเปน พากันเฟ้อเบ่งบาน
ในเวลาเดียวกัน ประเทศซึ่งพึ่งพิงมากกับภาคส่งออก ยิ่งต้องเร่งแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อประคองอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมิให้เป็นภาระต่อภาคส่งออกมากนัก เมื่อทวีการแทรกแซงค่าเงิน ทางการประเทศเหล่านี้ยิ่งมีเม็ดเงินดอลลาร์ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากเป็นทวีคูณ และจึงยิ่งเร่งถ่ายเทเม็ดเงินดอลลาร์ไปหาผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ในเวลาเดียวกัน นั่นคือการอัดฉีดส่งเสริมให้ทางการสหรัฐฯเพลิดเพลินไม่เลิกรากับการปล่อยปละให้งบประมาณติดลบ
รูปการณ์ดังกล่าวนอกจากจะสนับสนุนวินัยอันย่อหย่อนผ่อนปรนในนโยบายการคลังของสหรัฐฯให้โลดลิ่ว ยังเป็นการสาดซัดสภาพคล่องจากนานาประเทศทั่วโลกไปท่วมระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พร้อมกับกดดันยีลด์ของตราสารหนี้ และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดต่ำลงสำหรับนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสำหรับบริษัทธุรกิจที่ระดมสภาพคล่องจากตลาดตราสารหนี้ เท่าที่ผ่านมา มีประมาณการออกมาจากหลายสำนักว่า การที่รัฐบาลของชาติย่านเอเชียระดมซื้อพันธบัตรอเมริกัน ยีลด์ของตราสารหนี้ทรุดลงแล้วประมาณ 0.5%-1.0%
ผลกระทบต่อตลาดซื้อขายบ้านที่อยู่อาศัยเป็นด้านที่ยอกย้อนเป็นพิเศษ ถ้าเป็นสภาพการณ์ในอดีตการที่สภาพคล่องเงินดอลลาร์ถูกสาดกลับเข้าสหรัฐฯ ราคาสินค้าและบริการมักจะทะยานขึ้นเป็นปัญหาเงินเฟ้อ แต่ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมกับเร่งการแข่งขันในหมู่ผู้ขาย ผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการจึงไม่ปรากฏ และในเวลาเดียวกัน เม็ดเงินแห่ไปกระจุกอยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลเป็นภาวะฟองสบู่ ราคาบ้านเฟ้อ ขณะที่อุปสงค์ก็มีมากกว่าอุปทานจริงแต่ตลาดทรงอาการไปได้ด้วยแรงซื้อเพื่อการเก็งกำไร
นับเป็นภาวะฟองสบู่ที่อยู่กับความเสี่ยงสูง แต่ไม่มีผู้ที่ร้อนใจจะก้าวออกมาแก้ปัญหา ทั้งนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในเฟดบอกว่า หน้าที่ของเฟดไม่ใช่การแก้ปัญหาราคาสินทรัพย์พุ่งแพง แม้ในความเป็นจริงแล้ว ความเฟ้อในด้านราคาสินทรัพย์ก็คือรูปแบบหนึ่งของปัญหาเงินเฟ้อ ความเปราะบางในความสุ่มเสี่ยงตรงนี้มิใช่แค่เรื่องความเฟ้อ หรือแค่ปัญหาฟองสบู่ในตลาดสินเชื่อซึ่งมักลงท้ายเป็นภาวะฟองสบู่แตก ผู้คนล้มเหลวกับการบริหารหนี้ แต่ยังเป็นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรผิดที่ผิดทางด้วย กล่าวคือ เมื่อครัวเรือนคิดว่าพวกตัวมีเงินส่วนเกินล้นเหลือ การจับจ่ายใช้สอยเกินจำเป็นก็พุ่งสูง หมดแรงจูงใจที่จะเก็บออม ลงท้ายแล้วมักหนีไม่พ้นว่าจะต้องไปชดใช้จ่ายคืนด้วยชีวิตยากเข็ญในอนาคต
ปัญหาทวีความซับซ้อนเข้าไปอีก เมื่อเฟดไม่ร้อนใจจะแก้ปัญหาภาวะเฟ้อในราคาสินทรัพย์ แต่ครั้นเกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหลักทรัพย์ เฟดยิ่งอีดฉีดสภาพคล่องเข้าไปประคองสถานการณ์มากขึ้น
ความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญมีอยู่ว่า ขณะที่ดอกเบี้ยขยับสูงขึ้น ผู้คนจะเห็นชัดขึ้นมาว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดูว่ามากมายนั้น แท้จริงแล้วดำรงอยู่ในสภาวะอันเปราะบางอย่างที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|